กุ้งฝอย เป็นกุ้งขนาดเล็กที่พบทั่วไปในแหล่งน้ำจืด ซึ่งนิยมนำมาประกอบอาหาร ทั้ง น้ำพริกกุ้ง และก้อยกุ้ง รวมถึงแปรรูปเป็นกะปิ และกุ้งแห้งเป็นต้น
กุ้งฝอยที่วางขายในท้องตลาดส่วนใหญ่จะจับได้ตามแหล่งน้ำธรรมชาติ ซึ่งไม่เพียงพอกับความต้องในปัจจุบัน ทำให้ราคากุ้งฝอยพุ่งสูงกว่ากิโลกรัมละ 150-300 บาท เลยทีเดียว
ชื่อสามัญ : Lanchester’s Freshwater Prawn
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Macrobrachium lanchesteri de Man
ชื่อท้องถิ่น : กุ้งฝอย
อนุกรมวิธาน
• Phylum : Arthopoda
• Class : Crustacea
• Sub class : Malacostraca
• Order : Decapoda
• Sub order : Natanita
• Family : Paleamonidae
• Genus : Macrobrachium
• Species : Lanchesteri
ลักษณะทั่วไป
เปลือกคลุมหัวค่อนข้างบาง มีหนามแหลมยื่น 2 อัน หัวประกอบด้วยกรีด้านบนที่มีฟันหยัก 4-7 ซี่ และกรีด้านล่างที่มีฟันหยัก 1-2 ซี่ ส่วนตามี 2 ข้าง มีก้านตาติดกับกรี ลำตัวมีลักษณะเป็นปล้อง 6 ปล้อง เปลือกหุ้มลำตัวมีลักษณะใสมองเห็นเนื้อด้านในลำตัวยาวได้มากถึง 6 ซม.
ขาเดินมีทั้งหมด 5 คู่ คู่ที่ 1 และคู่ที่ 2 เปลี่ยนเป็นกล้ามหนีบ กล้ามหนีบของขาคู่ที่ 2 มีขนาดใหญ่ และยาวกว่ากล้ามหนีบคู่ที่ 1 คู่ที่ 3,4 และ5 ใช้เป็นขาเดิน แต่ละขามีปล้อง 7 ปล้อง และปล้องส่วนปลายมีลักษณะเรียวแหลม และมีความยาวใกล้เคียงกัน ถัดมาเป็นขาว่ายน้ำ มีทั้งหมด 5 คู่ อยู่บริเวณใต้ลำตัวที่แต่ละปล้องมีขาว่ายน้ำ 1 คู่ แยกออกเป็น 2 แผ่น
การดำรงชีพ
แหล่งอาศัย
กุ้งฝอยพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำไหล เช่น แม่น้ำ ลำห้วย และพบได้ในแหล่งน้ำนิ่ง เช่น บ่อน้ำ อ่างเก็บน้ำ บึง เป็นต้น พบอาศัยมากบริเวณน้ำตื้นใกล้ริมตลิ่ง ความลึกประมาณ 0.5-1 เมตร โดยในเวลากลางวันจะว่ายน้ำลงลึกหรือหลบซ่อนตัวใต้ก้อนหินใต้น้ำ หรือใต้พืชน้ำ ส่วนเวลากลางคืนจะว่ายขึ้นมาอาหารบริเวณริมตลิ่ง และโดยธรรมชาติจะชอบหลบอาศัยบริเวณที่มีแหล่งพืชน้ำบริเวณน้ำตื้น
เพศกุ้งฝอย
กุ้งฝอยฝอยตัวเต็มวัยจะสามารถแยกเพศได้ง่าย โดยกุ้งฝอยเพศเมียจะมีส่วนอวัยวะเพศใต้ท้องมีสีเขียว ส่วนกุ้งฝอยเพศผู้ เปลือกที่หัวจะมีสีขุ่นออกเหลือง และเพศผู้จะมีติ่งยื่นออกมาจากขาว่ายน้ำคู่ที่ 2 ส่วนขนาดลำตัวจะพบเพศเมียมีขนาดใหญ่กว่าเพศผู้
อาหาร และการหาอาหาร
อาหารสำคัญของกุ้งฝอย ได้แก่ ไดอะตอม และตัวอ่อนของแมลงในน้ำ รวมถึงซากพืชซากสัตว์ที่เน่าเปื่อย โดยจะชอบออกหาอาหารในช่วงกลางคืนเป็นหลัก
การวางไข่ และเจริญเติบโต
กุ้งฝอยจะผสมพันธุ์ตลอดทั้งปี โดยแม่กุ้งฝอย 1 ตัว จะออกไข่ประมาณ 60-80 ฟอง เมื่อกุ้งฝอยวางไข่ ไข่กุ้งฝอยจะใช้เวลาในการฟักประมาณ 18-20 หลังวางไข่ และตัวอ่อนกุ้งฝอยจะใช้เวลาในพัฒนาอวัยวะให้เหมือนกุ้งฝอยตัวเต็มวัยประมาณ 30-35 หลังฟักออกจากไข่ และมีการลอกคราบเป็นระยะตลอดระยะการเติบโต โดยจะลอกคราบครั้งแรกเมื่อมีอายุ 2 วัน
ประโยชน์ของกุ้งฝอย
1. กุ้งฝอยนำมาทำก้อยกุ้งทั้งสุก และดิบ แต่แนะนำทำสุกจะปลอดภัยกว่า แต่บางท่านนิยมรับประทานก้อยกุ้งดิบ เพราะให้รสอร่อยของเนื้อกุ้งดิบ
2. กุ้งฝอยนำมาประกอบอาหารอื่นๆ เช่น กุ้งฝอยชุบแป้งทอด น้ำพริกกุ้งฝอย เป็นต้น
3. กุ้งฝอยนำมาแปรรูปเป็นกุ้งแห้งใช้สำหรับใส่ส้มตำ
4. บ่อสูง 0.7 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร
คุณค่าทางโภชนาการของกุ้งฝอย
พลังงาน 78 แคลอรี่
โปรตีน 15.8 กรัม
คาร์โบไฮเดรต 1.0 กรัม
ไขมัน 1.2 กรัม
แคลเซียม 9.2 กรัม
ฟอสฟอรัส 2.69 กรัม
เหล็ก 0.08 กรัม
ความชื้น 78.7 กรัม
การเลี้ยงกุ้งฝอย
การเลี้ยงกุ้งฝอยในปัจจุบันมี 3 ลักษณะ คือ
1. การเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
การเลี้ยงกุ้งในบ่อซีเมนต์ เหมาะสำหรับผู้ที่มีพื้นที่น้อย ด้วยการสร้างบ่อก่ออิฐในขนาดต่างๆตามความเหมาะสมของพื้นที่ เช่น บ่อสูง 0.7 เมตร กว้าง 4 เมตร ยาว 4 เมตร หรือ บ่อสูง 1 เมตร กว้าง 2 เมตร ยาว 5-10 เมตร เป็นต้น อัตราการปล่อยแม่กุ้งฝอยที่มีไข่ที่ 50 ตัว/น้ำ 200 ลิตร เมื่อแม่กุ้งเขี่ยไข่ออกแล้วให้รีบจับแม่กุ้งออกทันที เพราะแม่กุ้งจะกินตัวอ่อนของตัวเอง หรืออาจใช้วิธีปล่อยพ่อ-แม่พันธุ์ลงเลี้ยงร่วมกัน อัตราการปล่อยที่ เพศผู้ 1 ส่วน เพศเมีย 2 ส่วน
นอกจาก การใช้บ่อซีเมนต์แบบก่ออิฐแล้ว ปัจจุบัน ยังนิยมใช้บ่อซีเมนต์ทรงกลมสำเร็จรูปสำหรับใช้เลี้ยง ซึ่งวิธีนี้จะประหยัดต้นทุนมาก และง่ายในการรื้อถอนหรือเคลื่อนย้าย
การจัดการในบ่อซีเมนต์ หากเป็นบ่อก่อใหม่หรือซื้อมาใหม่ ให้ใส่น้ำขังไว้ประมาณ 1-2 อาทิตย์ แล้วถ่ายออกเพื่อลดความเป็นด่างจากปูน
หลังการปล่อยกุ้ง ควรนำพืชน้ำ เช่น จอก หรือ ผักตบชวา ใส่ในบ่อพอประมาณ เพื่อเป็นที่หลบแดดให้แก่กุ้ง และควรมีการถ่ายเทน้ำเป็นระยะ
อาหารของกุ้งวัยอ่อนอายุ 1-20 วัน หากเป็นอาหารที่ให้จะใช้ไข่แดงต้มบดผ่านผ้าขาว และไรแดง ร่วมกับการสร้างอาหารให้เกิดเองตามธรรมชาติ ด้วยการหว่านปุ๋ยคอก เช่น มูลโค หรือ มูลไก่ อัตรา 1 กำมือ/น้ำ 200 ลิตร ซึ่งจะทำให้เกิดแพลงก์ตอนพืชขึ้นมา ส่วนอาหารสำหรับกุ้งช่วงวัยรุ่น-ตัวเต็มวัยจะเริ่มให้ตั้งแต่หลังอายุ 20 วัน โดยให้พวกเนื้อปลาสับ และรำละเอียด ร่วมด้วยกับอาหารเม็ดสำเร็จรูป
2. การเลี้ยงกุ้งฝอยในกระชัง
การเลี้ยงกุ้งฝอยในกระชัง มักใช้เลี้ยงในบ่อดินที่เลี้ยงปลาต่างๆ เพราะจะเป็นรายได้เสริมจากการเลี้ยงปลา โดยใช้กระชังแบบอยู่กับที่ที่มีผ้าเขียวกั้น อัตราการปล่อยเพศผู้ต่อเพศเมียที่ 1:2
การให้อาหาร จะให้แบบเดียวกับการเลี้ยงกุ้งในบ่อซีเมนต์ ดังที่กล่าวข้างต้น
3. การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อดิน
การเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อดิน มักเลี้ยงในบ่อขนาดเล็ก เนื่องจากบ่อขนาดใหญ่ เกษตรกรมักใช้เลี้ยงปลาจะมีรายได้มากกว่า ขนาดบ่อทั่วไปมักไม่เกิน 400 ตารางเมตร (20×20 เมตร) บ่อลึก 0.8-1 เมตร
ก่อนปล่อยกุ้งจำเป็นต้องสูบน้ำ และจับปลาทุกชนิดออกให้หมดก่อน โดยเฉพาะปลากินเนื้อต่างๆ เช่น ปลาช่อน ปลาดุก ปลาหมอ เป็นต้น หลังจากนั้น ปล่อยน้ำเข้าบ่อให้สูงประมาณ 30 ซม. พร้อมหว่านด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 30-50 กิโลกรัม/บ่อ ปล่อยทิ้งไว้ประมาณ 1 อาทิตย์ จนน้ำเริ่มเขียว จากนั้น ค่อยปล่อยน้ำเข้าเต็มบ่อ
อัตราการปล่อยกุ้งที่ 2-4 กิโลกรัม/บ่อ หลังจากการปล่อย ให้หาพืชน้ำใส่บริเวณริมตลิ่งเล็กน้อยเพื่อสำหรับให้กุ้งหลบอาศัย
ส่วนการให้อาหาร จะให้แบบเดียวกับการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์
การจับกุ้งฝอย
กุ้งฝอยจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 3-4 เดือน ก็สามารถจับจำหน่ายได้ ซึ่งจะมีขนาดลำตัวยาวประมาณ 3-4 ซม.
ทั้งนี้ มีการศึกษาทดลองเลี้ยงกุ้งฝอยในบ่อดิน ขนาด 400 ตารางเมตร เป็นระยะเวลา 3 เดือน ด้วยการให้อาหารปลาป่น และรำละเอียด อัตรา 1:5 สามารถจับกุ้งฝอยได้น้ำหนักกว่า 9.4 กิโลกรัม/บ่อ
การจับกุ้งฝอยตามธรรมชาติ
กุ้งฝอยตามท้องตลาดมีทั้งกุ้งฝอยเลี้ยง และกุ้งฝอยจากธรรมชาติ ซึ่งแยกกันได้ยาก เพราะมีลักษณะสีของลำตัวใกล้เคียงกัน
สำหรับการจับกุ้งฝอยตามธรรมชาติมีวิธีที่นิยมใช้ 2 แบบ คือ
1. การใช้ไซกุ้ง
ไซกุ้ง เป็นอุปกรณ์ดักจับกุ้งโดยเฉพาะ ซึ่งอาจทำจากการสานไม้ไผ่หรือขวดพลาสติก โดยมีลิ้นเป็นช่องให้กุ้งเข้าไปด้านในได้ แต่ลิ้นนี้จะดักกุ้งไม่ให้ออกมาได้ ส่วนด้านในจะใส่อาหารปลาสำเร็จรูปเป็นเหยื่อล่อ ซึ่งวิธีนี้ จะดักได้เฉพาะกุ้งอย่างเดียว และเป็นกุ้งที่มีขนาดตัวเต็มวัยแล้ว ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการคัดแยกกุ้ง
2. การใช้ผ้าซอนกุ้ง
ผ้าซอนกุ้ง เป็นอุปกรณ์จับกุ้งหรือปลาขนาดเล็ก มีลักษณะเป็นผ้าตาข่ายคล้ายมุ้งนอน แต่มีรูใหญ่กว่ามุ้งเล็กน้อย ผ้านี้มีลักษณะเป็นสีเหลี่ยม โดยตรงจะเป็นถุงยื่นออกมาเล็กน้อย
การซอนกุ้งจะใช้ผ้าซอนตามริมตลิ่งเท่านั้น เพราะลงลึกไม่ได้ ด้วยการใช้ 2 คน จับผ้าขึงที่รัดกับไม้ในแต่ละข้างให้ตึง ก่อนจะเดินลากตามขอบตลิ่ง โดยให้ชายผ้าด้านล่างไถไปกับผิวดิน
วิธีนี้ เป็นวิธีที่นิยมมากที่สุด นิยมใช้เก็บกุ้งตามบ่อเลี้ยงปลา บ่อเลี้ยงกุ้ง หรือ บ่อตามธรรมชาติ ซึ่งวิธีนี้มักจะมีปลาขนาดเล็ก หอย หรือลูกกุ้งติดมาด้วย รวมถึงวัสดุที่อยู่ในน้ำ ซึ่งต้องมาคัดแยกกุ้งออกอีกครั้งหนึ่ง