กิ้งก่า หรือ กะปอม จัดเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ชนิดหนึ่ง ที่มีการจับนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะคนชนบทในภาคอีสาน และภาคเหนือบางท้องถิ่น ซึ่งเป็นอาหารพื้นบ้านที่นิยมรับประทานกันมากเหมือนกับแย้ ได้แก่ ปิ้ง ย่าง แกงคั่ว ทอด ทำน้ำพริก เป็นต้น
กิ้งก่า ในบางพื้นที่จัดเป็นสัตว์เศษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ชาวชนบทเลยทีเดียว โดยเฉพาะในฤดูแล้งหลังเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จจนถึงต้นฤดูฝนที่นิยมจับมาประกอบอาหาร และจำหน่ายกันมากในตลาดสด ราคาจำหน่ายตัวใหญ่เต็มวัย 3-5 ตัว ราคาประมาณ 20-40 บาท ขึ้นอยู่กับขนาด
ประโยชน์ของกิ้งก่า
1. ใช้ประกอบอาหารได้หลายชนิด อาทิ ปิ้ง ทอด คั่ว และทำน้ำพริก
2. เป็นสัตว์ผู้ล่า คอยจับกินแมลงต่างช่วยสร้างสมดุลในระบบนิเวศ และช่วยกำจัดแมลงศัตรูพืชในแปลงเกษตรได้เป็นอย่างดี
อนุกรมวิธาน
Kingdom : Animalia
Phylum : Chordata
Class : Reptilia
Order : Squamata
Suborder : Sauria (Lacertilia)
Infraorder : Iguania
Family : Agamidae
Genus : Calotes
Genus : Acanthosaura
Spicies : Calotes versicolor
Spicies : Calotes mystaceus
ลักษณะทั่วไป
ลำตัวมีเกล็ดปกคลุม เป็นเกล็ดที่เกิดจากหนังกำพร้า (epidermis) และอาจมีแผ่นกระดูกจากผิวหนังชั้นหนังแท้ (dermis) มาร่วมด้วย ผิวหนังมีต่อมน้อยมาก ผิวหนังหยาบ หนา และแห้ง ช่วยในการป้องกันการระเหยของน้ำและป้องกันอันตราย ผิวหนังประกอบด้วยหนังกำพร้าที่บาง แต่มีหนังแท้หนา ที่หนังแท้มีเซลล์เม็ดสีทำให้ผิวหนังมีสีต่างๆ เกล็ดส่วนใหญ่เกิดจากหนังกำพร้า มีเกล็ดถาวรตลอดชีวิต และจะสร้างเกล็ดใหม่ใต้เกล็ดเดิม ทำให้เกล็ดเดิมแตกแยกออกหรือแตกเป็นชิ้นเล็ก สีเกล็ดมีหลากหลายสีขึ้นอยู่กับชนิด อาทิ สีน้ำตาล สีเทา สีดำ สีน้ำเงิน สีเหลือง เป็นต้น และมักมีหลายสีผสมกันบนลำตัว
กิ้งก่าจะเข้านอนตามกิ่งไม้ที่ยื่นออกด้านนอกลำต้นในช่วงเย็นก่อนตะวันตกดิน หากมีลมแรงมักหลบเข้านอนตามกิ่งไม้ด้านในของพุ่มไม้ กิ้งก่าจะออกออกผิงแดดยามเช้า เกาะตามลำต้นไม้ กิ่งไม้ และหากินในเวลากลางวันตามพุ่มไม้ที่เป็นร่ม อาหารของกิ้งก่า ได้แก่ มดชนิดต่างๆ แมลง ด้วง ผีเสื้อ เป็นต้น
การสืบพันธุ์ และวางไข่ กิ้งก่าจะผสมพันธุ์ และสร้างไข่ในช่วงฤดูแล้งประมาณช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธุ์ และจะวางไข่ประมาณเดือนเมษายน-พฤษภาคม
พันธุ์กิ้งก่าเด่นที่พบมากในไทย
1. กิ้งก่าคอแดง
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotes versicolor Daudin
ชื่อสามัญ Changeable Lizard, Red-headed Lizard, Indian Garden Lizard
ชื่ออื่น : กิ้งก่ารั้ว, กะปอม, กิ้งก่าหัวแดง (กลาง), กะปอม, ปอมคอแดง (อีสาน)
ลักษณะทั่วไป
หัว และลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ด สีเกล็ดมีหลากหลายสีขึ้นอยู่กับชนิด อาทิ สีน้ำตาล สีเทา สีดำ สีเหลือง แต่จะไม่มีสีน้ำเงิน มักมีหลายสีผสมกันบนลำตัว สันเกล็ดบริเวณหัวมีขนาดเท่ากัน เกล็ดข้างตัวเป็นเกล็ดสันชี้มาด้านหลังในลักษณะเฉียงขึ้นไปด้านบน หัวสีน้ำตาลแดง มีหนามบริเวณคอในตำแหน่งเหนือหู 2 หนาม หนามบนคอและแนวสันหลังต่อเนื่องกัน ตามีแถบน้ำตาลดำจางๆพาดออกมารอบตาในแนวรัศมี โคนหางเพศผู้มีลักษณะโป่งพอง หนา ส่วนเพศเมียเรียวยาว หางมีแถบสีขาวสลับกับเขียว ท้องสีขาวหรือขาวปนเหลือง บางตัวมีจุดเล็กกระจายทั่วไป ตัวอ่อนมีเส้นสีน้ำตาลพาดตามความยาวลำตัว 2 เส้นที่ด้านหลัง นอกเหนือจากขนาดลำตัวที่เล็ก
การดำรงชีพ
ออกหากินในเวลากลางวัน ตามพื้นดิน กินแมลงเป็นอาหาร กลางคืนจะเกาะกิ่งไม้เล็ก ๆ นอน การเกาะนอนพบทั้งนอนโดยเกาะกิ่งไม้โดยหันหัวขึ้นข้างบน และหันหางลงด้านล่างซึ่งจะพบการเกาะนอนแบบนี้มากในพื้นที่ทุ่งหญ้า ช่วงฤดูฝนจะพบตัวอ่อนจำนวนมาก ส่วนช่วงฤดูหนาวและฤดูแล้งจะพบตัวเต็มวัยมาก พบในพื้นที่ทุ่งหญ้า และป่าเต็งรัง
กิ้งก่าคอแดง เป็นกิ้งก่าที่เชื่อง มีความระวังภัยน้อย สามารถเข้าใกล้ได้ง่าย แต่เข้าใกล้เพียงระยะหนึ่งเท่านั้น หากเข้าใกล้ในระยะ 1-2 เมตร ก็มักจะวิ่งหนี แต่หากเป่าปากดังวีดๆเป็นจังหวะ ก็มักจะพงกหัวตอบรับ และสามารถเข้าใกล้ได้มากขึ้น
กิ้งก่าคอแดง มักไข่ไว้ตามโคนต้นไม้หรือกอหญ้าที่เป็นดินทราย ด้วยการขุดหลุมตื้นๆ และฝังไข่ไว้ จำนวนไข่แต่ละครั้งประมาณ 5-10 ฟอง มีอัตราการฟักสูง เมื่อฟักแล้วมักพบลูกกิ้งก่าคอแดงเกาะตามกอหญ้าหรือต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งจะหากินมดขนาดเล็กเป็นอาหาร
สถานภาพ : ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
2. กิ้งก่าสีน้ำเงิน
ชื่อวิทยาศาสตร์ Calotes mystaceus Dumeril and Bibron
ชื่อสามัญ Blue Crested Lizard, Moustached Lizard, Garden Blue Lizard
ชื่ออื่น : กิ้งก่าสวน, กะปอม, กิ้งก่าหัวน้ำเงิน (กลาง), กะปอม, ปอมท่าง, ขี้กะท่าง (อีสาน)
ลักษณะทั่วไป
มีขนาดใหญ่กว่ากิ้งก่าคอแดง ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดขนาดใหญ่กว่ากิ้งก่าคอแดง เกล็ดสันชี้ไปทางด้านหลังในลักษณะเฉียงขึ้นด้านบน เกล็ดมีสีน้ำเงิน สีน้ำตาลปนเทา และมีเกล็ดสีขาวบริเวณหาง และใต้ตา มีจุดขนาดใหญ่สีน้ำตาลแดงที่สีข้าง ข้างละ 3 จุด ริมฝีปากบนมีแถบสีซีดขาวพาดตามยาวถึงตอนท้ายของเยื่อหู และไหล่ เหนือเยื่อหูมีหนาม 2 อัน หรือมากกว่า เกล็ดลำตัวเป็นเกล็ดสันมีขนาดใหญ่กว่าเกล็ดท้อง คางเหนียง และคอสีน้ำเงิน
การดำรงชีพ
กิ้งก่าสีน้ำเงินหากินในเวลากลางวันตามต้นไม้ โดยกินแมลงเป็นอาหาร กลางคืนจะเกาะนอนตามกิ่งไม้ขนาดใหญ่ ไม่เหมือนกิ้งก่าคอแดงที่พบนอนตามต้นไม้ขนาดเล็กหรือตามกิ่งไม้ของพุ่มไม้โปร่ง โดยกิ้งก่าสีน้ำเงินพบได้ตามต้นไม้ตามบ้านเรือน ต้นไม้ข้างถนน และตามป่าต่างๆ มีนิสัยที่ตื่นตัว และระวังภัยเป็นพิเศษ เข้าไกล้ได้ยาก ไม่เชื่องเหมือนกิ้งก่าคอแดง เมื่อมีภัยมักวิ่งขึ้นที่สูงบนปลายต้นไม้ และสามารถเปลี่ยนสีให้คล้ายกับสภาพแวดล้อมได้
ไข่กิ้งก่าน้ำเงินมีขนาดใหญ่กว่ากิ้งก่าคอแดง จำนวนไข่ 3-5 ฟองตัว และมีความต้านทานโรคได้ไม่สู้กิ้งก่าคอแดง จึงทำให้กิ้งก่าน้ำเงินพบน้อยกว่ากิ้งก่าคอแดง
สถานภาพ : ถูกจัดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535
การจับกิ้งก่า แบ่งเป็นวิธีต่างๆ ได้แก่
1. การส่องไฟจับกลางคืน
การส่องไฟจับ ถือเป็นวิธีจับกิ้งก่าที่ได้ผลดีมาก เพราะกิ้งก่าในตอนกลางคืนจะมองไม่เห็นรอบข้าง สามารถเอื้อมมือจับได้ง่าย สำหรัการส่องนั้น มักออกส่องตามกิ่งไม้หรือต้นไม้ขนาดเล็ก ซึ่งจะพบชนิดกิ้งก่าที่แตกต่างกันตามที่กล่าวข้างต้น หากพบกิ่งก่าจับที่สูงมักจะใช้ไม้ฟาดหรือเคาะเบาๆ เพื่อให้กิ้งก่าร่วงลงพื้นก่อน
2. การใช้บ่วงเชือกค้อง
วิธีนี้เป็นที่นิยมมากที่สุด เพราะจับได้ง่าย แต่จะใช้ได้ผลเฉพาะกิ้งก่าคอแดงเท่านั้น เพราะเชื่องที่สุด โดยบ่วงค้องจะทำจากไม้ไผ่ขนาดเล็ก แต่เป็นลำไม้ไผ่ยาว 2-3 เมตร ปลายไม้ไผ่เล็ก ซึ่งไว้สำหรับผูกเชือกไนล่อนเส้นเล็กๆ ที่มัดเป็นบ่วงหรือวงสำหรับรัดกระตุกได้ โดยขณะเข้าค้องมักเป่าปากเพื่อให้กิ้งก่าเกิดความคุ้นเคย ไม่กลัวบ่วงค้อง ก่อนจะค่อยๆยื่นบ่วงค้องเข้าสวมทางด้านหัว และให้บ่วงเลยมาอยู่บริเวณคอกิ้งก่า ก่อนจะกระตุกไม้ค้องให้เชือกรัดคอกิ้งก่าไว้
3. การใช้หนังสติ๊กหรือเครื่องยิงอัดลม
การใช้หนังสติ๊กเป็นวิธีจับแบบดั้งเดิม ซึ่งทุกวันนี้ไม่ค่อยพบแล้ว แต่ถูกพัฒนามาเป็นใช้ปืนอัดลมแทน ซึ่งวิธีนี้สามารถจับได้ง่าย และจับกิ้่งก่าได้ทุกชนิด ถึงแม้จะวิ่งหนีหรือขึ้นต้นไม้สูงเพียงใด แต่มีข้อเสีย คือ หากชำรุดระหว่างจับแล้วก็ต้องเลิกจับ เพราะเสียเวลาการซ่อมนาน และเป็นอันตรายมากหากไม่ระวัง และถือเป็นสิ่งผิดกฎหมายที่ตำรวจสามารถยึดจับได้เมื่อพบเห็น