การเลี้ยงปลา

20692

การเลี้ยงปลา ถือเป็นอาชีพที่สำคัญไม่แพ้อาชีพการปลูกปลูกพืชต่างๆ โดยเฉพาะเกษตรกรที่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำลำคลองหรือพื้นที่ที่น้ำชลประทานเข้าถึง รวมถึงพื้นที่นาต่างๆ ที่มีบ่อกักเก็บน้ำตามฤดูกาล ซึ่งสามารถสร้างรายได้อย่างมากต่อปี นอกจากนั้น การเลี้ยงปลาถือเป็นการสร้างแหล่งอาหารสำหรับการบริโภคในแต่ละวันที่นอกเหนือจากการนำไปจำหน่าย

การเลี้ยงปลา หมายถึง การทำให้ปลามีการเจริญเติบโต และเพิ่มขนาดน้ำหนักให้ได้ตามเป้าหมาย ด้วยการให้อาหาร และการดูแล นอกเหนือจากการปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ

การเพาะพันธุ์ปลา หมายถึง การขยายพันธุ์ และเพิ่มจำนวนของปลาให้มีปริมาณมากขึ้น ด้วยการจัดการการผสมพันธุ์ของไข่ และการอนุบาลให้ลูกปลาสามารถเติบโตได้

การเลี้ยงปลา

รูปแบบการเลี้ยงปลา จำแนกได้หลายลักษณะ ได้แก่
การเลี้ยงปลาตามลักษณะการจัดการ แบ่งเป็น
1. การเลี้ยงปลาชนิดเดียว หมายถึง การเลี้ยงปลาเพียงชนิดเดียวในหนึ่งบ่อ เช่น บ่อที่ 1 เลี้ยงปลานิล บ่อที่2 เลี้ยงปลาดุก เป็นต้น

2. การเลี้ยงปลาแบบรวม หมายถึง การเลี้ยงปลาตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปในหนึ่งบ่อ การเลี้ยงในลักษณะนี้จะใช้ฌฉพาะกับปลากินพืชเท่านั้น เพราะจะไม่มีปัญหาในเรื่องปลากินกันเอง เช่น การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาตะเพียน แต่บางครั้ง อาจเลี้ยงปลากินพืชรวมกับปลากินเนื้อ โดยใช้ปลากินเนื้อมีปริมาณน้อยกว่าปลากินพืช เพื่อควบคุมปริมาณปลากินพืชที่อาจมากเกินไป เช่น การเลี้ยงปลานิลร่วมกับปลาช่อน

3. การเลี้ยงปลาแบบผสมผสาน หมายถึง การเลี้ยงปลาควบคู่กับการทำเกษตรกรอื่นๆ เช่น การเลี้ยงปลาตะเพียนในนาข้าว การเลี้ยงปลาใต้เล้าสุกรหรือไก่ เป็นต้น

การเลี้ยงปลาตามลักษณะการให้อาหาร ได้แก่
1. การเลี้ยงแบบธรรมชาติ หมายถึง การเลี้ยงปลาโดยไม่ต้องให้อาหาร โดยจะปล่อยเลี้ยงปลาให้หากินอาหารตามธรรมชาติ เช่น การเลี้ยงปลาในนาข้าว การเลี้ยงปลาในบ่อดินที่ไม่มีการให้อาหาร ซึ่งการเลี้ยงแบบนี้ จะไม่สามารถควบคุมผลผลิตได้

2. การเลี้ยงแบบกึ่งพัฒนา หมายถึง การเลี้ยงปลาโดยการให้อาหารที่หาได้จากธรรมชาติควบคู่กับการให้อาหารสำเร็จรูป เช่น การเลี้ยงปลาตะเพียนโดยใช้ปุ๋ยคอกหรือซากพืชที่เหลือจากการเกษตรควบคู่กับการให้อาหารข้นผสมในบางครั้งคราว

3. การเลี้ยงปลาแบบพัฒนา หมายถึง การเลี้ยงปลาโดยให้อาหารสำเร็จรูปเท่านั้น ซึ่งอาหารเหล่านี้จะมีคุณค่าทางโภชนาการสูง ทำให้ปลาจะได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอ มีอัตราการเติบโตเร็ว อาหารเหล่านี้มักเป็นอาหารที่ชื้อตามท้องตลาดหรือเป็นอาหารที่ผสมเองตามสูตรที่ให้คุณค่าทางอาหารที่เพียงพอ

การเลี้ยงปลาตามลักษณะพื้นที่ ได้แก่
1. การเลี้ยงปลาในบ่อดิน หมายถึง การเลี้ยงปลาในบ่อดินที่ขุดขึ้นตามพื้นที่ว่าง โดยใช้ดินเป็นคันบ่อและพื้นก้นบ่อ สำหรับเพาะเลี้ยงปลาตลอดฤดูกาล

การเลี้ยงปลาในบ่อดิน

2. การเลี้ยงปลาในกระชัง หมายถึง การเลี้ยงปลาในภาชนะที่สามารถกักขังได้ ตั้งแต่ระยะเป็นลูกปลาไปจนถึงปลามีขนาดใหญ่ โดยกระชังที่ใช้ต้องมีลักษณะที่น้ำำสามารถไหลเวียนผ่านด้านนอกได้

การเลี้ยงปลาในกระชัง

3. การเลี้ยงปลาในบ่อซีเมนต์ หมายถึง การเลี้ยงปลาในบ่อที่ก่อด้วยซีเมนต์สำเร็จรูป ทั้งชนิดที่ก่อขึ้นเอง และชนิดที่ซื้อตามท้องตลาด สำหรับชนิดบ่อซีเมนต์ที่ซื้อตามท้องตลาดจะใช้เลี้ยงปลาเพียงไม่กี่ประเภทเท่านั้น เนื่องจากบ่อมีขนาดเล็ก ปริมาณน้ำ และออกซิเจนน้อย ปลาที่เหมาะสม เช่น ปลาดุกหรือปลาหมอ

4. การเลี้ยงปลาในบ่อผ้าพลาสติก หมายถึง การเลี้ยงปลาในบ่อที่ปูรองด้วยผ้าพลาสติกเพื่อกักขังน้ำไม่ให้รั่วซึมสู่ดิน บ่อลักษณะนี้จะมีขนาดเล็ก และตื้นตามข้อจำกัดของขนาดผ้าพลาสติกที่ใช้ การเลี้ยงปลาชนิดนี้ นิยมเลี้ยงปลาประเภทเดียวกันกับปลาที่เลี้ยงในบ่อซีเมนต์สำเร็จรูปที่ซื้อตามท้องตลาด

การเลี้ยงปลาในบ่อพลาสติก

ขั้นตอนการเลี้ยงปลา (บ่อดิน)
การเลือกสถานที่
1. ควรเลือกสถานที่ที่อยู่ใกล้แหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำ ลำคลอง รวมถึงพื้นที่ที่มีระบบชลประทานเข้าถึง
2. ควรเลือกสถานที่ที่มีปริมาณน้ำพอใช้ได้ตลอดทั้งปี เช่น มีบ่อเก็บน้ำขนาดใหญ่ และควรเป็นสถานที่ที่น้ำไม่ท่วมถึง โดยเฉพาะในฤดูฝน และไม่ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้ง
3. ควรเลือกสถานที่ที่เป็นดินดินเหนียว ซึ่งจะอุ้มน้ำได้ดี ป้องกันการซึมผ่านของน้ำออกบ่อ
4. ควรเลือกสถานที่ใกล้แหล่งพันธุ์ปลา และการคมนาคมเข้าถึงสะดวก
5. ควรเลือกสถานที่ที่อยู่ใกล้ตลาดหรือชุมชน เพื่อความสะดวก และมีความรวดเร็วสำหรับการส่งปลาจำหน่าย

การสร้างบ่อเลี้ยง/การเตรียมบ่อ
1. ออกแบบ และวางผังบ่อ โดยควรออกแบบสำหรับการเพิ่มหรือขยายบ่อในอนาคต
2. ขุดบ่อ และยกคันบ่อ โดยให้สูงกว่าระดับน้ำสูงสุดบริเวณโดยรอบในรอบปีที่มีน้ำท่วมสูง ซึ่งต้องให้เผื่อสูงไว้เกินประมาณ 30 เซนติเมตร
3. สร้างประตูระบายน้ำ บริเวณจุดต่ำสุดของคันบ่อ โดยประกอบด้วยตะแกรงตาถี่ที่ทำจากไม้ไผ่หรือเหล็ก
4. บ่อปลาที่ขุด ควรเป็นสี่เหลี่ยมผืนผ้า และพื้นด้านล่างควรลาดเทไปด้านใดด้านหนึ่งในทิศทางการไหลของน้ำ
5. เมื่อขุดบ่อเสร็จให้โรยปูนขาวให้ทั่วก้นบ่อ ขอบบ่อ  และตากทิ้งไว้ประมาณ 15 วัน จึงจะปล่อยน้ำเข้า อีกประมาณ 7 วันต่อมาจึงถ่ายน้ำออกเพื่อรับน้ำใหม่ หากน้ำไม่เพียงพอก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนท่ายออก
6. หว่านโรยมูลสัตว์ เพื่อให้เกิดอาหารจำพวกแพลงก์ตอนพืช และไรน้ำ สำหรับระยะที่ปล่อยปลาขนาดเล็ก
7. พื้นที่คันบ่อโดยรอบ ควรปลูกต้นไม้ไว้เป็นร่มเงาแก่ปลา ทั้งนี้ ควรเลือกปลูกไม้ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ ทั้งด้านสมุนไพร ผลไม้ เครื่องเทศ รวมถึงการให้เนื้อไม้

การเตรียม และปล่อยพันธุ์ปลา
การเตรียมพันธุ์ปลา สิ่งที่ต้องพิจารณา คือ ชนิดปลา อัตราการเลี้ยงที่เหมาะสมกับบ่อเลี้ยง
1. ชนิดปลาที่จะเลี้ยง ควรพิจารณาที่ความเข้าใจ และความชำนาญของผู้เลี้ยงเป็นสำคัญ รวมถึง การตลาด และราคาปลา

2. อัตราการปล่อยที่เหมาะสมกับบ่อเลี้ยง พิจารณาระดับการเลี้ยงแบบเข้มข้นน้อย ปานกลาง และสูงซึ่งต้องพิจารณาปัจจัยอื่นร่วมด้วย เช่น คุณภาพน้ำ อาหาร การจัดการ และเงินทุน

3. ลักษณะการกินอาหารปลา
– ประเภทกินพืช หมายถึงปลาที่กินพืชเป็นอาหารเป็นหลัก ได้แก่ ปลานิล ปลาทับทิม ปลาไน ปลาตะเพียน ปลาหมอ ปลาจีน ปลาประเภทนี้ชอบกินรำข้าว ปลายข้าว เศษพืชผัก หญ้า และเศษอาหารในครัวเรือน นอกจากนี้ ยังอาจแบ่งปลากินพืชออกย่อยเป็นปลากินตะไคร่น้ำ สาหร่ายหรือพืชสีเขียว ในน้ำ ได้แก่ ปลายี่สกเทศ ปลาสลิด ปลาจีน เป็นต้น
– ประเภทกินเนื้อ หมายถึง ปลาที่กินเนื้อเป็นอาหารเป็นหลัก ได้แก่ ปลาบู่ ปลาช่อน ปลาดุก ปลาประเภทนี้ชอบกินเศษปลาบดผสมกับรำเป็นอาหาร รวมถึงสัตว์น้ำขนาดเล็ก
– ประเภทกินได้ทั้งพืช และเนื้อ หมายถึง ปลาที่กินทั้งพืช และเนื้อเป็นอาหารหลัก ได้แก่ ปลาสวาย ปลายี่สก

การปล่อยพันธุ์ปลา ควรปล่อยในตอนเช้าหรือตอนเย็น โดยนำถุงพันธุ์ปลาวางในบ่อประมาณ 30 นาที ก่อนปล่อยให้นำน้ำจากบ่อไหลเข้าในถุงพันธุ์ปลาก่อน ก่อนที่จะปล่อยปลาออกลงบ่อ

อาหาร และการให้อาหาร
การเลี้ยงปลาเพื่อจำหน่าย โดยทั่วไปนิยมใช้อาหารสำเร็จรูป เพราะจะทำให้ผลผลิตสูง การให้อาหารปลาต้องคำนึงถึงชนิดปลา ว่าเป็นปลากินพืชหรือปลากินเนื้อ ส่วนอาหารที่ให้ ต้องคำนึงถึงคุณค่าทางอาหารที่มีประโยชน์ต่อปลา และใช้ปริมาณเท่าใด

การจัดการคุณภาพน้ำ
1. ด้านกายภาพ
– อุณหภูมิ (Temperature) อุณหภูมิของน้ำจะอยู่ที่ประมาณ 25 – 32 องศาเซลเซียส อุณหภูมิในตัวปลาต่ำกว่าอุณหภูมิน้ำประมาณ 0.5 ถึง 1 องศาเซลเซียส การเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิของน้ำจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างช้า ๆ เพราะปลาเป็นสัตว์เลือดเย็น ไม่สามารถรักษาอุณหภูมิให้คงที่เหมือนสัตว์เลือดอุ่นได้หากอุณหภูมิเปลี่ยนสูงขึ้นมากปลามักขาดออกซิเจน และตายได้ง่าย

– ความขุ่น (Turbidity) ความขุ่นของน้ำจะเกิดจากสารแขวนลอยในน้ำ เช่น อนุภาคดินทรายแพลงก์ตอน แบคทีเรีย แร่ธาตุ ทำหให้ปริมาณแสงที่ส่องลงไปในน้ำลดลง หน่วยวัดความขุ่น คือ FTU (Formazin turbidity unit) หรือ JTU (Jackson turbidity unit) ความขุ่นที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาไม่ควรเกิน 50 FTU

– การนำไฟฟ้า (Conductivity) คือ ความสามารถในการเป็นสื่อนำกระแสไฟฟ้าของน้ำ ซึ่งขึ้นอยู่กับความเข้มข้นขของสารประกอบอนินทรีย์ที่ละลายในน้ำ อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส จะทำให้ค่าการนำไฟฟ้าเเพิ่มขึ้นประมาณ 2 เปอร์เซ็นต์ ค่าการนำไฟฟ้าที่เหมาะสมในการเลี้ยงปลาประมาณ 1,500 ไมโครโมห์/เซนติเมตร

– สี (Color) เป็นตัวบ่งชี้ชนิดของสิ่งมีชีวิตหรือสารที่อยู่ในน้ำ ได้แก่

สีที่บ่งบอกชนิดแพลงก์ตอนในน้ำ เช่น น้ำสีเหลืองหรือน้ำตาล เป็นกลุ่มไดอะตอม (Diatom) น้ำสีเขียวแกมน้ำเงิน เป็นสาหร่ายสีเขียวแกมน้ำเงิน (Blue green algae) น้ำสีเขียว เป็นสาหร่ายสีเขียว น้ำสีน้ำตาลแดง เป็นไดโนแฟกเจลเลท (Dinoflagellate) หรือกลุ่มไพโรไฟตา (Pyrophyta) ส่วนสีที่บ่งบอกสารแขวนลอยในน้ำ เช่น น้ำที่มีสีเหลืองหรือสีแดงมักเป็นน้ำจากดิน น้ำที่มีสีฟ้าใสมักมีแคลเซียมหรือแมกนีเซียมมาก

2. ด้านเคมี
– ความเป็นกรดด่าง (pH) สำหรับค่าความเป็นกรด-ด่างที่เหมาะสมสำหรับการเลี้ยงปลา ควรมีค่าประมาณ 7 น้ำที่มี pH สูง จะเกิดพิษของแอมโมเนียต่อปลา

– ความกระด้าง (Hardness) ความเข้มข้นของแคลเซียม และแมกนีเซียมที่ละลายในน้ำ เป็นตัวช่วยควบคุมการเปลี่ยนแปลง pH ของน้ำ

– ความเป็นด่าง (Alkalinity) ส่วนใหญ่เป็นไอออนของคาร์บอเนต ไบคาร์บอเนต และไฮดอกไซด์ แหล่งน้ำธรรมชาติมีค่าความเป็นด่างประมาณ 25 – 400 มิลิกรัม/ลิตร ค่าที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงปลาประมาณ 100 – 120 มิลลิกรัม/ลิตร

– คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbondioxide) ถ้าอยู่ในรูปคาร์บอนไดออกไซด์อิสระ ไบคาร์บอเนต และคาร์บอเนต จะช่วยให้ pH ของน้ำเปลี่ยนแปลงได้ช้าลง

– ปริมาณออกซิเจนละลาย (Dissolved oxygen หรือ DO) คือ ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ DO สำหรับการเลี้ยงปลาควรมีค่ามากกว่า 5 มิลิกรัม/ลิตร และไม่ควรต่ำกว่า 3มิลิกรัม/ลิตร

– ไฮโดรเจนซัลไฟด์ (Hydrogen sulphide) หรือเรียกว่า ก๊าซไข่เน่า ที่เกิดจากการหมักหมม และการเน่าสลายของสารอินทรีย์ในสภาวะที่ไม่มีออกซิเจน ค่านี้ไม่ควรเกิน 0.002 พีพีเอ็ม การแก้พิษจะใช้เกลือแกง 300 – 400 กิโลกรัม/ไร่ หรือปูนขาว 30 กรัม/ลูกบาศก์เมตร

– ความเค็ม (Salinity) น้ำจืดมีค่าความเค็ม 0 – 3 พีพีเอ็ม น้ำกร่อย 15 – 25 พีพีเอ็ม และน้ำเค็ม มากกว่า 30 พีพีเอ็มขึ้นไป ดังนั้น การเลี้ยงปลาน้ำจืดหรือน้ำกร่อยควรพิจารณาค่าความเค็มร่วมด้วย

– สารประกอบไนโตรเจน ได้แก่ แอมโมเนีย ไนไตร ไนเตรท น้ำในบ่อปลาควรมีรค่าแอมโมเนียไม่เกิน 0.02 พีพีเอ็ม

– ฟอสฟอรัส (Phosphorus) มีความสำคัญในการเจริญเติบโตของแพลงก์ตอนพืช มาตรฐานกำหนดไว้ไม่ควรเกิน 0.3 มิลลิกรัม/ลิตร หากมีค่ามากจะทำให้เกิดปรากฎการยูโทรฟิเคชั่น

โรคสัตว์น้ำ
โรคที่เกิดกับปลาที่สำคัญ และพบบ่อย ได้แก่ โรคท้องบวม โรคที่เกิดจากพาราสิตภายนอก เช่น เห็บปลา เหาปลา และโรคที่เกิดจากพยาธิ เช่น ปลิงใส เห็บ โรคจุดขาว

การเก็บเกี่ยวผลผลิต
วิธีการเก็บปลามีหลายวิธี เช่น การดูดน้ำหรือปล่อยน้ำออกบ่อ การใช้อวนล้อมจับ การใช้แห (ปลาบ่อ) การใช้สวิง (ปลากระชัง)