กบ (Frog) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำที่มีหลายชนิด แต่ที่นิยมเลี้ยง และนำมาประกอบอาหาร ได้แก่ กบนา (Rugosed Frog) ซึ่งพบได้ทั่วไปตามทุ่งนาหรือแหล่งน้ำขังในทุกภาค กบชนิดนี้เป็นกบขนาดกลาง ออกไข่จำนวนมาก เลี้ยงง่าย เติบโตเร็ว ให้เนื้อเหนียวนุ่ม และมีรสชาดอร่อย
อนุกรมวิธาน
ชื่อไทย : กบ, กบนา
ชื่ออังกฤษ : Rugosed Frog
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Rana Rugulosa
Phylum : Chordata
Class : Amphibia
Order : Anura
Family : Ranidae
Genus : Rana linnaeus
Species : Rugulosa
ลักษณะทั่วไปของกบนา
กบนาเป็นสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง ประเภทสัตว์เลือดเย็น ที่พัฒนามาจากสัตว์น้ำขณะวัยอ่อน หรือที่เรียก ลูกอ๊อด พัฒนามาเป็นสัตว์ที่อาศัยบนบกที่หายใจด้วยปอด และผิวหนัง และเคลื่อนไหวด้วยการกระโดด ไม่มีการเดิน
กบนา เป็นกบขนาดใหญ่ มีอายุได้มากกว่า 5 ปี มีน้ำหนักได้มากถึง 200-500 กรัม ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัวที่มีขนาดใหญ่ เป็นรูปสามเหลี่ยมติดกับลำตัว (กบจะไม่มีคอ) มีนัยน์ตาโปนออกมาเล็กน้อย นัยตาหากกระทบไฟส่องจะมีสีแดง มีรูจมูก 2 รู ใกล้กับริมขอบปาก ก่อนถึงลูกตาและมีหู 2 ข้าง อยู่ถัดจากลูกตาเยื้อลงต่ำกว่าเล็กน้อย หูนี้มีลักษณะเป็นแผ่นค่อนข้างกลมบางๆ
ปากมีขนาดกว้าง ภายในปากมีฟันหยักขนาดเล็ก ไม่แหลมคม ส่วนลิ้นมีลักษณะแบน มีโคนลิ้นอยู่ด้านนอก ส่วนปลายลิ้นจะอยู่ด้านใน ปลายลิ้นเป็นแฉก ลิ้นนี้ใช้สำหรับจับอาหารเข้าปาก ซึ่งยืดหดได้อย่างรวดเร็ว ผิวหนังมีลักษณะอ่อนนุ่ม และชื้นอยู่เสมอ ผิวหนังส่วนบนบริเวณหัว หลัง และขาด้านบนมีสีดำ สีน้ำตาลปนดำ หรือสีขาวขุน และมีจุดประสีทำกระจายทั่ว ทั้งนี้ สีลำตัวจะเปลี่ยนตามลักษณะของน้ำ และสภาพแวดล้อมที่อาศัย ส่วนผิวหนังใต้คาง หน้าท้อง และขาด้านหน้า รวมถึงฝ่าเท้าจะมีสีขาวตลอด
ขามี 4 ขา แบ่งเป็น 2 คู่ ขาคู่หน้าแต่ละขามี 4 นิ้ว ส่วนขาคู่หลังมี 5 นิ้ว โคนขามีขาดใหญ่กว่าขาคู่หน้า มีความแข็งแรง ใช้สำหรับการกระโดด นิ้วทั้ง 5 นิ้ว มีปลายนิ้วแหลมคม ใช้สำหรับขุดดิน แต่ละนิ้วมีพังพืดเชื่อมติดกันทำให้ว่ายน้ำได้เร็วขึ้น นิ้วด้านนอกจะยาวมากที่สุด และค่อยๆสั้นลงเรื่อยๆตามลำดับจนถึงนิ้วด้านใน
กบมีอวัยวะที่ทำหน้าที่เป็นกล่องเสียง ทำให้กบร้องเสียงดังก้องในช่วงผสมพันธุ์ แต่หากเกิดตกใจจะร้องเสียงแหลม
เพศของกบนา
– กบตัวผู้จะมีขนาดเล็กกว่ากบตัวเมีย หากจับหงายท้องจะเห็นกล่องเสียงใต้คาง 2 อัน โดยจะมีลักษณะเป็นจุดสีดำ จุดนี้จะปุ๋มลง และนูนขึ้นเมื่อกบร้อง
– กบตัวเมียจะมีขนาดใหญ่กว่าตัวผู้ เมื่อจับหงายท้องจะไม่พบกล่องเสียง และหูจะมีขนาดเล็กกว่าตัวผู้ ประมาณเท่ากับลูกตา
การดำรงชีพของกบนา
แหล่งอาศัย และการแพร่กระจาย
กบนาสามารถพบได้ทุกภาคในประเทศ ในหน้าฝนจะอาศัยตาแหล่งน้ำขังตื้นๆ เช่น ทุ่งนา บ่อเก็บน้ำ โดยกลางวันมักหลบอาศัยอยู่ใต้น้ำหรือใต้กอหญ้า ส่วนเวลากลางคืนจะออกหากิน
อาหาร และการกินอาหาร
กบนาเป็นสัตว์ประเภทกินสัตว์เป็นอาหาร มีอาหารตามธรรมชาติที่สำคัญ คือ ไส้เดือน ปลาขนาดเล็ก แมลงเม่า และแมลงอื่นๆ เป็นต้น
เสียงร้องของกบ
เสียงร้องของกบแบ่งเป็น 2 ลักษณะ คือ
1. เสียงร้องตอนผสมพันธุ์ กบนาจะร้องเสียง “อบ” “อบ” เป็นจังหวะ ซึ่งเป็นที่มาของการเรียกชื่อว่า “กบ” เสียงนี้จะใช้เพื่อเรียกหาคู่ผสมพันธุ์ ซึ่งจะได้ยินบ่อยในช่วงต้นฤดูฝน ขณะฝนตกหรืหลังฝนตก เพราะกบจะออกมาบริเวณแหล่งน้ำขังเพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่
2. เสียงร้องให้ช่วย หรือได้รับบาดเจ็บ หรือเกิดความกลัว กบนาจะร้อง “แอ้บ” “แอ้บ” เป็นจังหวะ เช่น กบขณะถูกงูกิน กบที่กำลังถูกจับ เป็นต้น
การสืบพันธุ์ และการวางไข่
ตามธรรมชาติ กบนาจะเริ่มผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝน ประมาณเดือนพฤษภาคม-กรกฏาคม หรืออาจเลยไปถึงเดือนสิงหาคม หากพื้นที่แห้งแล้งหรือฝนมาช้า
การผสมพันธุ์ของกบมักเริ่มหลังจากฝนตกแล้ว 1-2 ครั้ง เพราะช่วงนี้จะเริ่มมีแหล่งน้ำขังตามทุ่งนา โดยเมื่อฝนตก และมีแหล่งน้ำขัง กบจะออกจากรูหรือที่หลบอาศัย และกระโดดเข้าหาแหล่งน้ำใหม่ เพราะกบจะไม่เหลือกแหล่งน้ำเก่า เช่น บ่อน้ำ สระน้ำ อาจเนื่องจากกบอาจรู้ว่าแหล่งน้ำเหล่านี้จะมีผู้ล่าที่เป็นปลากินเนื้ออยู่
เมื่อถึงแหล่งน้ำ กบจะส่งเสียงร้องหาคู่ “อบ” “อบ” เป็นจังหวะ และเมื่อพบคู่ กบตัวผู้จะขึ้นขี่ด้านหลังกบตัวเมีย
ลูกอ๊อด
ลูกอ๊อด จัดเป็นสัตว์น้ำที่เป็นลูกกบในช่วงวัยอ่อน
พันธุ์กบ
กบพันธุ์พื้นเมืองของไทย ได้แก่
1. กบนา (Rana Rugulosa)
กบนา เป็นกบขนาดกลางที่พบมากที่สุดในประเทศไทยในบรรดากบทุกชนิด พบได้ในทุกภาค และนิยมเลี้ยงมากที่สุด มีลักษณะดังที่กล่าวข้างต้น
2. กบจาน (Rana rugulosa wingman)
กบจาน เป็นกบขนาดใหญ่ มีความยาวลำตัวได้ถึง 10-15 ซม. มีน้ำหนักได้ถึง 250-600 กรัม รูปร่างทั่วไปจะคล้ายกับกบนา แต่กบจานจะมีสีน้ำตาลปนเขียว และมีแถบจางๆพาดบริเวณริมฝีปากที่ใต้คาง
3. กบฑูต (Rana blithe )
กบฑูต หรือ กบยักษ์ หรือ กบดง หรือ กบคลอง เป็นกบที่มีขนาดใหญ่ที่สุด มีความยาวลำตัวได้ถึง 20-25 ซม. และมีน้ำหนักได้ถึง 1.5-3 กิโลกรัม มีลักษณะทั่วไปคล้ายตะปาด หัวมีขนาดสั้น มีปากรูปทรงแหลม ตัวผู้มีเขี้ยวยืนออกจากขากรรไกร ส่วนตัวเมียจะมีเหมือนกัน แต่จะสั้นกว่า ริมฝีปากบน และล่างมีจุดสีดำ ลำตัวทั้วไปค่อนข้างยาว ผิวหนังเรียบ สีน้ำตาลอ่อนหรือน้ำตาลแดงอมดำ ไม่มีตะปุ่มเหมือนกบนา ส่วนใต้คาง และหน้าท้องมีสีน้ำตาลอ่อนปนสีครีม
ส่วนขามีลายพาดสีน้ำตาล มีนิ้วของขาหน้าอันแรกยาวกว่าขาอันที่ 2 กบชนิดนี้ พบได้เฉพาะบริเวณป่าเขาใกล้แม่น้ำ
4. กบบัว
กบบัว เป็นกบที่มีขนาดเล็กที่สุด ลำตัวยาวประมาณ 5 ซม. มีน้ำหนักตัวประมาณ 30-40 กรัม/ตัว ผิวหนังลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลอ่อน
5. กบภูเขาหรือเขียดแลว (Asiatic giant frog)
กบภูเขาหรือเขียดแลว เป็นกบคนละชนิดกับกบฑูต แต่มีขาดใกล้เคียงกันหรืออาจใหญ่กว่า น้ำหนักตัวอาจพบได้ถึง 3-3.5 กิโลกรัม รูปร่างโดยทั่วไปคล้ายตะปาด แต่จะมีแถบลายดำในช่วงระหว่างตากับจมูก
กบจากต่างประเทศ ได้แก่
กบบลูฟร็อก (Rana catesbeiana show)
กบบลูฟร็อก เป็นกบขนาดใหญ่ ลำตัวยาวได้ถึง 16-20 ซม. น้ำหนักตัว 0.8-1.2 กิโลกรัม เป็นกบที่มีถิ่นกำเนิดในทวีปอเมริกาเหนือ เป็นกบที่เลี้ยงได้ีดี แต่ใช้เวลาเลี้ยงนานกว่ากบนา โดยลูกอ๊อดใช้เวลากว่า 3 เดือน ในการพัฒนาเป็นลูกกบ และใช้เวลาเลี้ยงนาน 4-5 เดือน กว่าจะจับจำหน่ายได้ ปัจจุบัน ไม่ที่นิยมเลี้ยงหรือรับประทาน
การเลี้ยงกบ
บ่อเลี้ยงกบ
1. บ่อดิน
บ่อดินที่ใช้เลี้ยงกบจะเป็นบ่อตื้น เป็นบ่อขนาดเล็ก เช่น ขนาด 5 x 10 เมตร โดยพื้นด้านล่างต้องอัดหรือเหยียบให้แน่น ส่วนด้านข้างล้อมด้วยผ้าเขียวหรือก่ออิฐรอบ เพื่อป้องกันกบกระโดดออก
2. บ่อซีเมนต์
บ่อซีเมนต์ เป็นบ่อเลี้ยงกบที่นิยมในปัจจุบัน เนื่องจากดูแล และรักษาง่าย ก่อด้วยอิฐ และฉาบด้วยซีเมนต์ล้อมรอบ ในขนาดต่างๆ เช่น ขนาด 4 x 4 เมตร หรือ ขนาด 6 x 6 เมตร สูงประมาณ 1-1.2 เมตร พื้นด้านล่างเทราดด้วยซีเมนต์ โดยให้ลาดเอียงลงในทิศใดทิศหนึ่ง ซึ่งจะเจาะรูสำหรับระบายน้ำออก
3. กระชัง
การเลี้ยงในกระชังเป็นการเลี้ยงในบ่อดินขนาดใหญ่ ด้วยการใช้ผ้าเขียวเย็บเป็นสี่เหลี่ยมขนาดต่างๆ เช่น ขนาด 2 x 3 เมตร หรือ ขนาด 4 x 6 เมตร ตามความเหมาะสม ความสูงของกระชังจากระดับน้ำประมาณ 1 เมตร
การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์
กบพ่อพันธุ์ ต้องมีอายุตั้งแต่ 2 ปี เป็นกบที่พร้อมผสมพันธุ์ โดยดูได้จากบริเวณปากด้านล่างจะมีสีเหลืองส้มค่อนข้างจาง ขาหลังด้านนอกมีสีเหลือง หัวแม่มือของเดท้าหน้ามีลักษณะสากมือ
กบแม่พันธุ์ ต้องเป็นกบที่มีไข่แก่แล้ว ซึ่งดูได้จากบริเวณท้องจะเป่งนูนมาก ไม่ค่อยกระโดด บริเวณด้านข้างลำตัวมีลักษณะสากมือกว่าปกติ หากเป็นแม่กบที่พร้อมผสมพันธุ์เต็มที่ เมื่อบีบรัดท้องจะมีไข่ไหลออกมา
การผสมพันธุ์กบ
การผสมพันธุ์ในฤดู
การผสมพันธุ์ของกบในฤดูจะอยู่ในช่วงฝนมาใหม่ของปี ในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยมักจะผสมพันธุ์หลังจากฝนตกแล้ว 2-3 ครั้ง ในสภาพที่มีน้ำขัง
การผสมพันธุ์นอกฤดู
รอเพิ่มข้อมูล