โรงเรือนโคขุน

35681

โรงเรือนโคขุนหรือโรงเรือนเลี้ยงโค ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับเกษตรกรผู้เลี้ยงโคสำหรับเป็นที่พักอาศัยของโค โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลี้ยงโคขุนที่จำเป็นต้องเลี้ยงโคในโรงเรือนเพื่อขุนโคให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น

โรงเรือนโคขุน

หลักการสร้างโรงเรือนโคขุน
1. สถานที่
– ควรเป็นที่ดอนหรือสถานที่สูงกว่าพื้นที่รอบข้าง มีการระบายน้ำได้ดี หรืออาจต้องถมพื้นที่ให้สูงขึ้นกว่าระดับปกติเพื่อไม่ให้น้ำขังในฤดูฝน
– สถานที่ควรมีทางที่รถบรรทุกสามารถเข้าออกได้ เพื่อความสะดวกในการนำโคเข้าขุน และส่งตลาด
– ความยาวของคอกควรอยู่ในแนวทิศตะวันออก-ตะวันตก

– สถานที่สร้างโรงเรือน หากต้องการพื้นที่แปลงหญ้าควรเป็นพื้นที่เดียวกันหรือห่างกัน แต่สามารถนำโคเข้าปล่อยแปลงได้สะดวก
– สถานที่สร้างโรงเรือน รวมถึงพื้นที่ว่างหรือพื้นที่แปลงหญ้า ควรมีพื้นที่สำหรับวางแผนขยายกิจการได้ในอนาคต

2. ขนาดของโรงเรือน
– โรงเรือนอาจสร้างเพียงคอกขังเดี่ยว แต่มีหลายๆ คอกตามจำนวนโค ซึ่งแต่ละคอกควรมีขนาด กว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร หรืออาจเป็นคอกโล่งขนาดใหญ่เพื่อปล่อยขุนร่วมกัน แต่ต้องมีขนาดโคขุนที่อายุเท่ากัน
– หากต้องการขุนแบบรวมในคอกเดียวกัน พื้นที่คอกควรมีตั้งแต่ 8 ตารางเมตร/ตัว  มีหลังคาคลุมด้านบนประมาณ 1 ใน 3  ส่วนที่เหลือให้เป็นที่โล่งหรือมีต้นไม้ให้ร่มยิ่งดี
– ถ้าพื้นที่น้อย จำนวนโคมีมากจะมีปัญหาพื้นคอกแฉะ โคบียดกัน และแย่งอาหารกัน ทำให้การเติบโตไม่เท่ากัน
– หากสร้างหลังคาคลุมพื้นที่ทั้งหมดจะมีข้อดี คือ ไม่ทำให้พื้นคอกแฉะในฤดูฝน แต่ก็มีข้อเสีย คือ สิ้นเปลืองค่าวัสดุโดยใช่เหตุ และโคอาจไม่ได้รับแสงแดดทำให้ขาดวิตามินดีได้

แบบโรงเลือนโคขุน

3. พื้นคอก
– พื้นคอกโคขุน หากเทคอนกรีตทั้งหมดจะสามารถแก้ปัญหาเรื่องพื้นคอกแฉะ เป็นโคลนในฤดูฝนได้ แต่จะสิ้นเปลืองทุนมาก แต่อาจเทคอนกรีตเฉพาะพื้นคอกส่วนที่อยู่ใต้หลังคา ก็ทำให้ประหยัดเงินทุนได้ ส่วนพื้นคอกส่วนใต้หลังคาที่เป็นดินจะมีปัญหาพื้นเป็นโคลนทั้งฤดูแล้ง และฤดูฝน โดยเฉพาะปริมาณโคที่มีมาก
– พื้นคอนกรีตที่เท ควรหนาประมาณ 7 เซนติเมตร อาจผูกเหล็กเส้นหรือไม่ผูก ก็สามารถรับน้ำหนักโคขุนได้ แต่ต้องอัดพื้นด้านล่างให้แน่น และสม่ำเสมอก่อน

– ส่วนฟาร์มขนาดใหญ่ หากต้องการให้รถบรรทุกหรือแทรกเตอร์เข้าไปในคอกได้ จำเป็นต้องเทคอนกรีตให้หนาประมาณ 10 เซนติเมตร และต้องผูกเหล็กด้วย
– หากเทคอนกรีต ควรทำพื้นหน้าคอนกรีตให้หยาบ ด้วยการใช้ไม้กวาดมือเสือครูดให้เป็นรอย และพื้นคอกควรลาดเอียงประมาณ 2-4% หรือทำมุมประมาณ 15 องศากับพื้นราบ จากด้านหน้าลงด้านหลังคอก เพื่อให้น้ำล้างคอก และปัสสาวะไหลลงท้ายคอก ส่วนด้านท้ายคอกควรมีร่องน้ำ กว้างประมาณ 30 เซนติเมตร เพื่อรวมน้ำให้ไหลไปในทิศทางเดียวกัน และไหลลงจุดพัก หรืออาจให้ไหลลงแปลงหญ้าก็ยิ่งดี
– พื้นคอกที่เป็นคอนกรีตที่เป็นส่วนใต้หลังคา ควรจะปูด้วยวัสดุที่ซับความชื้นได้ดี เช่น แกลบ ขี้เลื่อย ฟาง หรือซังข้าวโพด เป็นต้น ซึ่งจะช่วยไม่ให้พื้นลื่น  อีกทั้งมูลโค และวัสดุรองพื้นที่ใช้จะเป็นปุ๋ยหมักได้อย่างดี แต่ควรเปลี่ยนวัสดุรองพื้นคอก 1-2 ครั้ง/เดือนในฤดูฝน และประมาณ 3 เดือน/ครั้งในฤดูแล้ง อัตราการใช้หากเป็นแกลบ 1 ลูกบาศก์เมตร จะปูพื้นคอกได้ประมาณ 10-12 ตารางเมตร  หรือแกลบ 1 กระสอบ ใช้ปูพื้นได้ 2 ตารางเมตร ส่วนพื้นคอกที่เป็นพื้นดินหรือส่วนคอนกรีตที่อยู่นอกหลังคาไม่จำเป็นต้องมีวัสดุรองพื้น
– การปูวัสดุรองพื้นนี้อาจจะไม่จำเป็นเสมอไป ขึ้นอยู่กับความต้องการ และเงินทุน นอกจากนั้น พื้นคอกที่เป็นดินไม่จำเป็นต้องใช้วัสดุรองพื้น
– การใช้ซีเมนต์บล็อกเป็นพื้นคอกแทนการเทคอนกรีตจะไม่สามารถทนต่อน้ำหนักโคได้ในระยะยาว

4. หลังคา
– วัสดุใช้ทำหลังคา เช่น กระเบื้อง สังกะสี แฝก หญ้าคาหรือจาก
– หากหลังคามุงด้วยสังกะสี ควรให้ชายล่างสูงจากพื้นดินมากกว่า 2.50เมตร เพื่อทำให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยเฉพาะในฤดูร้อน
– หากหลังคามุงด้วยวัสดุธรรมชาติ เช่น แฝก หญ้าคาหรือจาก ควรให้ชายล่างสูงจากพื้นดินประมาณ 2.50 เมตร และไม่ควรต่ำกว่านี้ เพราะโคอาจกัดกินหลังคาได้

5. เสาคอก
– เสาที่ใช้ เช่น เสาไม้ เสาเหล็กหรือแป๊บน้ำ ที่เป็นเหล็ก มักมีปัญหาเสาเป็นสนิม และหักโคนเสาได้ง่ายเมื่อใช้หลายปี แต่หากต้องการเสาเหล็กให้แก้ไขโดยการหล่อคอนกรีตหุ้มโคนเสา โดยให้สูงจากพื้นประมาณ 30 เซนติเมตร ควรใช้ท่อปล่องส้วมหรือท่อเอสล่อนเป็นปลอกหุ้มด้านนอกอีกชั้น เพื่อป้องกันการกระแทกจากโคขุน
– เสาคอนกรีตเสริมเหล็ก มีความคงทนดีกว่าเสาทุกชนิด แต่มีปัญหาในการกั้นคอกลำบาก ต้องใช้ไม้ตอกยึดเสาอีกชั้นสำหรับทำคอกกั้น
– เสาไม้มีอายุใช้งานประมาณ 1-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ที่นำมาใช้ แต่หากนำเสาไม้ที่เป็นไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้กุง ไม้กิก สามารถใช้ได้นานเป็นสิบปี
– การใช้เสาคอนกรีตฝังดิน โดยโผล่ขึ้นมาเล็กน้อยสำหรับต่อด้วยเสาไม้ มักเกิดปัญหาโคนเสาบริเวณรอยต่อหักจากแรงลมหรือจากถูกแรงกระแทกของโค

6. รั้วกั้นคอก
– วัสดุที่ใช้ เช่น ไม้เนื้อแข็ง ไม้ไผ่ ไม้สน เป็นต้น ซึ่งควรเลือกใช้ไม้ให้ถูกต้อง หากต้องการประหยัดอาจใช้ไม้ไผ่ ไม่ยูคา ไม้สน ซึ่งมีราคาถูก แต่อายุการใช้งานไม่กี่ปี
– รั้วกั้นคอกรอบนอกโดยรอบ ควรกั้นทั้ง 4 แนว แนวบนสุดให้สูงจากพื้นดินอย่างน้อย 150 เซนติเมตร ส่วนรั้วคอกย่อยภายในให้กั้นอย่างน้อย 3 แนว
– การกั้นคอกควรให้ไม้อยู่ด้านในของเสา เพื่อให้เสาช่วยรับแรงกระแทกจากโค
– ไม้ที่มีตาไม้หรือสิ่งแหลมคม ให้ตอกออกให้หมดก่อนกั้นคอกหรือปล่อยโคเข้าขุน

7. รางอาหาร
– รางอาหารควรสูงประมาณ 50-60 เซนติเมตร กว้างประมาณ 80-90 เซนติเมตร ซึ่งก่ออิฐบล็อกหรืออิฐมอญ และฉาบปูนให้เรียบ ขอบรางด้านนอกเป็นแนวตรงดิ่ง ไม่เอียงจากพื้น ขอบรางด้านในสำหรับให้โคเข้ากินอาหาร ให้สูงกว่าด้านนอกประมาณ 10-20 เซนติเมตร และขอบของรางทำเป็นแนวโค้งมนไม่มีมุม เจาะรูที่ก้นรางด้านหนึ่งสำหรับน้ำระบายออกได้ ท้องรางลาดเทเล็กน้อยไปทางด้านรูระบายน้ำ
– รางอาหารที่แคบจะมีปัญหาอาหารตกหล่นมาก ขณะที่โคเคี้ยวอาหารหรือเข้าแย่งอาหารสำหรับคอกรวม
– การทำรางอาหารต่ำมากเกินไป ทำให้โคก้มมากขณะกินอาหาร ทำให้กลืนอาหารลำบาก แต่หากสูงเกินไปจะมีปัญหาสำหรับโคเล็ก
– โคขุน 1 ตัว ต้องการความยาวของรางอาหารประมาณ 50 เซนติเมตร และประมาณ 65 เซนติเมตร หากโคมีขนาดใหญ่

โคขุน1

8. อ่างน้ำ
– อ่างน้ำควรอยู่ในมุมใกล้กับรางอาหาร และให้อยู่จุดต่ำสุดของคอก  แต่อาจวางอยู่นอกคอกก็ได้ แต่ต้องทำช่องให้โคโผล่หัวออกไปดื่มน้ำได้
– ขนาดอ่างน้ำควรสูงประมาณ 60 เซนติเมตร กว้าง 80 เซนติเมตร และยาว 90 เซนติเมตร ก่อด้วยอิฐ ฉาบปูนให้เรียบ และให้มีรูระบายน้ำด้านล่าง เพื่อทำความสะอาด  โค 1 ตัว ดื่มน้ำประมาณวันละ 20-30 ลิตร แต่โคขุนที่กินหญ้าสดหรือเปลือกสับปะรด ต้องการกินน้ำร้อยละ 5 ต่อวัน ของน้ำหนักตัว ส่วนโคขุนที่กินฟางหรือหญ้าแห้ง ต้องการน้ำประมาณร้อยละ 10 ต่อวัน ของน้ำหนักตัว

9. มุ้ง
พื้นที่ที่มียุงหรือแมลงวันรบกวน โดยเฉพาะในฤดูฝน มุ้งจะมีความจำเป็นมาก ซึ่งจะช่วยในหลายด้าน คือ
– ป้องกันการถูกดูดกินเลือดจากยุง และแมลงต่างๆ
– ป้องกันแมลงตอมตา เพื่อไม่ให้เกิดตาอักเสบ และพยาธิในตา
– ลดการหกหล่นของอาหารจากการรบกวนของแมลง เนื่องจากหากมีแมลงรบกวนมาก โคจะแกว่งศีรษะไล่แมลงขณะกินอาหาร ซึ่งจะทำให้อาหารหกหล่น
– มุ้งที่ใช้อาจเป็นผ้าไนล่อน ผ้าสเลน เบอร์ 20 หรือต่ำกว่านี้ก็ได้ แต่ราคาจะแพงขึ้น และทำให้การระบายอากาศไม่ดีนัก