แย้ ก้อยแย้ และวิธีจับแย้

14931
OLYMPUS DIGITAL CAMERA

แย้ (Agamid) เป็นสัตว์ป่าพื้นเมืองที่นิยมนำรับประทานชนิดหนึ่ง โดยเฉพาะคนภาคอีสาน และภาคเหนือ เนื่องจากเนื้อแย้สามารถรับประทานได้ทั้งตัว เนื้อให้รสอร่อย มีกลิ่นหอม และกระดูกไม่แข็ง โดยมีเมนูหลัก ได้แก่ ก้อยแย้ หมกแย้ แย้ปิ้ง เป็นต้น

ฤดูการจับแย้จะอยู่ในช่วงหน้าแล้ง ประมาณเดือนกุมภาพันธ์-พฤษภาคม ซึ่งชาวบ้านจะออกจับกันมากในวันหลังฝนตก โดยมีวิธีการจับที่นิยม คือ การขุดตามรู และการใช้ปืนอัดลมยิง ทั้งเพื่อการรับประทานในครัวเรือน และจำหน่าย โดยราคาแย้ที่จำหน่ายประมาณตัวละ 5-10 บาท หรือมากกว่า ขึ้นกับขนาดของตัวแย้

อนุกรมวิธาน
• Order : Squamata
• Family : Agamidae
• Genus : Leiolepis
•Species : Leiolepis belliana (Gray)

• ชื่อสามัญ : Agamid
• ชื่อเรียกท้องถิ่น : แย้
• จำนวนโครโมโซม : 2n = 36

ชนิดแย้ ที่พบในประเทศไทย (ชนิดย่อย : Subspecies)
1. L. b. rubritaeniata (Mertens) พบในภาคเหนือ และภาคอีสาน
2. L. b. belliana (Gray) พบมากในภาคใต้ และภาคกลางเล็กน้อย
3. L. b. guttatus (Gunther) เคยพบในภาคตะวันออก และพบน้อยมาก หรืออาจไม่พบแล้ว

การแพร่กระจาย
แย้ เป็นสัตว์เลื้อยคลานประเภทไต่คลานที่ขุดรูอาศัย โดยพบได้ทั่วไปตามป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณ และป่าดิบเขา รวมถึงพบได้ทั่วไปตามไร่ นา หรือที่รกร้างที่มีสภาพแล้ง

ลักษณะทั่วไป
แย้มีลักษณะลำตัวแตกต่างกันตามเพศ ลำตัวมีตุ่มเกร็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่ว และมีแถบสีแดงพาดบริเวณสีข้างของลำตัว โดยแย้ตัวผู้จะมีขนาด และความยาวมากกว่าแย้ตัวเมีย แย้ตัวผู้จะมีแถบสีดำสลับกับแถบสีส้มบริเวณสีข้าง ส่วนแย้ตัวเมียจะไม่มีแถบสีดำพาดสลับ และสีจะจางกว่า ส่วนกลางหลังของทั้งสองเพศจะมีสีเทา ส่วนหน้าท้องมีสีขาว โคนหางด้านข้างมีสีเหลือง แย้มีอัตราการเต้นของหัวใจประมาณ 82 ครั้ง/นาที

เพศแย้
แย้เพศผู้
– ลำตัวมีขนาดใหญ่ และยาวกว่าตัวเมีย
– พบอัณฑะ 2 คู่ บริเวณใกล้กับทวาร
– สีข้างลำตัวมีลายสลับของสีดำกับสีเหลืองหรือสีแสดเด่นชัด
– สีข้างลำตัวแผ่ และแบนออก
– บางชนิดมีสีม่วงประบริเวณริมฝีปาก และเท้า ซึ่งแย้ในภาคอีสานจะไม่มี

แย้เพศผู้

แย้เพศเมีย
– ลำตัวมีขนาดเล็ก และสั้นกว่าตัวผู้
– สีข้างลำตัวมีสีแสดอ่อน ไม่มีลายดำสลับ
– ลำตัวมีลักษณะค่อนข้างกลม สีข้างลำตัวกลม ไม่แผ่แบนออกด้านข้าง

แย้ตัวเมีย
แย้เพศเมีย

อาหาร และการหาอาหาร
อาหารของแย้ที่สำคัญ ได้แก่
– อาหารที่อยู่บนพื้นดิน กอหญ้าหรือต้นไม้ขนาดเล็ก เช่น มด และตั๊กแตน เป็นต้น ทั้งนี้
– อาหารที่ในดิน ซึ่งแย้จะขุดตามรูของสัตว์นั้น ซึ่งอาจเป็นรูจริงหรือรูร้าง เช่น จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง กิ้งกือ และด้วง เป็นต้น

การกินอาหารของแย้ แย้จะใช้ลิ้นตวัดอาหารเข้าปาก ก่อนจะเคี้ยว 4-6 ครั้ง แล้วกลืนเข้าท้อง

พฤติกรรมการหาอาหาร
ช่วงเวลาออกจากรูเพื่อหากินจะเริ่มเวลาประมาณ 08.00 ซึ่งวันนั้นจะต้องมีสภาพอากาศโปร่ง และมีแดดส่อง โดยจะใช้หัวโผล่ออกมาจากรูก่อน แล้วส่ายส่องไปรอบข้างเพื่อระวังตัว หากแน่ใจว่าไม่มีศัตรูแล้วจึงค่อยๆโผล่ทั้งตัวออกมาจากรู เมื่อออกจากรูแล้ว แย้จะยังไม่ไปห่างรู แต่จะอาบแดดบริเวณใกล้รูก่อน 5-15 นาที ก่อนจะวิ่งออกหากินห่างรู

แย้จะออกหาอาหารในพื้นที่ที่ห่างจากรูอาศัยในช่วง 1-15 เมตร โดยจะวิ่ง และหยุดหาอาหารเป็นช่วง ประมาณ 3-5 ครั้ง แต่ละครั้งมีระยะทางห่างกันประมาณ 4-9 เมตร

เมื่อออกหาอาหารแล้ว หากแดดร้อนอาจวิ่งเข้าหลบในรู แล้วค่อยออกมาอีกทีเมื่อแดดเริ่มอ่อน แต่หากมีร่มไม้หรือพุ่มไม้ใกล้ แย้ก็จะเข้าหลบตามพุ่มไม้เป็นพักๆ และจะกลับลงรูอีกครั้งในช่วงเย็นประมาณเวลา 16.00 น. พร้อมกับดันดินมาปิดปากรูไว้ แต่บางครั้งอาจไม่มีการปิดปากรูเหมือนกัน

การผสมพันธ์ และวางไข่
แย้จะมีช่วงฤดูผสมพันธุ์ และวางไข่ตั้งแต่เดือนมีนาคม-กันยายน แต่จะวางไข่มากในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน และมีการวางไข่บ้างบางตัวหลังจากช่วงนี้

การเกี้ยวพาราสีเพื่อการผสมพันธุ์จะเริ่มจากแย้ตัวผู้จะมองหารูของแย้ตัวเมีย ก่อนตัวผู้จะเริ่มวิ่งเป็นวงกลมทวนเข็มนาฬิกา โดยขณะวิ่งจะยกขาหลัง และขาหน้าข้างขวาขึ้น คล้ายกับเป็นการเต้นระบำ จนตัวเมียวิ่งโผล่ออกมาจากรู

เมื่อแย้ตัวเมียขึ้นมาจากรู แย้ตัวผู้จะวิ่งเป็นวงกลมรอบแย้ตัวเมียอีกครั้ง 10-15 นาที จนกว่าแย้ตัวเมียจะมีปฏิกิริยายอมรับตัวผู้ หลังจากนั้น ตัวผู้จึงขึ้นคร่อมบนหลัง พร้อมใช้ปากคาบบริเวณโคนหัวของแย้ตัวเมียไว้ ก่อนจะม้วนหางช้อนโคนหางของตัวเมียขึ้น แล้วทำการผสมพันธุ์ ซึ่งหลังขึ้นคร่อมจนผสมพันธุ์เสร็จจะใช้เวลาประมาณ 2-3 นาที ทั้งนี้ พฤติกรรมการเกี้ยวพาราสีจะพบมากในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม

ไข่ระยะแรกที่อยู่ในท้องแย้จะไม่มีหนังหุ้ม แต่เมื่อไข่ได้รับการผสมน้ำเชื้อแล้วจึงจะสร้างหนังหุ้มสีขาวขึ้นมา เมื่อไข่ออกมาแล้ว ไข่จะมีลักษณะยาวรี ยาวประมาณ 2.3 เซนติเมตร กว้างประมาณ 1.4 เซนติเมตร ทั้งนี้ แม่แย้จะวางไข่ในรู และดูแลลูกแย้ให้โตในระยะหนึ่งก่อน ก่อนลูกแย้จะออกจากรูแม่มาขุดรูอาศัยเอง ทั้งนี้ แย้ 1 ตัว จะวางไข่ครั้งละประมาณ 2-5 ฟอง

ศัตรูของแย้
ศัตรูของแย้ที่พบมาก ได้แก่ หมาบ้าน หมาป่า งู หนู และนกชนิดต่างๆ โดยเฉพาะนกกระปูด และเหยี่ยวที่ชอบจับแย้กินมาก นอกจากนั้น มนุษย์ถือเป็นมนุษย์สำคัญที่ส่งผลต่อประชากรของแย้มาก เพราะมีการจับมาประกอบอาหาร และจำหน่ายเป็นจำนวน โดยเฉพาะจังหวัดต่างๆในภาคอีสาน

เพิ่มเติมจาก 1) และ 2)

วิธีจับแย้
1. การขุดรู
การขุดรู เป็นวิธีจับแย้ที่ได้ผลมาก และนิยมมากที่สุด แต่มักจับไม่ได้หากแย้วิ่งออกรูฉุกเฉิน เพราะแย้สามารถวิ่งได้เร็ว โดยมีความเร็วต้นมากกว่าคนเรา แต่ทั้งนี้ การขุดตามรูจะได้มากได้น้อยขึ้นอยู่กับความชำนาญในการหารู และขึ้นอยู่กับว่าแย้อยู่ในรูไหม และมีความคล่องตัวในการจับมากน้อยเพียงใด ทั้งนี้ ขณะขุดรู ชาวบ้านมักมีเทคนิคด้วยการเกลี่ยดินอัดปิดรูสลับกับระหว่างการถากหน้าดินเป็นระยะเพื่อป้องกันแย้วิ่งสวนออกระหว่างการถากหน้าดิน

ลักษณะรูแย้
– รูมีลักษณะวงรี ขนาดตั้งแต่ 1-4 เซนติเมตร
– ขอบรูเรียบ ไม่มีเศษใบไม้หรือกิ่งไม้ปิดทับ โดยจะสังเกตได้ง่ายหลังวันฝนตก 1-2 วัน
– รูใหม่หรือขุดใหม่จะมีขุ๋ยดินอยู่หน้ารู
– รูมีความยาวตั้งแต่ 20-80 เซนติเมตร โดยมีลักษณะเฉียงลงประมาณ 30-45 องศา และขนาดรูที่กว้างที่สุดจะเป็นที่ตัวแย้พักอาศัย
– ปากรูในช่วงเย็นจะถูกปิดทับตื้นๆด้วยขุ๋ยดิน แต่จะยังเห็นขอบรูที่สังเกตได้
– แย้มีรูฉุกเฉินที่ห่างจากรูทางเข้าไม่เกิน 80 เซนติเมตร ซึ่งอาจเป็นทางแยกหรือเป็นปลายสุดในรูเดียว แต่ทางออกของรูฉุกเฉินนี้จะมองไม่เห็น เพราะแย้จะไม่ขุดรูฉุกเฉินให้เปิดออก แต่จะเหลือหน้าดินบางๆปิดทับไว้เท่านั้น ดังนั้น เพื่อความแน่ใจ ควรใช้การถากพื้นดินโดยรอบเพื่อหารูฉุกเฉินก่อนจะยิ่งดี
– เมื่อขุดไปเรื่อย หากใกล้ถึงจุดที่ตัวแย้อยู่จะสังเกตได้ว่ามีขุ๋ยดินมาปิดทับจนมองไม่เห็นรู แต่หากใช้นิ้วทิ่มลงจะรู้ว่าเป็นรูที่ถูกแย้ขุดมาปิด

รูแย้

การวิ่งไล่จับแย้
ในกรณีที่แย้วิ่งออกรู แย้จะพยายามวิ่งหาที่หลบภัย ได้แก่ รูแย้ตัวอื่น หรือ รูสัตว์อื่น รวมถึงโพรงไม้ กองไม้ พุ่มไม้รก ซึ่งจะต้องมีอีกคนคอยดักไว้ขณะที่อีกคนขุด ทั้งที่มีกองไม้ โพรงไม้หรือที่รกต่างๆ

2. การใช้หนังสะติ๊กหรือปืนอัดลม
การใช้หนังสะติ๊กหรือปืนอัดลม เป็นวิธีจับแย้ที่ได้ผลมากเช่นกัน แต่วิธีนี้จะได้แย้ตาย เพราะเกิดบาดแผลจากลูกหนังสะติ๊กหรือลูกปืนอัดลม แต่ปัจจุบัน หนังสะติ๊กจะไม่นิยมใช้แล้ว เพราะมีการประดิษฐ์ปืนอัดลมที่มีความแม่นมากกว่ามาแทน

การจับแย้ด้วยการใช้ปืนอัดลมจะออกจับในวันที่ฟ้าโปร่ง และมีแดดออกเท่านั้น เพราะลักษณะอากาศแบบนี้ แย้จะออกจากรูตลอดทั้งวัน โดยการจับแย้วิธีนี้ มักไปเป็นกลุ่ม 2-4 คน และมักจะออกล่าตามถนนรุรังตามหัวไร่ปลายนาที่เป็นทางสาธารณะ โดยแบ่งให้ 1 คน อยู่ในทางเดิน ส่วนอีก 2 คน เดินด้านข้างของแต่ละฝั่งทาง ซึ่งวิธีนี้ จะเป็นการไล่ต้อนแย้ให้จนมุมได้ดี และเมื่อแย้หยุดวิ่งจึงใช้ปืนอัดลมยิงเก็บแย้

ทั้งนี้ การใช้ปืนอัดลมถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ตำรวจสามารถยึดจับเป็นของกลางได้ เพราะถือเป็นอาวุธประดิษฐ์ แต่ทั่วไปแล้วถือเป็นการอนุโลม เพราะเป็นเครื่องมือหากินชนิดหนึ่ง

3. การดักแร้ว
การดักแร้ว เป็นวิธีจับแย้ที่ได้ผลเกือบ 100% หากแย้อยู่ในรูทุกตัว แต่มักไม่ใช้จับกัน เพราะเสียเวลาในการทำแร้วนาน และต้องใช้แร้วจำนวนมาก หากต้องการจับแย้ให้ได้มาก รวมถึงใช้เวลาในการจับนานกว่าวิธีอื่น

แร้ว เป็นเครื่องมือจับแย้ที่ทำจากไม้ไผ่ และท่อ PVC ขนาดประมาณ 1 นิ้ว ดังภาพด้านล่าง

การจับด้วยแร้วนั้น จะใช้แร้วเสียบใกล้กับปากรู โดยให้ท่อ PVC คลุมมิดปิดปากรูไว้ ซึ่งภายในท่อ PVC จะทำบ่วงคล้ายกับบ่วงในวิธีที่ 4 และมีแผ่นไม้ลั่นเชือกที่ปิดท่อเหนือปากรูไว้ เมื่อแย้ขึ้นมาจากรู หัวแย้จะโผล่ผ่านเข้าบ่วง และชนเข้ากับแผ่นไม้เพื่อที่ดันตัวเองออก เมื่อแผ่นไม้เคลื่อนจะเกิดการดีดตัวออกจากจุดยึด ทำให้เชือกดึงรัดบ่วงคล้องรัดคอแย้ไว้

อุปกรณ์ดักแย้

แร้ว

4. การดักบ่วง
การดักบ่วง เป็นวิธีจับแย้ที่ไม่ค่อยได้ผลนัก และไม่ค่อยใช้แล้วในปัจจุบัน โดยบ่วงจะทำขึ้นจากเชือกไนล่อนเส้นขนาดเล็กที่ปลายเชือกด้านหนึ่งจะผูกเป็นบ่วงแบบดึงรัดได้ ส่วนปลายเชือกอีกด้านจะผูกมัดไว้กับกิ่งไม้หรือหลัก โดยใช้บ่วงวางครอบไว้ปากรูในขนาดบ่วงที่เล็กกว่าขนาดรูเล็กน้อย หากแย้ติดบ่วงก็มักจะติดบริเวณลำคอหรือกลางลำตัว ทำให้แย้ไม่สามารถหนีได้

5. การเป่าลม
การเป่าลม เป็นวิธีที่จับแย้ได้ผลน้อย เพราะมักทำให้แย้วิ่งออกทางฉุกเฉิน (แปว) ก่อน จนทำให้จับแย้ไม่ทัน และค่อนข้างเสียเวลาในการจับ การเป่าลมนี้จะใช้สูบลมสูบเป่าเข้ารูแย้ ซึ่งจะต้องปิดปากรูให้มิด ไม่ให้ลมดันออกด้านข้าง จากนั้น โยกกระบอกสูบเพื่อให้ลมดันเข้ารูแย้ เมื่อสูบแล้ว ลมจะดันปากรูออกฉุกเฉินให้เปิดขึ้น ซึ่งมักจะทำให้แย้วิ่งออกมาด้วย ดังนั้น หากใช้มือเปล่าจับจะต้องจับให้ทัน แต่ทั้งนี้ อาจใช้ตาข่ายปูคลุมรอบรูแย้ในทิศที่คาดว่ารูฉุกเฉินจะขึ้น ซึ่งจะช่วยให้จับแย้ได้ง่ายขึ้น

วิธีทำก้อยแย้
ก้อยแย้ถือเป็นเมนูแย้ที่นิยมทำมากที่สุดคู่กับเมนูแย้หมก เนื่องจาก เนื้อแย้ให้รสหอม มีรสเปรี้ยวของมะม่วงหรือมะนาว มีรสเผ็ดของพริก และกลมกล่อมด้วยเครื่องปรุง

ส่วนประกอบ และเครื่องปรุง
1. แย้ปิ้งที่เอาเครื่องไนออกแล้ว
2. หอมแดง 3 หัว
3. กระเทียม 1 หัว
4. ผักหอม 2 ต้น
5. มะม่วงเปรี้ยวสับเป็นฝอย 2 หยิบมือ
6. พริกป่น 2 ช้อน
7. ผงชูรส 1 ช้อน
8. น้ำปลาหรือน้ำปลาร้า 1 ช้อน

วิธีทำ
1. นำแย้ที่จับได้มาปิ้งไฟให้ท้องบวม ก่อนจะนำออกมาผ่าควักเครื่องไนออก โดยให้เหลือตับหรือไข่ไว้ ทั้งนี้ บางพื้นที่อาจนิยมถลกหนังแย้ออก และตามด้วยควักเครื่องไน แต่การปิ้งก่อนจะช่วยให้เอาเครื่องไนออกได้ง่าย และเปื้อนมือน้อยกว่า

ปิ้งแย้

2. นำแย้ที่ควักเครื่องไนออกแล้วไปย่างไฟต่อให้สุก ทั้งนี้ ระวังหย่าให้สุกมากจนแห้งกรอบ เพราะเวลาสับมักทำให้ชิ้นแย้กระเด็นลงพื้นได้ง่าย
3. สับแย้ให้เป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเตรียมใส่จานไว้
4. ตำมะม่วง หอมแดง กระเทียม และผักหอมให้ละเอียด ก่อนนำแย้ที่สับแล้ว และพริกป่นลงตำคลุกให้ละเอียด และคลุกผสมให้เข้ากัน
5. เติมผงชูรส และน้ำปลา พร้อมตำคลุกให้เข้ากัน

ทั้งนี้ หากไม่เปรี้ยว หรือรสไม่จัด ให้เติมส่วนผสมลงเพิ่มตามรสที่ต้องการ

ก้อยแย้
ขอบคุณภาพจาก pantip.com, www.thongthailand.com, www.thaidphoto.com, http://2013.gun.in.th

เอกสารอ้างอิง
1) โรจน์ชัย ศัตรวาหา และชรินทร์ คูคู่สมุทร, 2528. รายงานวิจัยเรื่องการแพร่กระจายและโครงสร้างทางประชากรของแย้.
2) โรจน์ชัย ศัตรวาหา และไพรัช ทาบสีแพร . 2525. รายงานวิจัยเรื่องนิเวศวิทยาและวงศ์ชีพของแย้.