แมลงหวี่ และแมลงหวี่ขาว

22860

แมลงหวี่ เป็นแมลงขนาดเล็ก มีมากกว่า 1500 ชนิด บางชนิดอาศัยตามบริเวณที่มีเศษอาหาร และอยู่ใกล้ชิดกับมนุษย์ และเป็นชนิดที่นำใช้ในการศึกษาทางพันธุศาสตร์ บางชนิดอาศัยในแปลงเกษตรสร้างความเสียหายแก่พืชพรรณ

แมลงหวี่สีดำหรือแมลงหวี่สีน้ำตาล (Drosophila melanogaster)
เป็นชนิดแมลงหวี่ที่อาศัยใกล้ชิดกับมนุษย์ ลำตัวมีสีดำหรือสีน้ำตาล ปีกบางใส มีตาสีแดงส้ม ชอบอาศัยตามแหล่งเศษอาหาร เศษพืชผัก ผลไม้ เป็นแมลงหวี่ที่ถูกใช้เพื่อการศึกษาทางพันธุ์ศาสตร์

อนุกรมวิธาน
• Phylum : Arthropoda
• Class : Insecta
• Order : Diptera
• Superfamily : Drosophilidae
• Famaly : DROSOPHILA
• Species : Drosophila melanogaster

Drosophila

แมลงหวี่ถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลองทางด้านพันธุศาสตร์ ครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ. 1910 โดย Thomas Hunt Morgan ที่นำแมลงหวี่มาเลี้ยงในห้องปฏิบัติการเพื่อศึกษาตำแหน่งของยีนบนโครโมโซม ต่างๆ โดยการศึกษาลักษณะการถ่ายทอดพันธุกรรมต่างๆ อาทิ ตา และปีก สาเหตุที่นิยมใช้แมลงหวี่ทางด้านพันธุศาสตร์ เนื่องจากเป็นแมลงที่มีขนาดเล็ก มีวงจรชีวิตสั้น ให้ลูกมาก จำนวนโครโมโซมน้อย เลี้ยงง่าย และเลี้ยงในพื้นที่จำกัดได้ดี

โครโมโซมแมลงหวี่
แมลงหวี่ มีโครโมโซม 4 คู่ โครโมโซมคู่ที่ 1 เป็นโครโมโซมเพศ แบ่งเป็นเพศเมีย XX และเพศ XY โดยโครโมโซม X มีรูปร่างเป็นแบบสับเมตาเซนทริก (submetacentric) มีขนาดใหญ่ ส่วนโครโมโซม Y มีรูปร่างแบบสับเมตาเซนทริก (submetacentric) มีขนาดเล็ก และบนโครโมโซม Y ส่วนใหญ่เป็นเฮเทอโรโครมาทิน (heterochromatin) ดังนั้น บนโครโมโซม Y จึงมียีนน้อย ส่วนโครโมโซมที่เหลือจะเป็นโครโมโซมร่างกาย (autosomal chromosome) โดยโครโมโซมคู่ที่ 2 และ 3 มีรูปร่างเป็นแบบเมตาเซนทริก (metacentric) ขนาดใหญ่ ขณะที่โครโมโซมคู่ที่ 4 เป็นแบบอโครเซนทริก (acrocentric) และมีขนาดเล็ก (Rubin, 1988)(3)

วงจรชีวิตแมลงหวี่
1. ระยะไข่
ไข่มีรูปร่างรีหุ้มด้วยเยื่อบางๆ แต่แข็ง เรียกว่า รก (chorion) มีก้านยื่นออกมาด้านหน้า เรียกว่า ฟิลาเมนต์ (filament) ทำหน้าที่พยุงไข่ไม่ให้จมลงในอาหาร แมลงตัวเมียจะเริ่มวางไข่หลังออกจากดักแด้ 2 วันซึ่งสามารถวางไข่จำนวนสูงสุดถึง 400-500 ฟอง ในช่วงระยะเวลา 10 วัน

2. ระยะตัวหนอน
ไข่ปฏิสนธิแล้วจะพัฒนาไปเป็นตัวหนอนใช้เวลา 1 วัน ตัวหนอนมีสีขาว ลำตัวเป็นปล้อง มีส่วนปากเป็นสีดำ ผิวหนังประกอบด้วยชั้นของคิวตินจึงยืดหยุ่นไม่ได้ ตัวหนอนจะออกจากไข่ ในระยะที่เป็นตัวหนอน และมีการลอกคราบ 2 ครั้งเพื่อขยายขนาด แบ่งเป็น 3 ช่วง คือ
– หนอนระยะที่ 1 ตั้งแต่ออกจากไข่จนลอกคราบครั้งที่ 1
– หนอนระยะที่ 2 ตั้งแต่ตัวหนอนออกจากคราบครั้งที่ 1 จนถึงตัวหนอนลอกคราบครั้งที่ 2
– หนอนระยะที่ 3 ตั้งแต่ตัวหนอนออกจากคราบครั้งที่ 2 จนกระทั้งเข้าดักแด้ ใช้เวลาทั้งหมด 4 วัน

3. ระยะดักแด้
เมื่อตัวหนอนจะเข้าดักแด้ ตัวหนอนจะคลานไปอยู่ที่แห้งๆ รูปร่างของตัวหนอนจะหดสั้นลง ผนังลำตัวจะแข็งขึ้นกลายเป็นดักแด้ จากนั้นจะมีการพัฒนาอวัยวะต่างๆ อาทิ ตา ปีก ขา ใช้เวลาในการเข้าดักแด้อีก 4 วันจึงเจริญเป็นตัวเต็มวัย

4. ระยะตัวเต็มวัย
เมื่ออวัยวะต่างๆ พัฒนาจนสมบูรณ์แล้ว แมลงก็จะออกมาจากคราบดักแด้ทางปลายด้านหน้า แมลงที่ออกมาใหม่ๆ ลำตัวจะมีสีอ่อน ปีกยังไม่แผ่ และส่วนท้องค่อนข้างยาว เมื่อโตเต็มที่ลำตัวจะมีสีน้ำตาลหรือสีดำ ปีกใส ส่วนท้องมีลายคาดสีดำ ตามีสีแดงส้ม แมลงหวี่สามารถพร้อมผสมพันธุ์หลังออกจากดักแด้แล้ว 10 ชั่วโมง แมลงหวี่ตัวเมียจะวางไข่หลังจากออกจากดักแด้ 2 วัน โดยตัวเมียสามารถวางไข่ได้ 700 ใบ ในช่วงอายุขัย แมลงหวี่มีอายุขัยประมาณ 4 สัปดาห์ แมลงตัวเมียสามารถผสมพันธุ์กับตัวผู้ได้มากกว่า 1 ตัว และสามารถเก็บน้ำเชื้อที่ได้จากการผสมหลายๆครั้งได้

การขยายพันธุ์ของแมลงหวี่เกิดจากแมลงเพศผู้จับคู่ผสมพันธุ์และถ่ายทอดน้ำเชื้อให้กับแมลงเพศเมีย จากนั้นน้ำเชื้อจะรอคอยเวลาที่จะเข้าผสมกับไข่ที่สุกเต็มที่และเจริญเติบโต ต่อไปจนกลายเป็นเป็นแมลงตัวเต็มวัย ส่วนอาหารของแมลงหวี่จะเป็นเศษอาหาร ผักหรือผลไม้ชนิดต่างๆ โดยใช้ปากดูดกินน้ำจากเศษอาหาร

Drosophila1

แมลงหวี่ขาว
แมลงหวี่ขาว เป็นชนิดแมลงหวี่ที่พบระบาด และสร้างความเสียหายมากแก่การเกษตรในประเทศไทย แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ


ขอบคุณภาพจาก sarracenia.com

1. แมลงหวี่ขาวโรงเรือน
ชื่อสามัญ : Greenhouse whitefly, Tea whitefly
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Trialeurodes vaporariorum
ชื่อท้องถิ่น : แมลงหวี่ขาวโรงเรือน/แมลงหวี่ขาวชา
อันดับ : Hemiptera
วงศ์ : Aleyrodidae

แมลงหวี่ขาวโรงเรือนมีการแพร่กระจายไปทั่วโลกโดยเฉพาะใน เขตร้อนและเขตกึ่งร้อนหรือในพืชปลูกสภาพโรงเรือน โดยทั้งตัวอ่อนและตัวเต็มวัยดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชโดยตรงทำให้พืชเกิดอาการ ผิดปกติต่าง ๆ นอกจากนั้นยังทำให้พืชผลสกปรก เนื่องจากขณะดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืชถ่ายออกมาเป็นของเหลวใสและเหนียว ทำให้เกิดเชื้อราดำขึ้นบนของเหลวที่แมลงหวี่ขาวถ่ายไว้ หรือบางครั้งเมื่อมีแมลงหวี่ขาวลงทำลายมากๆ ของเหลวที่ถูกขับถ่ายออกมาหยดลงบนพืชหรือส่วนของพืชที่อยู่ด้านล่างทำให้มี ราดำขึ้น ผลผลิตสกปรก นอกจากนั้นแมลงหวี่ขาวยังเป็นพาหะนำโรคไวรัสมาสู่ต้นพืช

แมลงหวี่ขาวโรงเรือนใช้เวลาประมาณ 25 – 30 วัน ตั้งระยะไข่จนถึงตัวเต็มวัย ที่อุณหภูมิ 21 องศาเซลเซียส โดยแมลงหวี่ขาวโรงเรือนเพศเมียเมื่อผสมพันธุ์มักพบวางไข่ใต้ใบพืชเป็นรูปวงกลม มีสีเหลืองอ่อนเมื่อวางใหม่ และเปลี่ยนเป็นสีม่วงเทาเมื่อใกล้ฟัก

หลังจากฟักออกจากไข่ตัวอ่อนแมลงหวี่ขาวโรงเรือนมีลักษณะแผ่นบางรูปไข่ ขนาด 0.3 มิลลิเมตร สามารถเคลื่อนที่ได้ ตัวอ่อนในระยะ 2-3 มีลักษณะแบนใสติดกับใบพืชไม่เคลื่อนที่ ตัวอ่อนระยะที่ 4 มีขนาด 0.75 มิลลิเมตร ลักษณะรูปร่างนูนตั้งขึ้นจากใบพืช ด้านบนลำตัวพบเส้นขนปกคลุมเห็นตาสีแดงชัดเจน มีการหยุดดูดกินน้ำเลี้ยงจากพืช ส่วนตัวเต็มวัยของแมลงหวี่ขาวมีขนาด 1.0-2.0 มิลลิเมตร ลำตัวสีเหลือง มีปีกสองคู่ขนาดของปีกทั้งสองคู่มีขนาดเท่ากันปกคลุมด้วยผงแป้ง ในขณะที่หยุดนิ่งบนใบพืชปีกทั้งสองคู่แนบสนิทกัน (สิริญา คัมภิโร, 2554)(1)

2. แมลงหวี่ฝ้าย/ยาสูบ ชื่อสามัญ cotton whitefly/tobacco whitefly มีชื่อวิทยาศาสตร์ Bemisia tabaci

แมลงหวี่ขาวฝ้ายหรือแมลงหวี่ขาวยาสูบ เป็นแมลงศัตรูพืชที่ชอบดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบพืช ทำให้ใบพืชเป็นจุดสีเหลือง ใบหยิกงอ และเหี่ยวร่วง พบระบาดมากในต้นยาสูบ ฝ้าย และพืชตระกูลถั่ว

แมลงหวี่ขาวฝ้ายมีวงจรชีวิตตั้งแต่ระยะไข่ถึงตัวเต็มวัยประมาณ 40 วัน จากระยะไข่ถึงตัวเต็มวัยแบ่งเป็น 5 ระยะ คือ
– ระยะไข่ ประมาณ 8 วัน
– ตัวอ่อนระยะที่ 1 ประมาณ 5-7 วัน
– ตัวอ่อนระยะที่ 2 ประมาณ 3-5 วัน
– ตัวอ่อนระยะที่ 3 ประมาณ 3-6 วัน
– ตัวอ่อนระยะที่  หรือระยะดักแด้ ประมาณ 5-7 วัน

การวางไข่ เพศเมียจะวางไข่ใต้ใบพืช เป็นฟองเดี่ยวในลักษณะเรียงเป็นวงกลม บริเวณฐานไข่มีก้านยึดติดกับใบพืช ไข่มีลักษณะสีส้มอ่อน ใส และมันวาว และมีสีเข้มขึ้นตามอายุ ขนาดไข่ยาวประมาณ 0.2 มม. กว้างประมาณ 0.1 มม.

ตัวอ่อนมี 4 ระยะได้แก่
– ระยะที่ 1 ตัวอ่อนมีรูปร่างค่อนข้างกลม มีลักษณะคล้ายเกล็ดปลา มีหนวด ขา และตาขนาดเล็ก
– ระยะที่ 2-4 เป็นระยะที่ขา และหนวดหดสั้น ไม่มีการเคลื่อนที่ ลำตัวมีสีเขียวถึงเหลือง โดยในระยะที่ 4 ตัวอ่อนจะเริ่มเข้าดักแด้ ระยะนี้ ลำตัวจะมีสีเหลือง นัยตาสีแดง ลำตัวรูปร่างกลมแบน

ตัวเต็มวัยจะเริ่มจากการฟักออกจากดักแด้ ลำตัวจะมีสีเหลือง มีปีก 2 คู่ ปีกด้านบนมีลักษณะสีขาวส่วนปากจะเป็นแบบดูด ใช้ดูดกินน้ำหวานจากผลไม้ เพศเมียวางไข่ได้ครั้งละ 70-300 ฟอง

เอกสารอ้างอิง
4