แมลงวัน และแมลงวันบ้าน

28375

แมลงวัน (Flies) จัดเป็นแมลงศัตรูสำคัญอีกชนิดหนึ่งของมนุษย์ และสัตว์เลี้ยง เนื่องด้วยสามารถก่อความรำคาญ และเป็นพาหะนำโรคหลายชนิดที่ติดต่อสู่คน และสัตว์ เช่น โรคท้องร่วง บิด และไข้รากสาดน้อย เป็นต้น แมลงวันที่พบเกี่ยวข้องกับมนุษย์ และสัตว์มากที่สุดคือ แมลงวันบ้าน

แมลงวันที่พบเกี่ยวข้องกับคน และสัตว์มาก ในประเทศไทยมี 4 ชนิด ได้แก่
1. แมลงวันบ้าน (House Fly; Musca domestica)
เป็นแมลงวันที่พบมากที่สุด มีมากถึงร้อยละ 83 ของแมลงวันทั้งหมด พบได้ทั่วไปตามบ้านเรือน กองขยะ เศษอาหาร ซากศัตว์ โดยเฉพาะบริเวณที่มีเศษอาหารหรือซากสัตว์เน่า

2. แมลงวันหัวเขียว (Blow fly; Chrysomya megacephala)
แมลงวันหัวเขียว มี 2 พันธุ์ คือ แมลงวันหัวเขียวที่มีลำตัวสีเขียว เงาแวววาว เรียกว่า Greenbottle fly (Chrysomyia spp.) และแมลงวันหัวเขียวที่มีลำตัวเป็นสีน้ำเงินเงาแวววาว เรียกว่า Blue bottle fly (Calliphora spp.)

3. แมลงวันหลังลาย (Flesh Fly; Sacrophaga sp.)

4. แมลงวันดูดเลือด (Stomoxys spp.)
เป็นแมลงวันที่พฤติกรรมการกินอาหารแตกต่างไปจากชนิดอื่นๆ คือ นอกจากจะกินอาหารจากแหล่งอาหารเน่าหรือซากสัตว์แล้ว ยังมีพฤติกรรมการดูดเลือดจากคน และสัตว์

แมลงวันบ้าน (House Fly)

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Musca domestica
ชื่อสามัญ : House Fly
Phylum : Arthropoda
Class : Insecta
Order : Diptera
Suborder : Cyclorrhapha
Family : Muscidea
Genus : Musca
Species : Musca domestica

ลักษณะทั่วไป
แมลงวันบ้าน เป็นแมลงขนาดเล็ก ประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง มีขา 6 ขา อยู่บริเวณต้นส่วนอก 1 คู่ และบริเวณท้ายส่วนอก 2 คู่ มีปากแบบดูดซับหรือแตะดูด ลำตัวมีสีเทา มีขนาดเล็กกว่าแมลงวันหัวเขียว มีความยาวประมาณ 6 – 9 มิลลิเมตร มีแถบดำเป็นลายกับสีเทาบริเวณด้านบนส่วนอก 4 แถบ ตามแนวยาวของลำตัว ทั่วลำตัวมีขนขนาดเล็กสีเทาดำจำนวนมาก ปีกจะอยู่ด้านข้างลำตัวบริเวณส่วนอก ปีกมีลักษณะเป็นเยื่อใส มีโครงร่างยึดเป็นร่างแหเส้นสีดำ ตามีสีแดงเข้ม เพศผู้มีตาชิดกันมากกว่าเพศเมีย

Flies

วงจรชีวิตแมลงวัน
1. ระยะไข่ (Eggs)
ไข่แมลงวันจะมีลักษณะเรียวยาว สีขาวขุ่นหรือสีครีม คล้ายผลกล้วย ยาวประมาณ 1 – 1.2 มิลลิเมตร ชอบวางไข่บนสิ่งขับถ่าย มูลสัตว์ ซากสัตว์ อาหารเน่าเปื่อย หรือสิ่งปฏิกูลที่มีความชื้นสูง หากความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 90 ไข่จะฝ่อตายสูง ไข่จะเจริญบนสิ่งปฏิกูลจนฝักเป็นตัวอ่อน ใช้เวลาประมาณ 6 – 8 ชั่วโมง หลังการวางไข่ ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นสำคัญ ไข่จะฝ่อตายหรือหยุดการเติบโตในอุณหภูมิต่ำกว่า 8 องศาเซลเซียส หรือมีอุณหภูมิมากกว่า 42 องศาเซลเซียส

2. ระยะตัวหนอน ( Larva )
แมลงวันมีระยะตัวอ่อนหรือระยะตัวหนอน 3 ระยะ มีการเปลี่ยนในระยะต่างๆด้วยการลอกคราบ ระยะที่ 1 และ 2 ตัวหนอนมีความยาวประมาณ 3 – 5 มิลลิเมตร และระยะที่ 3 ยาวประมาณ 5 – 13 มิลลิเมตร ตัวหนอนมีลักษณะกลมยาว คล้ายเม็ดข้าวสาร หัวค่อนข้างแบน ท้ายตัวกลม ไม่มีระยางค์ มีปากคล้ายตะขอที่แข็งแรง ทำหน้าที่ดูด และกัดกินอาหาร

ตัวหนอนระยะที่ 1 ถึงต้นระยะที่ 3 มีลำตัวค่อนข้างใส สีลำตัวจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองก่อนจะเข้าดักแด้ อาศัยตามสิ่งปฏิกูลหรือเศษซากที่เน่าเปื่อย ไม่ชอบแสง รวมกันเป็นกลุ่ม อาหารของตัวหนอน ได้แก่ แบคทีเรีย ยีสต์ เศษสิ่งปฏิกูลที่เป็นของเหลวไหลออกมาจากการเน่าสลาย

ตัวหนอนระยะที่ 3 ระยะหลังๆ ก่อนเข้าสู่วัยดักแด้จะหยุดกินอาหาร ชอบอุณหภูมิต่ำ ประมาณ 15-20 องศาเซลเซียส และความชื้นน้อย มักไต่ออกจากแหล่งอาศัยเพื่อหาที่มีอากาศเย็น และแห้งกว่า เช่น ฝังตัวตามดิน ใต้กองขยะ จึงทำให้เห็นดักแด้แมลงวันเป็นกลุ่มในแหล่งเดียว หากเป็นกองขยะมักพบตัวหนอนที่ความลึกไม่เกิน 15 เซนติเมตร เพราะใต้กองขยะลึกๆ ซึ่งเกิดการหมักจะมีอุณหภูมิสูง

Flies3

3. ดักแด้ (Pupa)
เมื่อตัวหนอนระยะ 3 ตอนปลายพร้อมที่จะเป็นตัวดักแด้ ผิวหนังจะเริ่มแข็ง และจะเริ่มเปลี่ยนแปลงรูปร่างคล้ายถังหมักเบียร์ ผนังระยะแรกจะนิ่มมีสีขาวหรือเหลืองอ่อนในเวลา 1 – 2 ชั่วโมง หลังจากนั้นจะค่อยๆ เปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อนและเป็นสีน้ำตาลเข้มเกือบกลายเป็นสีดำ เมื่อผนังแข็งตัวมากขึ้น (การเปลี่ยนในระยะเวลา 24 ชั่วโมง หรือ 1 วัน) ในเปลือกหุ้มจะมีตัวหนอนระยะที่ 4 ซึ่งมีขนาดสั้นลง หลังจากนั้นก็จะเจริญพัฒนาเป็นดักแด้หรือตัวโม่ง

การเจริญเติบโตจากดักแด้เป็นตัวเต็มวัยขึ้นอยู่กับความชื้นและอุณหภูมิ ในสภาพความชื้นร้อยละ 90 และอุณหภูมิระหว่าง 35 – 40 องศาเซลเซียส จะใช้เวลา 3 – 4 วัน ระยะดักแด้สามารถทนต่อภาวะความชื้นต่ำได้ดีกว่าตัวหนอน แต่หากความชื้นต่ำกว่าร้อยละ 75 จะทำให้ตัวดักแด้ตายและอัตราการอยู่รอดเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัยน้อยกว่าร้อยละ 40 อุณหภูมิที่สูงกว่า 45 องศาเซลเซียส มีผลทำให้ตัวดักแด้ตายเช่นเดียวกับตัวหนอน แต่หากอุณหภูมิต่ำกว่า 12 องศาเซลเซียส ดักแด้จะไม่เจริญเติบโต

4. แมลงวันตัวเต็มวัย (Adult )
เมื่อดักแด้ในผนังห่อหุ้มเจริญเติบโตเต็มที่ มันจะเจาะทะลุผนังห่อหุ้มส่วนหน้าออกอย่างรวดเร็ว แล้วมาเกาะพักประมาณ 0.5 – 1.5 ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น ดังนั้นสถานที่ที่แมลงวันเกาะพักในระยะแรกที่ไม่สามารถบินได้ จึงเป็นแหล่งที่มีความสำคัญในการควบคุม แมลงวันที่เกิดใหม่ๆที่ยังบินไม่ได้นั้นจะมีนิสัยที่สำคัญ 2 ประการคือ มักไม่ชอบแสงและพยายามเคลื่อนที่ตัวขึ้นที่สูง ดังนั้นเมื่อมันเกิดใหม่จะพยายามเข้าหาที่มืดเสมอ และลักษณะการเกาะพักจะเอาส่วนหัวลง แมลงวันจะเริ่มกินอาหาร และสามารถบินไปมาได้ ในเวลาระหว่าง 2 – 24 ชั่วโมง หลังจากมันออกจากผนังดักแด้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ

Flies1

การดำรงชีวิต
1. การผสมพันธุ์ (Mating)
ในสภาพที่อุณหภูมิเหมาะสม แมลงวันตัวผู้จะผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 1 วัน (หรือมากกว่า 18 ชั่วโมง) แมลงวันตัวเมียจะสามารถผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุมากกว่า 1 วัน (ประมาณ 30 ชั่วโมง) สิ่งที่กระตุ้นให้แมลงวันผสมพันธุ์ ได้แก่ การมองเห็น นอกจากนั้นการกระตุ้นจากฟีโรโมน (Pheromone) ก็มีส่วนสำคัญในระยะหลังได้มีการพบฟีโรโมนมูสคาเลอ (Muscalure) ซึ่งผลิตจากแมลงวันตัวเมีย มีส่วนดึงดูดแมลงวันตัวผู้ให้มาผสมพันธุ์ นอกจากนั้นยังมีผู้พบฮอร์โมนจากตัวผู้ ช่วยทำให้แมลงวันตัวผู้และตัวเมียมารวมกัน แต่พบว่าไม่ได้มีผลกับการผสมพันธุ์มากนัก ตามปกติตัวเมียจะผสมพันธุ์เพียงครั้งเดียว จากนั้นเชื้อตัวผู้จะถูกเก็บไว้ในถุงเก็บน้ำเชื้อ (Spermatheca) ของตัวเมีย เชื้อตัวผู้จะสามารถผสมไข่ได้นาน 3 อาทิตย์หรือมากกว่านั้น

Flies4

2. การวางไข่ (Oviposition)
แมลงวันตัวเมียจะสามารถวางไข่ได้เร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับอุณหภูมิเป็นสำคัญ การวางไข่จะใช้เวลาน้อยที่สุด 1.8 วันในที่อุณหภูมิ 35 องศาเซลเซียส และใช้เวลา 9 วันในที่อุณหภูมิ 15 องศาเซลเซียส โดยทั่วไปแมลงวันจะไม่วางไข่เมื่ออุณหภูมิต่ำกว่า 15 องศาเซลเซียส ตัวเมียชอบวางไข่ในแหล่งที่มีอาหารสมบูรณ์ มีกลิ่นของเสีย และสิ่งปฏิกูลต่างๆเป็นสิ่งดึงดูดให้แมลงวันมาวางไข่ โดยเฉพาะกลิ่นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แอมโมเนีย และกลิ่นเหม็นอื่นๆจากสิ่งปฏิกูล แมลงวันจะวางไข่ไว้ใต้พื้นผิวที่มีร่มเงาหรือส่วนที่ไม่สัมผัสกับแสงแดด ทั้งนี้เพื่อป้องกันความร้อน ความแห้ง ซึ่งจะมีผลต่อการเจริญเติบโตเป็นตัวหนอน

ปกติแมลงวันจะออกไข่ครั้งละประมาณ 120 ฟอง (หากไม่มีสิ่งรบกวน) แมลงวันตัวหนึ่งจะวางไข่เป็นกลุ่มในที่เดียว และจะพบเสมอว่าแมลงวันจำนวนมากจะเลือกวางไข่ในแหล่งเดียวกัน การศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าแมลงวันตัวเมียสามารถวางไข่เฉลี่ย 10 ครั้ง หรือมากกว่านี้ แต่ในธรรมชาติแม้จะมีสภาพที่เหมาะสม แมลงวันจะวางไข่ได้เพียง 1 หรือ 2 ครั้งเท่านั้น เนื่องจากแมลงวันในธรรมชาติจะมีอายุสั้นกว่าในห้องปฏิบัติการมาก

3. อายุขัยแมลงวัน (Longevity)
ได้มีผู้ศึกษาในต่างประเทศพบว่าร้อยละ 50 ของแมลงวันที่เกิดจะตายในระยะ 3 – 6 วันแรก และมีจำนวนน้อยมากที่จะมีอายุยืนยาวถึง 8 – 10 วัน ดังนั้นจึงพอสรุปได้ว่าแมลงวันมีอายุสั้น แต่จากการศึกษาในห้องปฏิบัติการพบว่าแมลงวันตัวผู้มีอายุไขเฉลี่ยประมาณ 17 วัน ตัวเมียอายุประมาณ 29 วัน (ที่อุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียสและความชื้นสัมพัทธ์ร้อยละ 45 ) ดังนั้นเพื่อความสมบูรณ์ในการควบคุมแมลงวันจึงควรถืออายุขัยของแมลงวันเป็นประมาณ 3 – 4 อาทิตย์ การที่แมลงวันมีอายุขัยเฉลี่ยสั้น และส่วนใหญ่จะตายไปก่อนที่จะมีการวางไข่ขยายพันธุ์ก็มีส่วนสำคัญในการดำเนินการควบคุม โดยคาดว่าจะมีจำนวนแมลงวันไม่มากนักที่จะสามารถวางไข่ได้เกินกว่า 2 – 3 ครั้ง การที่แมลงวันมีอายุขัยสั้นอาจเป็นผลจากเชื้อราบางชนิด เช่น Entomophthora muscae เป็นต้น นอกจากนั้นยังพบว่าลักษณะโรงเรือนเลี้ยงสัตว์ ความชื้น อุณหภูมิ และฤดูกาลก็มีส่วนสำคัญที่ทำให้แมลงวันมีอายุขัยสั้น

4. ที่อยู่อาศัย และแหล่งเพาะพันธุ์
แมลงวันมักจะเลือกวางไข่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของหนอนแมลงวัน คือ มีอาหารสำหรับตัวหนอน และมีความชื้นที่เหมาะสม ซึ่งส่วนใหญ่ เช่น กองขยะมูลสัตว์ เศษอาหาร ซากสัตว์ เศษผักผลไม้เน่าเสียที่มีสารอินทรีย์ ตะกอนน้ำโสโครก ส้วมหลุม เป็นต้น มักพบแมลงวันมากบริเวณฟาร์มเลี้ยงสัตว์ กองขยะในตลาดสด กองขยะของชุมชน ดังนั้นในระยะที่เป็นไข่และตัวหนอนนั้นจะพบได้ในสถานที่ชื้นแฉะและมีอาหาร ดังที่กล่าวข้างต้น ส่วนระยะตัวโม่งมักจะอาศัยอยู่ตามพื้นดินที่แห้ง และระยะตัวแก่มักชอบอยู่อาศัยในที่อบอุ่น ร่ม และใกล้แหล่งอาหาร เช่น บ้านคน คอกสัตว์ พุ่มไม้ สายไฟฟ้าหรือวัตถุที่ห้อยแขวนลักษณะเป็นเส้นๆ เป็นต้น แมลงวันตัวแก่สามารถบินได้ไกล 9 – 10 กิโลเมตร ในเวลา 24 ชั่วโมง ฉะนั้นในการควบคุมกำจัดแมลงวันจึงต้องดำเนินการให้เหมาะสมตามแต่สถานที่ เช่น ถ้ากำจัดหนอนต้องไปกำจัดบริเวณกองขยะ ถ้ากำจัดตัวแก่ต้องกำจัดบริเวณที่เกาะพักของมัน เป็นต้น แมลงวันหัวเขียวจะตอมอาหารพวกปลา ผลไม้ ทุเรียน มะม่วงเพื่อแพร่พันธุ์ แมลงวันลายเสือจะแพร่พันธุ์เป็นระยะตัวหนอนตามเนื้อสัตว์ เช่นแหล่งที่ทำเนื้อเค็ม ปลาเค็ม เป็นต้น ส่วนแมลงวันดูดเลือดแพร่พันธุ์ตามคอกสัตว์

5. แหล่งอาหาร
แมลงวันชอบกินอาหารได้แทบทุกชนิดที่เป็นทั้งของสด และสิ่งบูดเน่า โดยเฉพาะสิ่งบูดเน่าต่างๆ เช่น ผลไม้เน่า ซากสัตว์เน่า เศษอาหาร ขนมหวาน น้ำตาล เนื่องจากแหล่งอาหารเหล่านี้มีการย่อยสลาย และมีสารน้ำต่างๆไหลออกมา ทำให้ง่ายต่อการดูดกิน เช่น น้ำหวาน น้ำเหลือง น้ำเลือด เป็นต้น

การกินอาหารของแมลงวัน หากเป็นอาหารเหลว แมลงวันจะใช้ปากดูดกลืนอาหารเข้าปากโดยตรง ส่วนอาหารของแข็ง แมลงวันจะปล่อยน้ำลายใช้ย่อยอาหาร แล้วดูดกินกลับเข้าไป

6. เวลาออกหากิน
แมลงวันออกหากินเวลากลางวัน ฉะนั้นจะพบแมลงวันตามแหล่งอาหารในเวลากลางวัน ส่วนกลางคืนจะพักผ่อน เช่น เกาะพักตามพุ่มไม้ รั้วคอกสัตว์ ผนังอาคารบ้านเรือน ตามสายไฟ ตามซอกฝา ซอกเพดาน เป็นต้น จากการที่ทราบว่า เวลากลางวันแมลงวันอยู่ที่ใด และเวลากลางคืนมันเกาะพักที่ใดนั้นมีประโยชน์ในการวางแผนการควบคุมแมลงวัน โดยใช้สารเคมีกำจัดแมลงวันชนิดที่ผลตกค้างพ่นตามที่เกาะพักของแมลงวัน

7. แสงสว่าง
แมลงวันมีนิสัยชอบแสงสว่าง จากการที่แมลงวันจะชอบบินเข้าหาที่ที่มีแสงสว่างเสมอ มนุษย์จึงคิดประดิษฐ์ทำกับดักแมลงวัน โดยรอบกับดักจะบุด้วยสีดำยกเว้นด้านบนให้แสงสว่างลอดผ่านได้ เมื่อแมลงวันบินเข้ามาตอมเหยื่อล่อทางด้านล่างแล้วมักจะบินขึ้นเข้าหาแสงสว่าง ทำให้มันติดอยู่ในส่วนที่เป็นกับดัก นอกจากจะชอบแสงธรรมชาติแล้ว พบว่าแมลงวันโดยเฉพาะแมลงวันหัวเขียวชอบแสงอัลตราไวโอเลต (UV Light) ฉะนั้น จึงเป็นประโยชน์ในการกำจัดแมลงวันโดยใช้ตะเกียงแสงอัลตราไวโอเลตล่อให้แมลงวันมาเล่นไฟ และถูกกระแสไฟช๊อตตายหรือติดอยู่ในกับดักไฟฟ้าได้

8. การบิน การแพร่ และระยะการบิน
ตามปกติแมลงวันจะหากินพร้อมทั้งวางไข่อยู่ใกล้ๆกับแหล่งกำเนิดของมันและตามบ้านคน มันจะบินไปมาระหว่างบ้านคนซึ่งเป็นระยะทางใกล้ๆ แต่อาจถูกกระแสลมพัดพาไปจากแหล่งเดิมได้เป็นระยะทางหลายๆไมล์ นอกจากนี้เมื่อขาดแคลนอาหาร แมลงวันอาจบินไปหาอาหารแหล่งอื่นซึ่งไกลออกไป ปัจจัยที่มีผลต่อการบินของแมลงวันมีดังนี้ เช่น กลิ่นอาหาร แสงสว่าง อุณหภูมิและแหล่งอาหาร เป็นต้น โดยเฉลี่ยพบว่าแมลงวันบินหาอาหารได้ไกลถึง 10 กิโลเมตร ฉะนั้น การควบคุมแมลงวัน โดยการควบคุมเฉพาะบ้านใดบ้านหนึ่งจึงไม่ได้ผลสมบูรณ์ ต้องดำเนินการพร้อมกันทั้งชุมชน

ผลกระทบจากแมลงวัน
แมลงวันนอกจากจะก่อให้เกิดความรำคาญ กรณีที่มีแมลงวันชุกชุมมากจะชอบบินมาจับ มาเกาะตามตัว ตามใบหน้าของคนเราทำให้เกิดความรำคาญเป็นอย่างมาก และที่สำคัญยังเป็นพาหะแพร่เชื้อโรคต่างๆ

แมลงวันเป็นพาหะนำโรคต่างๆ เช่น ไทฟอยด์ (Typhoid) อุจจาระร่วงอย่างแรง(Cholera) อุจจาระร่วง ตาแดง ริดสีดวงตา(Trachoma) โรคบิดมีตัว โรคบิดไม่มีตัว โปลิโอ แอนเทร็กซ์(Anthrax) วัณโรค พยาธิปากขอ พยาธิไส้เดือนตัวกลม เป็นต้น แมลงวันจะสำรอกน้ำลาย และน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารออกมาช่วยย่อยหรือละลายอาหาร ทำให้แมลงวันเป็นพาหะนำโรคและแพร่เชื้อโรคจากเสมหะ อุจจาระ เศษขยะมูลฝอย ลงในอาหารคน จากการที่แมลงวันตอมกินเสมหะเป็นอาหาร และกินอาหารทุกชนิดทำให้แมลงวันเป็นพาหะแพร่โรควัณโรคด้วย นอกจากนี้ แมลงวันยังมีนิสัยที่ช่วยให้แมลงวันเป็นตัวนำและแพร่เชื้อโรคได้อีกคือ ชอบถ่ายมูลลงบนอาหารของคน และเมื่อแมลงวันกินอาหารอิ่มแล้ว มันจะถูหรือเสียดสีขาคู่หน้าของมัน ทำให้เชื้อโรคและไข่พยาธิที่ติดมากับขนขาร่วงหล่นลงบนอาหารของคน เมื่อคนกินอาหารนั้นก็จะได้รับเชื้อโรคติดต่อเข้าไปด้วย

แมลงวันเป็นสัตว์ที่กินอาหารได้ทุกชนิด หาอาหารตามกองขยะมูลฝอย เศษอาหาร ซากสัตว์ อุจจาระ มูลสัตว์ ทำให้เชื้อโรค ไข่ของหนอนพยาธิติดมากับแมลงวันได้ โดยติดมากับขนตามลำตัว ติดมากับขนที่ขา ปนอยู่กับของเหลวในกระเพาะอาหาร และอยู่ในระบบทางเดินอาหารของแมลงวัน เมื่อแมลงวันมาตอมอาหารของมนุษย์ ก็จะนำเชื้อโรคและไข่ของหนอนพยาธิลงในอาหาร เมื่อคนบริโภคอาหารนั้นเชื้อโรคก็จะเข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้

วิธีแพร่เชื้อของแมลงวัน
1. วิธีเชิงกล (Mechanical Transmission)
เชื้อโรคส่วนใหญ่จะถูกนำโดยวิธีนี้เนื่องจากแมลงวันมีนิสัยชอบเอาขาหน้าถูกันเมื่อเวลาที่แมลงวันกินอาหารอิ่มแล้ว ทำให้เชื้อโรคตามลำตัวและขา ร่วงลงในอาหาร เมื่อคนบริโภคอาหารนั้นเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายทำให้เจ็บป่วยได้ เช่น โรคทางเดินอาหาร บิด พยาธิ เป็นต้น

2. วิธีสำรอกใส่อาหาร (Propagating Transmission)
เนื่องจากแมลงวันมีวิธีการกินอาหารโดยการสำรอกน้ำย่อยจากกระเพาะอาหารมาละลายของแข็งก่อน แล้วจึงดูดกลับเข้าไปใหม่ ทำให้เชื้อโรคถูกถ่ายออกจากน้ำย่อยในกระเพาะอาหาร (Crop) ลงสู่อาหารในที่สุด ในทำนองเดียวกันนิสัยชอบถ่ายมูลรดบนอาหารก็ทำให้เชื้อโรคปนเปื้อนลงสู่อาหารได้เช่นกัน เช่น โรคทางเดินอาหาร โรคอาหารเป็นพิษ เป็นต้น

3. วิธีเป็นโฮสต์กึ่งกลาง (Intermediate Host)
ตัวอ่อนของหนอนพยาธิจะอาศัยอยู่ในตัวของแมลง เมื่อเจริญเป็นระยะติดต่อแล้ว หนอนพยาธิก็หาทางออกจากแมลงวันเข้าสู่ร่างกาย เช่น โรคพยาธิไส้เดือน พยาธิปากขอ เป็นต้น

4. วิธีการวางไข่หรือแพร่พันธุ์ เป็นระยะตัวหนอนไว้ตามแผล หนอง ฝี ทำให้เกิดโรคที่เรียกว่า โรคไมยาชีส (Myaisis)

ที่มา :  ดุษฎี หงษ์โต, 2547. (1)

การควบคุม และกำจัดแมลงวัน (นิรนาม, 2550) (2)
1. ใช้สารเคมี
– การใช้เครื่องพ่นควัน โดยใช้สารเคมีกลุ่ม Organophosphorus หรือ Carbamate ได้แก่ Diazinon, Diflubenzuron, Cyromazine เป็นต้น
– การกำจัดแมลงวันตัวเต็มตามแหล่งเกาะพัก เพื่อลดความชุกชุมของแมลงวัน ด้วยการฉีดพ่นสารเคมี ได้แก่ ไดอะซิโนน (diazinon), เฟนิโทรไทออน (fenitrothion) หรือ พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl) เป็นต้น
– การใช้วัสดุห้อยแขวนทาสารเคมี ซึ่งสารมารถกำจัดได้มาก เนื่องจากแมลงวันมีนิสัยชอบเกาะตามวัสดุที่ห้อยแขวนในแนวดิ่ง เช่น ใช้เชือกหรือวัสดุที่เป็นเส้น ยาวประมาณ 1-2 เมตร ทาหรือชุบน้ำตาลผสมสารเคมี เช่น ไดอะซิโนน (diazinon), เฟนิโทรไทออน (fenitrothion) หรือ พิริมิฟอส-เมทิล (pirimiphos-methyl) หลังจากนั้น ทุกๆ 1-2 เดือนให้เปลี่ยนใหม่
– การใช้เหยื่อพิษ วิธีนี้ใช้เหยื่อหรืออาหารที่แมลงวันชอบผสมสารกำจัดแมลง เช่น เศษอาหาร ผลไม้เน่า เนื้อเน่า ผสมกับสารเคมีในข้างต้นที่กล่าวมา
– การฉีดพ่นด้วยสารสกัดสมุนไพรเพื่อกำจัดตัวอ่อนของแมลงวันในระยะต่างๆ เช่น สารสกัดจากส้มป่อย รากหนอนตายหยาก เป็นต้น

2. ควบคุมโดยวิธีกล
เป็นการกำจัดแมลงวันในระยะต่างๆด้วยแรงคนหรือเครื่องมือการจับ เช่น การเก็บหนอน การใช้สวิงจับ การใช้กรงหรือมุ้งตาข่าย การใช้กล่องดักจับ และการใช้ไม้ตีแมลงเป็นต้น

3. การกำจัด และป้องกันด้วยเครื่องมือฟิสิกส์
เป็นการใช้อุปกรณ์หรือเครื่องมือประดิษฐ์ที่อาศัยคุณสมบัติทางฟิสิกส์ เช่น คลื่นความร้อน คลื่นเสียง สี และรังสี เพื่อช่วยในการขับไล่หรือป้องกันแมลง เช่น เครื่องไล่แมลงด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า เครื่องไล่แมลงด้วยคลื่นความถี่สูง เป็นต้น

4. การกำจัดโดยชีววิธี
– ตัวห้ำ (Predators) ที่ชอบจับกินแมลงวัน ทั้งตัวเต็มวัย และระยะตัวหนอนหรือดักแด้ ได้แก่ แมงมุม จิ้งจก คางคก และนก เป็นต้น
– ตัวเบียน (Parasitoids) ที่ชอบวางไข่เป็นหาพะในร่างกายแมลงวันหรือในตัวหนอนแล้วทำให้ตายได้ เช่น แตนเบียน และด้วงก้นกระดก
– ใช้จุลินทรีย์ ได้แก่ เชื้อราไมโครไรซา เป็นต้น

เอกสารอ้างอิง
8