แมลงวันหัวเขียว

14474

แมลงวันหัวเขียว (Blow fly) เป็นแมลงวันขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งที่พบได้ทั่วไปตามชุมชนที่มีสิ่งปฏิกูลต่างๆ เป็นแมลงวันที่มีสีเขียวหรือสีเขียวแกมน้ำเงินถึงดำ มีลักษณะสีสดใส สะท้อนแสงแวววาว พบได้มากในประเทศไทย มีลำตัวใหญ่กว่าแมลงวันบ้าน แต่พบน้อยกว่าแมลงวันบ้านหลายเท่าตัว ชนิดที่พบมากที่สุดในประเทศไทย คือ Chrysomya megacephala

อนุกรมวิธาน
Kingdom : Animalia
Phylum : Arthropoda
Class : Insecta
Order : Diptera
Suborder : Brachycera
Infraorder : Muscomorpha
Subsection : Calyptratae
Family : Oestroidea
Subfamily : Chrysomyinae
Genus : Chrysomya
Species : Chrysomya megacephala

ลักษณะทั่วไป (C. megacephala)
แมลงวันหัวเขียวชนิด C. megacephala ลำตัวประกอบด้วยส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง ลำตัวมีสีเขียวถึงสีน้ำเงินปนดำ ลำตัวมีลักษณะค่อนข้างกลม ความยาว 6-14 มิลลิเมตร ส่วนหัวมีตาสีแดงเข้ม 2 ข้าง ขนาดใหญ่ ส่วนอกมีขนาดใหญ่กว่าทุกส่วน มีขนปกคลุมทั่วตัว ส่วนที่มีสีเขียวถึงสีน้ำเงินจะเป็นส่วนอก และส่วนท้อง ส่วนขามีสีดำ ขาคู่แรกอยู่บริเวณต้นส่วนอกที่ติดกับส่วนหัว ส่วนขา 2 คู่หลัง อยู่ชิดกับบริเวณส่วนอกด้านท้ายติดกับส่วนท้อง ปีกมีลักษณะเป็นเยื่อบางใส มีโครงปีกเป็นเส้นสีดำ ตัวเต็มวัยชอบอาศัยตามบริเวณบ้าน กองขยะ รวมทั้งซากเน่าเปื่อย และสิ่งปฏิกูลต่างๆ

Blow fly1

การดำรงชีพ
ระยะไข่
ตัวเมียวางไข่ตามกองขยะ เศษอาหาร ซากพืชหรือซากสัตว์เน่าที่มีความชื้นสูง ไข่จะวางเป็นกลุ่มประมาณ 150-300 ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัวหนอนประมาณ 12 ชั่วโมง หลังวางไข่

ระยะหนอน
หนอนแมลงวันหัวเขียวมีลักษณะส่วนหัวเล็ก ลำตัวมีสีครีม ลำตัวมีปล้อง 12 ปล้อง มีปาก อยู่ 1 คู่ ที่ใช้กินอาหาร เรียกว่า hook ส่วนท้ายตัวหนอนมีลักษณะป้าน มีท่อหายใจอยู่ 1 คู่ เมื่อเติบโตจะลอกคราบ 2 ครั้ง ตามระยะตัวหนอน
– หนอนวัยที่ 1 เจริญเป็นหนอนวัยที่ 2  ใช้เวลาประมาณ 12 ชั่วโมง
– หนอนวัยที่ 2 เจริญเป็นหนอนวัยที่ 3  ใช้เวลาประมาณ 12-24 ชั่วโมง
ระยะหนอนวัยที่ 1 และ 2 จะกินหาอาหารมาก และอาศัยตามแหล่งอาหารที่มีความชื้นสูง
– หนอนวัยที่ 3 เป็นวัยที่โตเต็มที่ มีสีเปลี่ยนจากสีครีมเป็นสีเหลืองครีม ยาวประมาณ 8-23 มิลลิเมตร เริ่มหยุดกินอาหาร และไต่ออกจากแหล่งอาหารเพื่อหาที่มืด เย็น และมีความชื้นน้อย สำหรับเข้าสู่ระยะดักแด้ ระยะนี้จะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ก่อนเข้าสู่ดักแด้

ระยะดักแด้
ตัวหนอนในระยะที่ 3 จะหาที่พักในระยะดักแด้ ซึ่งมักจะพบตัวหนอนหรือการเข้าดักแด้เป็นกลุ่มใหญ่ มักพบใต้กองขยะ ใต้ดิน ใต้เศษใบไม้ เป็นต้น มีระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน

ระยะโตเต็มวัย
หลังจากเข้าสู่ระยะดักแด้ประมาณ 5-7 วัน ดักแด้ก็จะฟักตัวเป็นตัวเต็มวัย มีลักษณะทุกอย่างเหมือนพ่อแม่พันธุ์ ทั้งนี้ ระยะเวลาการฟักตัวจะขึ้นกับความชื้น และอุณหภูมิเป็นสำคัญ

หลังจากฟักตัว แมลงวันหัวเขียวจะออกบินหาแหล่งอาหาร โดยเฉพาะตามชุมชน บ้านเรือนที่มีเศษอาหาร ซากพืช ซากสัตว์ และกองขยะที่พบได้ทั่วไปสำหรับดงรงชีพ และขยายพันธุ์ต่อไป

Blow fly

 

แมลงวันหัวเขียวชนิดอื่นที่พบ ได้แก่
1. C. rufifacies  และ C. albiceps ทั้งสองชนิดมีลักษณะลำตัวมันวาวสีเขียว ขนาด 6-12 มิลลิเมตร แต่แตกต่างกันที่ C. albiceps ไม่มีขน stigmatic bristle มักพบมากในแถบประเทศจีน อินเดีย มีนิสัยชอบตอมอาหารที่มีกลิ่นบูดเน่าตามกองขยะ กองผลไม้ มูลสัตว์ ซากสัตว์ และสิ่งปฏิกูลทั่วไป
2. C. bezziana ลำตัวแวววาว สีน้ำเงินปนเขียว ส่วนบนของอกมีสีดำพาดตามยาว ตัวเมียชอบ
วางไข่ตามรอยแผลบนผิวหนังสัตว์ ตัวอ่อนที่ฟักตัวก็จะไชเข้าด้านในของแผล และกัดกินเนื้อเยื่อจนทำให้เป็นแผลเน่าขยายลึก
3. Lucilia cuprina (Australian sheep blowfly) จัดอยู่ในซับแฟมิลี่ Calliphorinae มีสี
ลำตัวแตกต่างจากแมลงวันหัวเขียวชนิดอื่นมาก คือ ลำตัวมีสีคล้ายทองแดง ขนแข็งบนอกปล้อง
กลางเจริญดี ลำตัวมีขนาด 5-10 มิลลิเมตร (บุญเสริม อ่วมอ่อง, 2543)(1)

ประโยชน์แมลงวันหัวเขียว
1. เนื่องจากแมลงวันหัวเขียวเป็นชนิดที่พบได้บ่อยในแหล่งอาหารที่มีโปรตีนสูง โดยเฉาะซากสัตว์ ในทางการแพทย์จึงใช้ประโยชน์สำหรับการชันสูตรศพ อาทิ ระยะเวลาการตาย และสาเหตุการตาย ด้วยการวิเคราะห์สารเคมีที่พบในศพ และในแมลงวัน
2. เป็นแมลงวันหัวเขียวเป็นส่วนหนึ่งในระบบนิเวศที่ช่วยกำจัดเศษซากพืช ซากสัตว์หรือสิ่งปฏิกูลด้วยการกินเป็นอาหารในระยะตัวหนอน

เอกสารอ้างอิง
1. บุญเสริม อ่วมอ่อง. 2543. แมลงวัน: กีฏวิทยาและการควบคุม.