แมลงภู่ ประโยชน์ และข้อเสียแมลงภู่

58797

แมลงภู่ (Carpenter bees) ขึ้นชื่อได้ว่าเป็นแมลงแห่งการเจาะไม้ ทั้งต้นไม้หรือเสาไม้ตามบ้านเรือน แต่ถือเป็นแมลงที่มีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรดอกไม้ เพราะเป็นแมลงที่กินน้ำหวานเป็นอาหาร

• วงศ์ : Apidae
• สกุล : Xylocopa
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Xylocopa spp.
• ชื่อสามัญ :
– Carpenter bees
– Wood bees
• ชื่อท้องถิ่นไทย : แมลงภู่

ชื่อสกุล Xylocopa มีรากศัพท์มาจากคำว่า wood หมายถึงไม้ หรือ เนื้อไม้ และคำว่า to cut หมายถึง การกัด การแทะ รวมกันหมายถึง การกัดแทะเนื้อไม้หรือการกัดเจาะเนื้อไม้ ซึ่งเป็นลักษณะที่แสดงถึงความสามารถของแมลงภู่ที่ชอบกัดเจาเนื้อไม้หรือต้นไม้สำหรับการสร้างรังอาศัย

ชนิดแมลงภู่ (1) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
แมลงภู่ทั่วโลก พบประมาณ 730 ชนิด โดยประมาณ 300 ชนิด สามารถพบได้ในเขตร้อน ส่วนในประเทศไทยพบประมาณ 9 ชนิด ได้แก่
1. Xylocopa latipes
2. Xylocopa tenuiscapa
3. Xylocopa nasalis
4. Xylocopa tranquebarica
5. Xylocopa dissimilis
6. Xylocopa collaris
7. Xylocopa caerulea
8. Xylocopa abbotti
9. Xylocopa aestuans

ลักษณะทั่วไป
แมลงภู่ มีลำตัวยาวประมาณ 1.25-3.5 เซนติเมตร พื้นลำตัวมีหลายสี อาทิ สีดำ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมแดง สีน้ำเงิน สีฟ้า สีขาว และสีเหลือง หัวแมลงภู่ค่อนข้างกลม มีตาประเภทตารวมขนาดใหญ่ ตัวผู้มีตาใหญ่กว่าตัวเมีย หนวดมีลักษณะหักแบบข้อศอก หนวดมีลักษณะเป็นปล้อง หนวดตัวผู้มี 13 ปล้อง หนวดตัวเมียมี 12 ปล้อง บางชนิดมีหนวดปล้องแรกขยายใหญ่ และค่อยเล็กลงในปล้องที่ 2 และมีขนาดเล็กเท่ากันในปล้องที่ 3 จนสุดปลายหนวด

ลำตัวถัดจากหัวมีลักษณะเป็นทรงกระบอกกลม ปากมีกรามสั้น และแข็งแรง ปากช่วงปลายแยกออกเป็น 2-3 ซี่ ขามี 6 ขา maxillary palpi มีจำนวน 6 ปล้อง สามปล้องแรกมีขนาดใหญ่ และเรียวยาว ส่วน 3 ปล้องหลังมีลักษณะแคบ สั้น และมีขนปกคลุม ซึ่งใช้ทำความสะอาดหรือสำหรับเก็บละอองเกสรดอกไม้ ส่วน labail palpi มีลักษณะเป็นปล้องๆ จำนวน 4 ปล้อง และส่วนนี้ในตัวผู้ของแมลงภู่บางชนิดจะมีสีเหลือง

%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%88

ปีกมี 2 คู่ มีลักษณะเป็นรูปสามเหลี่ยมแคบ ประกอบด้วยปีกคู่หน้าที่มีขนาดใหญ่กว่าปีกคู่หลัง พื้นปีกทึบแสง มีสีน้ำเงินเข้ม พื้นเป็นวาวสะท้อนแสงเป็นสายรุ้ง แต่ปีกแมลงภู่บางชนิดอาจมีสีน้ำตาลใส มองเห็นเส้นปีกเป็นสีน้ำตาลเข้ม

ขาแมลงภู่ มี 6 ขา แบ่งเป็นข้างละ 3 ขา แต่ละขามีลักษณะเป็นปล้องต่อกัน ปล้องแรกมีขนาดใหญ่ และปล้องต่อมามีขนาดเล็กลง และมีขนปกคลุม ขนที่ปกคลุมขาทำหน้าที่เก็บเก็บละอองเกสรดอกไม้เพื่อใช้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนในรัง

การสร้างรัง
แมลงภู่ เป็นแมลงที่สร้างรังในเนื้อเยื่อไม้ ทั้งในต้นไม้ที่มีชีวิตหรือต้นไม้แห้งที่ยืนต้นตาย รวมถึงเสาไม้ตามบ้านเรือน ด้วยการใช้ปากกัดเจาะเนื้อไม้ให้เป็นรูขนาดเท่าตัวเข้าได้ หรือมีขนาดรูอยู่ในช่วง 2.5-3.5 เซนติเมตร ลึกประมาณ 5-10 เซนติเมตร มักเจาะทำรังเป็นฝูงหรือบางชนิดเจาะอาศัยเพียงลำพัง และแต่ละรังอาจมีทางเข้ามากกว่าหนึ่งรู โดยมีบริเวณตรงกลางเป็นโพรง และมีทางเชื่อม ซึ่งเป็นบริเวณสำหรับวางไข่ และเก็บอาหาร

อาหารที่เก็บไว้จะมีลักษณะเป็นก้อนที่ประกอบด้วยละอองเกสรดอกไม้หลายชนิดผสมกับน้ำลาย อาหารเหล่านี้จะเก็บไว้สำหรับเลี้ยงตัวอ่อนหลังฟักออกจากไข่

%e0%b8%a3%e0%b8%b9%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%88

การผสมพันธุ์ และวางไข่
เมื่อมีการผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะวางไข่ไว้ในโพรงตรงกลาง โดยพบว่า ไข่แมลงภู่มีลักษณะกลม และเรียวยาว ขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 16.5 มิลลิเมตร เมื่อไข่ไว้แล้ว แม่แมลงภู่จะนำขุ๋ยไม้ที่กัดไว้มาผสมกับน้ำลายปิดล้อมไข่บริเวณในรูด้านในไว้ โดยตลอดช่วงอายุขัย ตัวเมียแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ตั้งแต่ 1-8 ฟอง

ไข่แมลงภู่จะฟักเป็นตัวหนอนภายใน 6-7 วัน จากนั้น ตัวหนอนจะอาศัยอยู่ในโพรง โดยกินอาหารที่เป็นละอองเกสรที่เก็บเตรียมไว้ โดยใช้ระยะเวลาในระยะตัวหนอนนานประมาณ 21 วัน จากนั้น ตัวหนอนจะพัก และเข้าสู่ระยะดักแด้ต่อไปอีก 15 วัน หลังจากนั้น จะลอกคราบดักแด้ออกกลายเป็นตัวเต็มวัย ซึ่งจะกัดขุยไม้ออกจนเป็นรูกลวงเหมือนเดิม ส่วนไข่หรือตัวอ่อนที่ยังไม่เติบโตจะไม่เป็นอันตราย เพราะมีแม่แมลงภู่คอยดูแลอยู่ รวมระยะเวลาจากหลังวางไข่จนถึงโตเต็มวัย ประมาณ 42-43 วัน ทั้งนี้ ตลอดระยะหลังวางไข่จนถึงโตเต็มวัย พ่อ และแม่แมลงภู่จะคอยเฝ้าระวังภัยให้แก่ตัวอ่อนตลอดเวลา

หลังจากลอกคราบออกจากดักแด้แล้ว ในช่วงแรก ลูกแมลงภู่ยังไม่สามารถบินออกหาอาหารเองได้ จึงยังอาศัยอยู่ในรัง และได้รับอาหารที่เป็นน้ำหวานจากแม่แมลงภู่ หลังจากนั้น 6 วัน จึงสารถบินออกจากรัง และหาอาหารเองได้

แมลงภู่ตัวเต็มวัยที่มีอายุประมาณ 16 วัน จะพร้อมเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ ซึ่งจะบินหาแหล่งเจาะทำรังใหม่หรือเจาะทำรังบนต้นไม้ในรังเดียวกันกับแม่ ดังนั้น จึงพบว่า มีแมลงภู่หลายตัวทำรังบนต้นไม้เดียวกัน และมีรังอยู่ใกล้กันเป็นกลุ่ม

การอาศัย และการหาอาหาร
ในช่วงฤดูหนาว แมลงภู่จะเข้าสู่ระยะจำศีลหรือการพักตัว ซึ่งทั้งตัวเมีย และตัวผู้จะเข้าอาศัยเก็บตัวอยู่ในรัง โดยกินอาหารที่เก็บไว้ อาทิ แมลงภู่ในประเทศอินเดียจะเข้าจำศีลหรือพักตัวในรังนานกว่า 5 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน-มีนาคม

ส่วนอาหรที่สำคัญของแมลงภู่จะเป็นน้ำหวานจากดอกไม้ต่างๆ ส่วนตัวหนอนในรังจะกินอาหารจำพวกเกสรดอกไม้ที่แม่แมลงภู่เตรียมเก็บสะสมไว้ในรัง

ศัตรูที่สำคัญ
ในบางครั้งที่การสร้างรังของแมลงภู่ เป็นการสร้างบนต้นไม้ที่มีมดแดง มดแดงเหล่านี้จะเป็นศัตรูสำคัญของแมลงภู่ โดยเฉพาะในระยะตัวตัวเต็มวัยที่ลอกคราบออกใหม่ที่ยังบินออกจากรูไม่ได้ เมื่อลอกคราบออกแล้ว ลูกแมลงภู่จะกัดขุยไม้ที่ปิดรูออก ทำให้มดแดงเข้ามาจู่โจม และกัดจนลูกแมลงภู่ตายได้

%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%88%e0%b8%81%e0%b8%b1%e0%b8%9a%e0%b8%a1%e0%b8%94%e0%b9%81%e0%b8%94%e0%b8%87

ประโยชน์ และข้อเสียแมลงภู่
แมลงภู่ในธรรมชาติ ถือเป็นแมลงที่มีบทบาทมากต่อในการผสมเกสรดอกไม้ เพราะแมลงภู่จะเข้าดูดกินน้ำหวานจากดอกไม้บานโดยรอบ บางชนิดออกหาน้ำหวานในช่วงเช้า บางชนิดออกหาน้ำหวานในช่วงกลางคืน ซึ่งเกสรดอกไม้จะติดขาหรือลำตัวจากดอกหนึ่งไปสู่ดอกหนึ่งจนเกิดการผสมเกสรได้

%e0%b9%81%e0%b8%a1%e0%b8%a5%e0%b8%87%e0%b8%a0%e0%b8%b9%e0%b9%881

ในทางกลับกัน แมลงภู่บางชนิดชอบสร้างรังตามเสาไม้ของบ้านเรือนมนุษย์ ด้วยการเจาะเสาไม้เป็นรูกลวง จนมีผลเสียต่อโครงสร้าง ทำให้เสาหักง่ายขึ้น นอกจากนั้น บางครั้งยังพบเข้าต่อยมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อหวงรัง และตัวอ่อนในรัง โดยหากโดนต่อย แผลบริเวณต่อยจะบวมใหญ่ และจะรู้สึกปวดมาก หากเป็นเด็กจะปวดทรมานมากจนต้องนำส่งโรงพยาบาล

ขอบคุณภาพจาก BugGuide.Net, www.bugphotos.net

เอกสารอ้างอิง
(1) ยุวรินทร์ บุญทบ, 2545, แมลงภู่ (Xylocopa spp.) และบทบาทการผสมเกสรเสาวรส-
(Passiflora edulis Sims form flavicarpa Degener), มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.