แมลงปอ (Dragonfly)

23460

แมลงปอ (Dragonfly) เป็นแมลงชนิดมีปีกที่พบมากชนิดหนึ่งในบ้านเรา และเป็นแมลงที่มีสีสันสวยงาม มีบทบาทมากในระบบนิเวศทั้งในระยะตัวอ่อนที่อยู่ในน้ำ และระยะตัวเต็มวัยที่มีปีกอาศัยอยู่บนบก

อนุกรมวิธาน
Phylum : Arthropoda
Subphylum : Uniramia
Class : Insecta
Subclass : Pterygota
Infraclass : Palaeoptera
Order : Odonata
Suborder :
– Anisoptera
– Zygoptera
– Anisozygoptera

จำนวนชนิดแมลงปอที่พบในทวีปต่างๆ (ทั่วโลก 5,500 ชนิด)
• ทวีปอเมริกาเหนือ 450 ชนิด
– แคนาดา 194 ชนิด
• ทวีปยุโรป
– อังกฤษ 50 ชนิด
• ทวีปออสเตรเลีย 300 ชนิด
– นิวซีแลนด์ 11 ชนิด
• ทวีปเอเชีย
– จีน 160 ชนิด
– ฟิลิปปินส์ 224 ชนิด
– มาเลเซีย 62 ชนิด
– ไทย 300 ชนิด

ที่มา : Dudgeon, 1999(1) ; Williams and Feltmate, 1992(2)

ลักษณะทั่วไป
แมลงปอ เป็นสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง มีลำตัวเป็นข้อปล้อง (arthropods) ตัวเต็มวัยมีลักษณะรูปร่างแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ

1. ส่วนหัว (head)
ส่วนตา มีทั้งตารวม (compound eyes) และตาเดี่ยว (ocelli) ตารวมแมลงปอประกอบด้วยช่องตาขนาดเล็กเรียกว่า ฟาเซท (facet) ประมาณ 30,000 ช่อง มองเห็นภาพได้ไกล 10 – 20 เมตร ส่วนตาเดี่ยวอยู่ระหว่างตารวมค่อนไปทางด้านบน มี 3 ตา มีลักษณะเป็นจุดเล็กๆ

หนวด แมลงปอ มีลักษณะเป็นเส้นขนที่มีขนาดเล็กจนเกือบมองไม่เห็น มี 1 คู่ ระหว่างหนวดทั้ง 2 ข้างเป็นส่วนที่มีสี เรียกว่า หน้าผาก (frons)

ปาก แมลงปอเป็นแบบปากกัด ประกอบด้วยเขี้ยว (mandible) ที่มีความแข็งแรงมาก นอกจากนี้ยังมีริมฝีปากบน ริมฝีปากล่าง และระยางค์อื่นๆ ที่ปากทำหน้าที่เกี่ยวกับการกินอาหาร และการรับสัมผัส

2. ส่วนอก (thorax)
อกแมลงปอเป็นที่ตั้งของปีก และขา โดยปีกทั้ง 2 คู่ จะอยู่ที่อกปล้องใหญ่ ปีกมีลักษณะบางใส มีเส้นปีกสานเป็นร่างแหจำนวนมาก และอาจมีสีแต้ม ซึ่งเส้นปีกแมลงปอจะใช้ในการจำแนกชนิดของแมลงปอได้ โดยการเปรียบเทียบลักษณะต่างๆของปีก ได้แก่
– ตาปีกที่ขอบปีกด้านหน้าค่อนไปทางปลายปีก
– สามเหลี่ยมที่อยู่ใกล้โคนปีก
– พื้นที่ถัดจากสามเหลี่ยมไปจรดขอบปีก
– ข้อปีกบริเวณใกล้กึ่งกลางของขอบปีกด้านหน้า
– เส้นอาร์คูลัสที่วางขวางปีก เหนือสามเหลี่ยมค่อนมาทางโคนปีก
– เส้นขวางปีกที่วางขวางระหว่างฐานปีกถึงข้อปีก 2 เส้น หรืออาจมีมากกว่า
– เส้นเฉียงหน้าตาปีก (พบเฉพาะในแมลงปอยักษ์)
– พื้นที่ส่วนท้ายบริเวณชายปีกคู่หลังใกล้โคนปีก ในแมลงปอบ้านจะเป็นรูปเท้า

อกแมลงปอ

ขา แมลงปอมี 3 คู่ แต่ละคู่จะอยู่บริเวณอกของแต่ละปล้อง ทำหน้าที่ใช้จับเกาะ และใช้ในการจับเหยื่อ ขามีหนามขึ้นหนาคล้ายซี่หวี ช่วยในการจับเหยื่อหรือสิ่งต่างๆ ได้ดี ขาแต่ละข้างประกอบด้วยปล้องต่อกันหลายปล้อง

3. ส่วนท้อง (abdomen)
ท้อง แมลงปอมีลักษณะทรงกระบอก บางชนิดมีลักษณะพองออก บางชนิดมีลักษณะแบน โดยในแมลงปอบ้านมีปล้องท้อง 10 ปล้อง ปล้องแรกติดกับอก มีขนาดสั้นมาก ปล้องที่ 2 ยาวกว่าเล็กน้อย ปล้องที่ 3 – 7 เป็นปล้องที่ยาวที่สุด ปล้องที่ 8 – 9 ค่อนข้างสั้น ปล้องที่ 10 มีลักษณะสั้นเล็ก เป็นที่ติดตั้งของระยางค์ปลายท้อง

ในตัวผู้จะมีแพนหางส่วนบน 1 คู่ และแพนหางส่วนล่าง 1 คู่ สำหรับใช้ในการยึดจับตัวเมียขณะผสมพันธุ์ และตัวผู้จะมีรูเปิดน้ำเชื้อบริเวณใต้ท้องของปล้องที่ 2

อวัยวะสืบ พันธุ์ตัวเมียจะอยู่ด้านล่างปล้องท้องที่ 8 และ 9 โดยแมลงปอชนิด damselfly มีอวัยวะวางไข่ที่สามารถยื่นสอดไข่ใส่ในเนื้อเยื่อพืชในน้ำได้ ส่วนแมลงปอบ้านจะใช้วิธีบินวางไข่ตามผิวน้ำ

ตัวอ่อนแมลงปอ
ตัวอ่อนแมลงปอจะอาศัยอยู่ในน้ำ มีลักษณะยาวหรือป้อมสั้น ขนาด 10 – 60 มิลลิเมตร ตามีขนาดใหญ่ มีหนวด มีปากแบบกัดกิน ริมฝีปากล่างเป็นอวัยวะที่ใช้ในการจับเหยื่อ ขณะไม่ได้ใช้จะพับเก็บไว้ใต้หัวคล้ายหน้ากาก ส่วนอกประกอบด้วยขา 3 คู่ และแผ่นปีก (wing pads) 2 คู่ ส่วนท้องมีเหงือกที่ด้านปลายของส่วนท้อง และมีลักษณะแตกต่างกันในแต่ชนิด

อันดับย่อย Anisoptera
มักเรียกในชื่อ dragonfly มีลักษณะลำตัวใหญ่ โคนปีกคู่หลังใหญ่กว่าโคนปีกคู่หน้า โคนปีกหลังจะกว้างกว่าโคนปีกหน้า ตารวมอยู่ใกล้กัน ตัวผู้มีระยางค์บริเวณสามปล้องสุดท้ายของลำตัว เมื่อเกาะพักปีกจะกางในแนวระนาบ เป็นแมลงปอที่บินได้เร็ว

ส่วนตัวอ่อน มีขนาดลำตัวใหญ่ ป้อม ลำตัวมีลักษณะกลม สั้น และแข็งแรง หายใจโดยใช้อวัยวะภายในช่องท้องบริเวณปล้องสุดท้ายของลำตัว มีลักษณะสามเหลี่ยมคล้ายปิระมิด

แมลงปอกลุ่มนี้ ได้แก่ แมลงปอยักษ์, แมลงปอเสือ และแมลงปอบ้าน เป็นต้น

แมลงปอเสือ
แมลงปอเสือ
แมลงปอบ้าน
แมลงปอบ้าน

อันดับย่อย Zygoptera
มักเรียกในชื่อ damselfy เป็นแมลงปอขนาดเล็ก และมีส่วนหลังแคบ โคนปีกหน้าและหลังจะแคบเรียวยาวคล้ายกัน ตาค่อนข้างห่างกัน ตัวผู้มีระยางค์บริเวณ 4 ปล้องสุดท้ายของลำตัว ขณะเกาะพักจะยกปีกขึ้นในแนวดิ่งเหนือลำตัว เป็นแมลงปอที่บินได้ช้า

ลักษณะ ของตัวอ่อนทั่วไปจะเรียวยาวคล้ายเข็ม ปลายลำตัวมีแผ่่นคล้ายใบพัด 3 แผ่น และมีลักษณะเป็นกระเปาะสำหรับทำหน้าที่หายใจ และช่วยในการเคลื่อนไหว ลำตัวเรียวยาวและบอบบาง

แมลงปอกลุ่มนี้ ได้แก่ แมลงปอเข็ม แมลงปอเข็มป่า และแมลงปอเข็มน้ำตก เป็นต้น

อันดับย่อย Anisozygoptera
เป็นกลุ่มของแมลงปอชนิดที่หายากมาก มักพบเฉพาะบริเวณน้ำตก ที่มีความสูงมากกว่า 2000 เมตร จากระดับน้ำทะเล มีเพียง 2 ชนิด ที่พบในประเทศญี่ปุ่น และบริเวณเทือกเขาหิมาลัยเท่านั้น

วงจรชีวิต
แมลงปอเจริญเติบโตแบบไม่สมบูรณ์ มี 3 ระยะ คือ ไข่ ตัวอ่อน และตัวเต็มวัย ไม่มีระยะดักแด้ ส่วนระยะตัวอ่อนมีการลอกคราบหลายครั้งเพื่อเพิ่มขนาด แต่ไม่มีการเปลี่ยนแปลงรูปร่าง และแมลงปอแต่ละชนิดจะมีจำนวนครั้งของการลอกคราบไม่เท่ากัน ขึ้นกับอุณหภูมิ และความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร โดยทั่วไปจะลอกคราบประมาณ 10 – 20 ครั้ง ตัวอ่อนระยะสุดท้ายจะไม่ค่อยกินอาหาร และเคลื่อนไหวน้อย แต่อวัยวะภายในจะเปลี่ยนแปลงอย่างมากเพื่อลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยอายุของตัว อ่อนที่อาศัยในแหล่งน้ำในแมลงปอแต่ละชนิดจะแตกต่างกัน บางชนิดอาจมีอายุตัวอ่อนได้มากกว่า 1 ปี ถึง 4 ปี โดยเฉพาะแมลงปอที่ขนาดใหญ่จะมีอายุตัวอ่อนนานมากกว่าตัวขนาดเล็ก

ตัว อ่อนที่พร้อมลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยจะคืบคลานขึ้นจากน้ำมาเกาะตาม หญ้าหรือกิ่งไม้ ซึ่งจะใช้เวลา 1 – 2 ชั่วโมง ในการลอกคราบ มักลอกคราบใน ช่วงกลางคืน หรือใกล้รุ่ง หลังจากลอกคราบเสร็จตัวเต็มวัยจะยังคงเกาะอยู่รอจนกระทั่งร่างกาย และปีกแห้ง แล้วจึงจะขึ้นบิน โดยในระยะนี้ลำตัว และปีกจะมีสีซีด 1 – 2 สัปดาห์ขึ้นไปจะมีสีของล้ำตัวเข้มขึ้น ระยะตัวเต็มวัยจะมีชีวิตบนบกประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หรืออาจนานถึง 2 – 3 เดือน

แหล่งอาหาร
แหล่ง อาหารของแมลงปอตัวเต็มวัยจะเป็นแมลง และสัตว์ขนาดเล็กต่างๆ เช่น หนอนผีเสื้อ แมลงหวี่ แมลงวัน เป็นต้น ส่วนในระยะตัวอ่อนที่อาศัยในแหล่งน้ำจะกินอาหารจำพวกไรแดง ลูกน้ำ และลูกอ่อนของสัตว์น้ำชนิดอื่นๆ

ความสำคัญของแมลงปอ
1. ในระยะตัวอ่อนที่อาศัยในแหล่งน้ำจะเป็นแหล่งอาหารของปลา และสัตว์ชนิดอื่นๆ
2. ในระยะตัวอ่อนที่อยู่ในน้ำจะจับกินลูกน้ำของยุง ช่วยให้ปริมาณยุงลดลง
3. ในระยะตัวเต็มวัยจะช่วยควบคุมแมลงชนิดอื่นๆเพื่อจับกินเป็นอาหาร โดยเฉพาะแมลงที่เป็นศัตรูพืชหรือที่สร้างความรำคาญ เช่น ยุง แมลงหวี่ แมลงวัน เป็นต้น
4. ตัวอ่อนใช้เป็นดัชนีทางชีวภาพสำหรับชี้วัดคุณภาพของแหล่งน้ำ
5. ตัวอ่อนแมลงปอ หรือทางอีสาน เรียก แมงระงำ และแมงตบเต็บ ที่อาศัยตามแหล่งน้ำขังหรือทุ่งนา นิยมนำมาปรุงอาหาร เช่น ห่อหมก แกง คั่ว และทอด เป็นต้น โดยตัวอ่อนนี้ให้สารอาหารจำพวกโปรตีนสูงมากกว่า 40%

แมงระงำ

เอกสารอ้างอิง
5