แกะ ขนแกะ และการเลี้ยงแกะ

31370
พันธุ์คาทาดิน

แกะ (sheep) เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องขนาดเล็กที่เลี้ยงเพื่อการบริโภคเนื้อ และการใช้ประโยชน์จากหนัง และขนแกะเป็นหลัก แต่เป็นสัตว์เศรษฐกิจที่สามารถให้ผลผลิตเร็วกว่าสัตว์เคี้ยวเอื้องอื่นๆอย่างโคหรือกระบือ

แกะมีอยู่ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ซึ่งส่วนมากเป็นแกะพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดเล็ก (น้ำหนัก 20-30 กก.) โดยเลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อเป็นหลัก และมีการเลี้ยงมากในภาคใต้ โดยเฉพาะชาวมุสลิม (ประมาณ 95%) ที่ใช้สำหรับบริโภคเนื้อ และประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ทั้งนี้ ส่วนมากจะพบการเลี้ยงแกะจำนวน 2-4 ตัว/ครอบครัว และนิยมเลี้ยงควบคู่กับแพะ ด้วยการเลี้ยงแบบผูกล่ามหรือปล่อยแทะเล็ม

ข้อดี และประโยชน์จากการเลี้ยงแกะ
1. แกะ เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่เลี้ยงง่าย กินหญ้าได้หลายชนิด สามารถปล่อยเลี้ยงตามลานหญ้า สวนผลไม้หรือพื้นพื้นว่างเปล่าได้ดี ไม่จำเป็นต้องให้อาหารอื่นเสริม รวมถึงเป็นสัตว์ที่ทนต่อสภาพอากาศหนาวหรือร้อนได้ดี ไม่โรคน้อย ทำให้มีต้นทุนการเลี้ยงต่ำ
2. แกะเป็นสัตว์ที่เลี้ยงง่าย เชื่อง ไม่ดุหรือทำอันตรายคนเลี้ยง
3. แกะช่วยแทะเล็มหญ้า กำจัดหญ้าไม่ให้ขึ้นรก
4. ขนแกะเป็นเส้นใยขนสัตว์ที่มีคุณภาพสูง นิยมทอเป็นเสื้อผ้า และเครื่องนุ่งห่ม ซึ่งจะมีราคาสูงมากกว่าเส้นใยชนิดอื่น นอกจากนั้น ผลพลอยได้อย่างอื่นทีสำคัญ ได้แก่ หนังแกะที่ใช้ทำผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ กระเป๋า รองเท้า ซึ่งมีราคาสูงมาก
5. แกะสามารถให้ผลผลิตเร็วกว่าการเลี้ยงโค กระบือ แต่ราคาจะน้อยกว่ามาก และความนิยมในบางพื้นที่ยังมีน้อย โดยเฉพาะในภาคอีสาน

ประวัติการเลี้ยงแกะในไทย
การเลี้ยงแกะในไทยมีบันทึกเริ่มเลี้ยงมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509 โดยคณะสอนศาสนาชุดหนึ่งที่ได้นำแกะพันธุ์ดอร์เซ็ท (Dorset) จำนวน 7 ตัว จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาเลี้ยงที่จังหวัดเชียงใหม่ และต่อมาในปี พ.ศ. 2518 ได้นำแกะพันธุ์ดอร์เซ็ทอีก จำนวน 6 ตัว จากประเทศออสเตรเลียเข้ามาเลี้ยงอีก จากนั้น ในปี พ.ศ. 2522 กรมปศุสัตว์ได้นำเข้าแกะพันธุ์ดอร์เซ็ทฮอร์น (Dorset Horn) มาทดลองเลี้ยง และนำเข้ามาเลี้ยงอีกในปี พ.ศ. 2532 ต่อจากนั้น เอกชนได้เริ่มนำเข้าแกะพันธุ์อื่นๆมาเลี้ยงเพิ่มขึ้น อาทิ นำเข้าแกะพันธุ์ซัฟฟอล์ค (Sufflok) ในปี พ.ศ. 2529 และพันธุ์โพลด์ดอร์เซ็ท (Polled Dorset) ปี พ.ศ. 2530 เป็นต้น จากนั้น แกะจึงเริ่มแพร่กระจาย และเลี้ยงมากขึ้นในหลายจังหวัด (1)

พันธุ์แกะ
1. พันธุ์คาทาดิน (katahdin) เป็นแกะพันธุ์เนื้อที่ให้น้ำหนักหรือผลผลิตหรือคุณภาพเนื้อสูง เป็นแกะที่เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศต่างๆได้ดี

พันธุ์คาทาดิน
พันธุ์คาทาดิน

2. พันธุ์ซานตาอิเนส (Santa ines) เป็นแกะที่นำเข้าจากประเทศบราซิล เป็นแกะพันธุ์เนื้อที่ให้ปริมาณ และคุณภาพเนื้อสูงเช่นเดียวกับพันธุ์คาทาดิน

พันธุ์ซานตาอิเนส
พันธุ์ซานตาอิเนส

3. พันธุ์บาร์บาโดส แบล็คเบลลี (Barbados Blackbelly) เป็นแกะพันธุ์เนื้อ แต่มีลักษณะเด่นอีกอย่าง คือ ให้ลูกดก และมีอัตราการติดลูกแฝดสูง ถึงร้อยละ 60

พันธุ์บาร์บาโดส แบล็คเบลลี
พันธุ์บาร์บาโดส แบล็คเบลลี

4. พันธุ์ดอร์เปอร์ (dorper) เป็นแกะพันธุ์นี้เนื้อ ให้ปริมาณเนื้อ และคุณภาพเนื้อสูง เลี้ยงง่าย ทนต่อสภาพอากาศร้อนหรือหนาวได้ดี

พันธุ์ดอร์เปอร์
พันธุ์ดอร์เปอร์

5. พันธุ์เซ้าท์แอฟริกันมัตตอนเมอริโน (South African Mutton Merino) เป็นแกะที่สามารถให้ทั้งปริมาณเนื้อ คุณภาพเนื้อ และขนที่มีคุณภาพสูง

พันธุ์เซ้าท์แอฟริกันมัตตอนเมอริโน
พันธุ์เซ้าท์แอฟริกันมัตตอนเมอริโน

6. พันธุ์คอร์ริเดล (Corriedale)
ให้ผลผลิตเหมือนกับแกะพันธุ์ที่ 5

พันธุ์คอร์ริเดล
พันธุ์คอร์ริเดล

7. พันธุ์บอนด์ (Bond)
ให้ผลผลิตเหมือนกับแกะพันธุ์ที่ 5

พันธุ์บอนด์
พันธุ์บอนด์

รูปแบบการเลี้ยงแกะ
1. การปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ
การปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ เกษตรกรมักเลี้ยงเพียงไม่กี่ตัว เพราะเลี้ยงเพื่อบริโภคเนื้อภายในครัวเรือนเป็นหลัก โดยการปล่อยแกะให้ออกหาอาหารในสวนผลไม้ของตนเองหรือตามพื้นที่รกร้างต่างๆ ซึ่งแกะจะได้รับอาหารตามธรรมชาติ นอกจากนั้น เกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อยยังมีการให้อาหารอื่นเสริม ได้แก่ มันเส้น เศษผัก เป็นต้น

2. การเลี้ยงในระบบฟาร์มแบบแปลงหญ้า
เป็นระบบการเลี้ยงที่พบมากในต่างๆประเทศ โดยการเลี้ยงแกะจำนวนมาก เพื่อการจำหน่ายเนื้อ และขน การเลี้ยงรูปแบบนี้จำเป็นต้องมีแปลงหญ้าสำหรับให้แกะแทะเล็มหญ้า ซึ่งอาจเป็นแปลงหญ้าของตนเองหรือพื้นที่ลาดเชิงเขาที่เป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ โดยมีคนเฝ้าระวัง และดูแลแกะโดยตลอด ทั้งนี้ การเลี้ยงแกะตามที่ลาดเชิงเขาที่เป็นทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ เกษตรกรจะปล่อยเลี้ยงแกะเป็นช่วงฤดูกาล แล้วค่อยต้อนแกะเข้าโรงเรือน ส่วนการเลี้ยงแกะในแปลงหญ้าตนเอง จะปล่อยเลี้ยงแกะในช่วงกลางวัน แล้วต้อนแกะเข้าโรงเรือนในช่วงเย็น

3. การเลี้ยงในระบบฟาร์มแบบกักขัง
การเลี้ยงในระบบฟาร์มแบบกักขัง เป็นการเลี้ยงแกะจำนวนมากเพื่อจำหน่ายเนื้อหรือการขายขนแกะ โดยแกะจะเลี้ยงภายในโรงเรือนตลอด ส่วนอาหารเกษตรกรจะคอยหามาให้ ทั้งการหาหญ้าจากที่สาธารณะหรือแปลงหญ้าที่ปลูกไว้ อาทิ หญ้าขน หญ้าเนเปียร์ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องมีความรู้ในเรื่องการจัดการแปลงหญ้าร่วมด้วย นอกจากหญ้าสดแล้ว ในระบบฟาร์มยังเสริมด้วยอาหารอื่น อาทิ มันเส้น ข้าวโพดบด และหญ้าหมัก เป็นต้น รวมไปถึงเกลือแร่ร่วมด้วย

การเลี้ยงแกะ
การเลี้ยงแกะส่วนใหญ่มีวัตถุประสงค์รับประทานเนื้อ และเก็บขนสำหรับใช้ในอุตสาหกรรมทอผ้า โดยประเทศที่เลี้ยงแกะมาก ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน รัชเชีย นิวซีแลนด์ อินเดีย อาเจนติน่า อัฟกานิสถาน ตุรกี และสหรัฐอเมริกา ส่วนการเลี้ยงแกะในประเทศพบได้ในบางจังหวัด จังหวัดที่เลี้ยงมาก ได้แก่ กาญจนบุรี ลพบุรี นครสวรรค์ เชียงใหม่ และนครปฐม เป็นต้น

สำหรับประเทศไทยยังมีการเลี้ยงอยู่ในวงจำกัด พบการเลี้ยงในรูปแบบฟาร์มขนาดใหญ่ไม่กี่แห่ง และพบการเลี้ยงเป็นแหล่งอาหารในครัวเรือน ครัวเรือนละ 2-3 ตัว สำหรับการให้เนื้อบริโภค โดยแกะที่เลี้ยงในครัวเรือนส่วนมากจะเป็นแกะพันธุ์พื้นเมืองที่มีขนาดเล็ก (น้ำหนัก 20 – 30 กิโลกรัม) ลักษณะการเลี้ยงเป็นแบบผูกล่ามหรือปล่อยให้กินหญ้าในบริเวณบ้าน ในสวนผลไม้ สวนปาล์ม และที่สาธารณะต่างๆ โดยให้อาหารอื่นร่วมด้วย อาทิ วัสดุเศษเหลือจากการเกษตร ไม่มีการให้อาหารข้นหรือเสริมแร่ธาตุ

พันธุ์แกะที่กรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยง ได้แก่
1. พันธุ์คาทาดิน
แกะพันธุ์นี้ เป็นแกะเนื้อที่ปรับตัวเข้ากับสภาพพื้นที่ต่างๆได้ดี กินหญ้าได้หลายชนิด สามารถปล่อยเลี้ยงตามทุ่งหญ้าในที่ต่างๆได้ดี โดยไม่ต้องเสริมอาหารข้น มีการผลัดขนเองเมื่อถึงฤดูร้อน เป็นแกะที่ทนพยาธิภายใน และโรคต่างๆได้ดีกว่าแกะพันธุ์อื่น
2. พันธุ์บาร์บาโดส แบล็คเบลลี
แกะพันธุ์นี้ เป็นแกะที่มีให้ลูกดกกว่าพันธุ์อื่นๆ เป็นแกะที่ให้ลูกแฝดสูง สูงถึงร้อยละ 60.8
3. พันธุ์ดอร์เปอร์
แกะพันธุ์นี้ สามารปรับตัวเข้ากับพื้นที่ต่างๆได้ดี มีความสามารถในการทนแล้งหรืออากาศร้อนได้ดีมาก ขนลำตัวมีสีขาว หัวมีสีดำ ไม่มีการแทงเขา และที่สำคัญสามารถให้เนื้อที่มีคุณภาพสูง

การผสมพันธุ์แกะ
1. ใช้พันธุ์ตามวัตถุประสงค์ของการเลี้ยง เช่น ต้องการเนื้อ ควรเลือกแกะพันธุ์เนื้อ ต้องการขน ควรเลือกพันธุ์ที่ให้ขนปริมาณสูง หรือพันธุ์ที่มีลักษณะเด่นทั้งให้เนื้อ และขน
2. เลือกพันธุ์ที่มีอัตราการให้ลูกแฝดสูง
3. ให้เลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มาจากคนละคอกกัน ไม่ควรผสมพ่อแม่พันธุ์กับลูกที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์เดียวกัน หรือ ไม่ผสมลูกที่เกิดจากพ่อแม่พันธุ์ตัวเดียวกัน

การดูอายุแกะ
– แกะอายุน้อยกว่า 1 ปี มีเพียงฟันน้ำนม
– แกะอายุ 1-2 ปี มีฟันแท้เกิด 1 คู่
– แกะอายุ 2-3 ปี มีฟันแท้เกิด 2 คู่
– แกะอายุ 3-4 ปี มีฟันแท้เกิด 3 คู่
– แกะอายุ 4-5 ปี มีฟันแท้เกิด 4 คู่

การจำหน่ายผลิตภัณฑ์เนื้อแกะ
– เนื้อแกะทั่วไป ราคากิโลกรัมละ ประมาณ 70 บาท
– ขาสะโพก ราคากิโลกรัมละ ประมาณ 100 บาท
– สันนอก ราคากิโลกรัมละ ประมาณ 80 บาท
– ซี่โครง ราคากิโลกรัมละ ประมาณ 80 บาท
– แข้ง ราคากิโลกรัมละ ประมาณ 80 บาท
– เครื่องใน ราคาพวงละ ประมาณ 30 บาท

ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวเป็นราคาสำรวจประมาณปี พ.ศ. 2536 และราคาปัจจุบันมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น (2)

ขนแกะ (fleece)
ขนแกะเป็นผลิตหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งที่ได้จากการเลี้ยงแกะ โดยแบ่งขนแกะออกเป็น 2 ชนิด ได้แก่
1. ขนแกะเส้นใยละเอียด หรือเรียกว่า วูล (wool) เป็นขนแกะที่นำมาใช้ประโยชน์มากที่สุด
2. ขนแกะเส้นใยหยาบ หรือเรียกว่า แฮร์ (hair) หรือ เคมพ์ (kemp)

ลักษณะเด่นของขนแกะเส้นใยละเอียด (wool)
1. มีรูพรุนสูง สามารถดูดซับความชื้นได้ดีกว่าเส้นใยชนิดอื่น และสารถดูดซับความชื้นได้มากถึงร้อยละ 18 ของน้ำหนักเส้นใย
2. มีคุณสมบัติในการกันความร้อน และกันความหนาวเย็นได้ดี
3. มีน้ำหนักเบา
4. มีคุณสมบัติที่ยืดหยุ่นได้ดี สามารถยืดตัวได้ถุงร้อยละ 30 ของความยาวเส้นใยปกติ และสามารถคืนกลับเป็นเส้นใยได้ปกติ ไม่เปลี่ยนสภาพไปจากเดิม รวมถึงทนต่อการหักพับหรือการยับย่น
5. ย้อมติดสีได้ง่าย สีย้อมที่ติดมีความคงทน เหมาะสำหรับการใช้ย้อมด้วยสีแอสิด (Acid Dyes)
6. มีความเหนียวสูงเทียบเท่าเหล็กกล้า
7. หากติดไฟจะไม่เกิดการลุกลาม และเมื่อนำห่างไฟก็จะดับได้ง่าย
8. มีความคงทน มีอายุการใช้งานยืนนาน
9. สามารถตีหรือทอเป็นเส้นได้ดี รวมถึงสามารถทอเป็นผืนได้ดี

ทั้งนี้ ขนแกะสามารตัดได้ 1 ปี/ครั้ง แกะหนึ่งตัวที่หนักประมาณ 30 กิโลกรัม จะให้ขนแกะได้ประมาณ 2.30 กิโลกรัม และเมื่อล้างทำความสะอาด และตากแห้งแล้วจะเหลือน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม โดยการเลี้ยงแกะแบบปล่อย และแบบกักขัง ไม่มีผลต่อปริมาณการให้ขนแกะ การให้ลูก และน้ำหนัก แต่การเลี้ยงแกะแบบขังจะให้น้ำหนักของขนแกะหลังการล้างมากกว่าการเลี้ยงแบบปล่อย และแกะที่เลี้ยงใน 1 ปี สามารถตกลูกได้ 2 ครั้ง มีระยะการตกลูกประมาณ 215-220 วัน และมีโอกาสเกิดลูกแฝดสูง ถึงร้อยละ 60.8 หรือในแม่แกะ 10 ตัว จะมีแม่แกะ 6 ตัวสามารถให้ลูกแฝดได้ (3)

ขอบคุณภาพจาก http://pioneerthinking.com/, livingdesert.org/, topsy.one/, Hivewallpaper.com/, StudyBlue.com/, Bib.ge

เอกสารอ้างอิง
(1) อุษา พรพงษ์, 2536, การศึกษาอิทธิพลของหญ้าหมักที่ทำจาก-
พืชอาหารสัตว์ต่างชนิดกันต่อการเจริญเติบโต-
และคุณภาพซากของแกะขุน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(2) อุษา พรพงษ์, 2536, การศึกษาอิทธิพลของหญ้าหมักที่ทำจาก-
พืชอาหารสัตว์ต่างชนิดกันต่อการเจริญเติบโต-
และคุณภาพซากของแกะขุน, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
(3) บุญเสริม ชีวะอิสระกุล, 2541, การผลิตและการใช้ประโยชน์จากขนแกะ-
ที่เลี้ยงในภาคเหนือตอนบน, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.