เต่าดาวอินเดีย และการเลี้ยงเต่าดาวอินเดีย

16984
gujarat

เต่าดาวอินเดีย (Indian star tortoise) จัดเป็นเต่าสวยงามต่างประเทศ (อินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา) ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาเลี้ยงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจาก เต่ามีขนาดไม่ใหญ่มาก กระดองมีลวดลาย และสีสันสวยงาม แตกต่าง และแปลกตากว่าเต่าหลายชนิดที่พบในไทย

อนุกรมวิธาน
• อาณาจักร (kingdom): Animalia
• ไฟลัม (phylum): Chordata
• ชั้น (class): Reptilia
• อันดับ (order): Testudines หรือ Chelonia
• วงศ์ (family): Testudinidae
• สกุล (genus): Geochelone
• ชนิด (species): Geochelone elegans

• ชื่อสามัญ : Indian star tortoise
• ชื่อท้องถิ่นต่างประเทศ :
– Kachuva
– Kasav
– Amai
– Amah
– Tabelu
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Geochelone elegans
• ชื่อพ้องวิทยาศาสตร์ :
– Testudo elegans
– Testudo stellate
– Chersine elegans
– Testudo actinoides
– Geochelone (Geochelone) stellate
– Testudo megalopus
– Peltastes stellatus
– Peltastes stellatus var. actinoides
– Geochelone elegans elegans

สถานะกฎหมายที่เกี่ยวข้องในประเทศไทย
ในไทย เต่าดาวอินเดีย มีความเกี่ยวข้องกับกฎหมาย 1 ฉบับ และอนุสัญญา 1 ฉบับ คือ
1. พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และ พ.ศ. 2546
2. อนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้จะสูญพันธุ์ (CITES) ในบัญชีหมายเลข 2 (Appendix II)

สัตว์และพืชในบัญชีหมายเลข 2 ของ CITES จัดเป็นชนิดที่ยังไม่ถึงระดับใกล้สูญพันธุ์ ผู้ค้าขายหรือส่งออกจะต้องได้รับใบอนุญาต และมีหนังสือรับรองก่อน นอกเหนือจากเต่าดาวอินเดียแล้ว ยังมีเต่าบกหลายชนิดในวงศ์ Testudinidae ยกเว้นที่อยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ที่จัดอยู่ในบัญชีดังกล่าว ได้แก่
1. เต่ายักษ์กาลาปากอส
– ชื่อสามัญ : Galapagos Giant Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Geochelone nigra

2. เต่าบกลายจักรหรือ เต่าลายรัศมี
– ชื่อสามัญ : Radiated Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Geochelone radiata

3. เต่ามาดากัสการ์
– ชื่อสามัญ : Madagascar Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Geochelone yniflora

4. เต่าบกขอบเหลืองหรือเต่ายักษ์เม็กซิโก
– ชื่อสามัญ : Yellow-bordered Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Gopherus flavomarginatus

5. เต่าลายเลขาคณิต
– ชื่อสามัญ : Geometric Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Psammobates geometricus

6. เต่าแมงมุม
– ชื่อสามัญ : Spider Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Pyxis planicauda

7. เต่าโดมอียิปต์ หรือ เต่าอียิปต์
– ชื่อสามัญ : Egyptian Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Testudo kleinmanni

8. เต่าโดมเนเกฟหรือเต่าเวอร์เนอร์
– ชื่อสามัญ : Negev Tortoise หรือ Werner’s Tortoise
– ชื่อวิทยาศาสตร์ : Testudo werneri

ถิ่นกำเนิด และการแพร่กระจาย
เต่าดาวอินเดียมีแหล่งที่อยู่ที่หลากหลายในธรรมชาติ ได้แก่ พื้นที่กึ่งแห้งแล้ง ทุ่งหญ้าเนินทราย (sand dunes) ป่าเบญจพรรณชื้น (moist deciduous forests) ป่าละเมาะ (scrub forest) ซึ่งมีช่วงฤดูแล้งยาวนาน 3-10 เดือน รวมถึงพื้นที่เกษตรกรรม

เต่าดาวอินเดียมักจะหลบซ่อนตามที่กำบังในแหล่งที่อยู่ในเวลาใกล้พลบค่ำ ส่วนในช่วงฤดูหนาว สัตว์มักจะพัก ซ่อนตัวนิ่ง แตกต่างกับในช่วงฤดูมรสุมซึ่งพบว่า เต่าจะทำกิจกรรมต่างๆ และเดินไปมาในระหว่างวัน

มีรายงานการกระจายตัวของเต่าชนิดนี้ในประเทศอินเดีย (เช่น เมือง Rajasthan, Gujarat, Karnataka, Andhra Pradesh, Orrisa, Tamil Nadu, Madhya Pradesh, และ Kerala) ปากีสถาน และศรีลังกา โดยไม่พบรายงาน
ชนิดย่อย (subspecies) แต่พบความแตกต่างทางกายภาพ ดังตารางด้านล่าง รวมถึงความแตกต่างทางพันธุกรรม (genetic diversity) ของการวิเคราะห์ข้อมูลลายพิมพ์ดีเอ็นเอที่นิวเคลียสและไมโทคอนเดรียจากตัวอย่างเลือดของเต่าดาวอินเดียที่มีการจับกุมและยึดเอาไว้ โดยเปรียบเทียบกับเต่ากลุ่มควบคุมที่อยู่ในพื้นที่ทางใต้ และทางตะวันตกของประเทศอินเดีย [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ตารางแสดงลักษณะที่แตกต่างของเต่าดาวตามแหล่งภูมิประเทศต่างๆ

แหล่งที่พบ ลักษณะเด่น
1. ทางตอนเหนือประเทศอินเดีย และปากีสถาน(Gujarat, Rajasthan, Uttar Pradesh) มีขนาดใหญ่ สีพื้นค่อนข้างเข้ม สีกระดองเป็นสีดำมากกว่าสีน้ำตาล และมีลักษณะ“แลดูสกปรก” (dirty appearance) มากกว่าเต่าดาวอินเดียทางใต้

gujarat
gujarat
2. ทางตอนใต้ประเทศอินเดีย

(Tamil Nadu, Kerala, Karnataka)

มีขนาดเล็กเมื่อเปรียบเทียบกับเต่าดาวอินเดียทางเหนือ ส่วนลายที่กระดองมีความแตกต่างโดยพบสีพื้นเป็นสีครีม และสีเหลือง

tamil-nadu
tamil-nadu
3. ศรีลังกา (Sri Langkan stars) เต่าชนิดนี้เรียกว่า Sri Langkan stars มีลักษณะที่คล้ายคลึงกับเต่าดาวอินเดียตอนใต้ แต่มีขนาดใกล้เคียงกับเต่าดาวอินเดียทางตอนเหนือของอินเดียเหนือ และปากีสถาน แต่กระดองยกเป็นรูปพีระมิดมากกว่า และมีลายสีเหลือง

 

sri-langkan-stars
sri-langkan-stars

แนวโน้มในแหล่งธรรมชาติ และตลาดสัตว์เลี้ยง
เต่าดาวอินเดียจัดอยู่ในกลุ่มเต่าที่มีความสวยงาม ทั้งสี และรูปแบบ ซึ่งได้รับความนิยมสำหรับผู้ที่เลี้ยงสัตว์ทั่วโลก ในขณะที่ประชากรเต่าในแหล่งธรรมชาติมีการลดจำนวนลง เนื่องจาก การสูญเสียแหล่งที่อยู่อาศัยและการค้าเพื่อนำมาเลี้ยง

สัตว์ป่าที่ผิดกฎหมายในระดับสากล (illegal international wildlife trade) ตัวอย่างข้อมูลการสำรวจการซื้อขายแลกเปลี่ยนเต่าดาวอินเดีย เช่น ในประเทศมาเลเซีย ผู้ขายปลีกมีการจัดกลุ่มของเต่าออกเป็น 3 ขนาดเพื่อใช้ในการประเมินราคาขายโดยแบ่งตามขนาดความยาวของกระดองส่วนบน (carapace length; CL) ได้แก่
1. เต่าขนาดเล็กหรือเต่าที่มี CL น้อยกว่า 5 เซนติเมตร ซึ่งจัดเป็นกลุ่มตัวแทนของเต่าในกลุ่มอายุแรกฟัก (hatchling age group)
2. เต่าขนาดกลางหรือเต่าที่มี CL 5 ถึง 10 เซนติเมตร
3. เต่าขนาดใหญ่หรือเต่าที่มี CL มากกว่า 10 เซนติเมตร จะถูกจัดอยู่ในกลุ่มเต่าที่โตเต็มวัย (adult) และเป็นเต่าในกลุ่มที่จัดว่ามีราคาสูงที่สุด

เต่าดาวอินเดียจำนวนมากมักถูกลักลอบจากประเทศอินเดีย ปากีสถาน และศรีลังกา สู่ตลาดค้าสัตว์ในเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยพบการยึดเต่าของกลางได้บ่อยในเมืองต่างๆ เช่น กรุงเทพฯ กัวลาลัมเปอร์ และจาการ์ตา เป็นต้น

ลักษณะเต่าดาวอินเดีย
เต่าดาวอินเดีย จัดเป็นเต่าบก (tortoise หรือ land turtle) ลำตัวมีขนาดกลาง (เมื่อทำการเปรียบเทียบกับเต่าในสกุลเดียวกัน) เต่าตัวเมียมีขนาดตัวใหญ่กว่าตัวผู้ โดยปกติแล้วตัวเมีย มีขนาด 10-12 นิ้ว (25-31 เซนติเมตร) ในขณะที่ตัวผู้มีขนาด 7-8 นิ้ว (18-20 เซนติเมตร) มักจะพบว่าเต่าเข้าสู่วัยที่พร้อมสำหรับการสืบพันธุ์ที่ขนาดตัวประมาณ 5-8 นิ้ว (13-20 เซนติเมตร) ซึ่งพบได้ในเต่าเลี้ยงที่มีอายุประมาณ 3-7 ปี ส่วนของกระดองด้านบน (carapace) มีลักษณะโค้งเป็นโดมสีเหลืองปนดำ และน้ำตาล มีลายเส้นสีเหลืองรูปแบบคล้ายดาว ซึ่งพบได้ในส่วนของกระดองด้านล่าง (plastron) เช่นเดียวกัน ในเต่าแรกเกิดจะมีลักษณะลายคล้ายผีเสื้อสีเหลืองหรือลายคันธนู เมื่อเต่ามีอายุมากขึ้นจะมีลายทางยาวชัดเจนขึ้น ส่วนหัวมีสีเหลือง และสามารถพบจุดสีดำ ส่วนขาหน้ามีสีเหลือง และมีเกล็ดยื่นออกมา

อาหาร และการกินอาหาร
มีการจัดเต่าดาวอินเดียตามการกินอาหารให้อยู่ในกลุ่มที่กินพืชเป็นอาหารหลัก (herbivore) อย่างไรก็ตามในธรรมชาติพบว่าเป็นเต่าที่กินพืช และสัตว์เป็นอาหาร (omnivore)โดยกินพืชผักเป็นหลัก เช่น พรรณไม้น้ำ ผลไม้ หญ้า พืชชนิดต่างๆ หอยทาก สิ่งขับถ่ายของนก และสัตว์อื่นๆ และพบรายงานการให้ซากสัตว์ (carrion) ในเต่าเลี้ยง นอกจากนี้ มีรายงานอาหารอื่นๆที่เต่าดาวอินเดียกินเป็นอาหาร เช่น พืชสกุลถั่วเขียว (Vigna species) ดอกไม้ หัวหอมป่า รวมถึงสัตว์ เช่น ทาก ไส้เดือนดิน ส่วนใหญ่เต่ามีกิจกรรมในช่วงเวลากลางวัน (diurnal) โดยพบว่าในช่วงหน้าฝน เต่าจะมีกิจกรรมมากขึ้น เต่ามักจะอยู่ในกองใบไม้แห้ง ไม่พบการจำศีล (hibernation) แต่อาจจะพบว่าเต่าอยู่นิ่งถ้ามีอากาศที่ร้อนหรือหนาวเกินไป ไม่มีนิสัยในการขุดหรือปีนป่าย ไม่ก้าวร้าว ค่อนข้างขี้อาย และไวต่อความเครียด

การผสมพันธุ์ และวางไข่
ฤดูการทำรังในธรรมชาติ มักเกิดพร้อมกับช่วงที่มีมรสุม เช่น ในภาคตะวันตกของอินเดียพบในช่วง
กลางเดือนพฤศจิกายน ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดียจะพบในช่วงเดือนมีนาคม-เดือน
มิถุนายน และช่วงเดือนตุลาคม-เดือนมกราคม

ในเต่าดาวอินเดียตัวผู้ กระดองส่วนล่างจะมีลักษณะโค้งเว้าซึ่งมีส่วนช่วยในการขึ้นผสมพันธุ์ (mount) และพบพฤติกรรมการชน (shove) และพยายามที่จะพลิกคว่ำตัว (overturn) ซึ่งกันและกัน เต่าตัวเมียจะวางไข่โดยใช้เท้าหลังขุดหลุม และทำให้ดินชุ่มชื่น โดยการปัสสาวะรดดิน เมื่อวางไข่แล้วก็จะกลบบริเวณที่วางไข่ จำนวนไข่ต่อครั้ง (clctch size) คือ 1-10 ฟอง โดยอาจจะพบการวางไข่มากกว่า 1 ครั้งในแต่ละฤดูกาล มีระยะการฟักอยู่ในช่วงตั้งแต่ 47-180 วัน ซึ่งขึ้นกับอุณหภูมิในการฟัก มักจะพบการวางไข่ในช่วงเดือนมีนาคม เมษายน มิถุนายน ตุลาคมและพฤศจิกายน ไข่มีลักษณะกลมรี สีขาว ลักษณะเปลือกด้าน ขนาดตั้งแต่ 40 x 35 – 51 x 37 มิลลิเมตร [1] อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

การเลี้ยงเต่าดาวอินเดีย
การเลี้ยงเต่าดาวอินเดีย แบ่งออกได้หลายรูปแบบ ได้แก่
1. การเลี้ยงในกรงขนาดเล็ก
การเลี้ยงรูปแบบนี้ มักเลี้ยงกับเต่าขนาดเล็กหรือเต่าวัยอ่อน เพราะต้องการพื้นที่ไม่มาก ส่วนกรงอาจทำจากไม้หรือใช้โครงไม้ตีปิดข้างด้วยมุ้งไนล่อนหรือมุ้งลวด ลักษณะกรงเป็นสี่เหลี่ยม สามารถยกเปลี่ยนจุดวางได้

2. การเลี้ยงในโรงเรือน
การเลี้ยงในโรงเรือนเหมาะสำหรับเต่าขนาดตัวเต็มวัย ต้องการพื้นที่ทำกิจกรรมมากขึ้น โรงเรือนคล้ายกับโรงเรือนเลี้ยงไก่หรือเลี้ยงกระต่าย ทำได้จากโครงไม้ ตีปิดข้างด้วยมุ่งลวดหรือมุ้งไนล่อน ด้านบนตีปิดด้วยหลังคาสังกะสี ขนาดโรงเรือนมากกว่า 2 ตารางเมตร ขึ้นไป ทั้งนี้ พื้นด้านล่าง ควรเทด้วยทราย นำแกลบหรือเศษใบไม้รองพื้นเล็กน้อย ร่วมกับอ่างน้ำขนาดเล็ก

3. การปล่อยเลี้ยงตามธรรมชาติ
การเลี้ยงรูปแบบนี้ เหมาะสำหรับเต่าตัวเต็มวัยที่ต้องการปล่อยให้อยู่แบบธรรมชาติมากที่สุด โดยปล่อยให้หากินหรือทำกิจกรรมภายในบ้านตามธรรมชาติ แต่ควรทำรังอาศัย กันแดด กันฝน เป็นรังเล็กๆในบริเวณจุดใดจุดหนึ่งของตัวบ้าน ทั้งนี้ ต้องมั่นใจในด้านต่างๆ ได้แก่
– พื้นโดยรอบมีกำแพงมิดชิด ไม่มีช่องหรือรูขนาดใหญ่ทะลุออกด้านนอก
– ประตูหน้าบ้านสามารถปิดได้ และขอบด้านล่างประตู ตีปิดด้วยแผ่นโลหะหรือมุ้งลวดอย่างมิดชิด
– ไม่มีสัตว์ศัตรูภายในบ้าน อาทิ สุนัขหรือแมว

อาหารใช้เลี้ยง ได้แก่
– ผักชนิดต่างๆ อาทิ ผักบุ้ง คะน้า ผักกาด ผักกวางตุ้ง เป็นต้น ซึ่งเป็นผักทั่วไปที่หาได้ง่าย
– พรรณไม้น้ำ อาทิ สาหร่าย แหน จอก เป็นต้น
– ผลไม้ เมล็ดธัญพืช หรือผลของผัก อาทิ ข้าวโพด ถั่ว แตงโม สัปปะรด ลูกตำลึงสุก เป็นต้น
– อาหารเม็ดสำเร็จรูป อาทิ อาหารแมว อาหารสุนัข เป็นต้น ซึ่งให้ในบางครั้ง เพียงเล็กน้อย

%e0%b8%81%e0%b8%b2%e0%b8%a3%e0%b9%80%e0%b8%a5%e0%b8%b5%e0%b9%89%e0%b8%a2%e0%b8%87%e0%b9%80%e0%b8%95%e0%b9%88%e0%b8%b2%e0%b8%94%e0%b8%b2%e0%b8%a7%e0%b8%ad%e0%b8%b4%e0%b8%99%e0%b9%80%e0%b8%94%e0%b8%b5

ขอบคุณภาพจาก trangzone.com/, chiangraifocus.com/

เอกสารอ้างอิง
[1] ขวัญตา ชยาภัม, 2556, การเปรียบเทียบผลการใช้อัลโลพูรินอล (ALLOPURINOL)-
และสารสกัดหญ้าหนวดแมว [ORTHOSIPHON ARISTATUS (BLUME) MIQ.]-
ต่อค่าโลหิตวิทยาและค่าองค์ประกอบทางเคมี-
ของปัสสาวะในเต่าดาวอินเดีย (GEOCHELONE ELEGANS). จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.