หอยขม และการเลี้ยงหอยขม

46031

หอยขม (pond snail) เป็นหอยน้ำจืดที่นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากหาง่าย มีเนื้อมาก รับประทานได้ทั้งตัว และเนื้อหอยมีความอร่อย นิยมนำมาประกอบอาหารในหลายเมนู อาทิ แกงอ่อมหอยขม ผัดเผ็ดหอยขม รวมถึงนิยมต้มสุกสำหรับจิ้มรับประทานคู่กับน้ำพริก และส้มตำ

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Filopaludina martensi martensi (Frauenfeltd)
• ชื่อสามัญ : pond snail
• ชื่อไทย :
– หอยขม
– หอยจุ๊บ
– หอยจูบ
– หอยดูด

อนุกรมวิธาน
Phylum : Mollusca
Class : Gastropoda
Subclass : Streptoneura (Prosobranchia)
Order : Mesogastropoda
Superfamily : Viviparacea
Family : Viviparidae
Genus : Filopaludina
Species : Filopaludina martensi
Sub-species : Filopaludina martensi martensi

ทั้งนี้ หอยขมที่พบในประเทศไทยจะมีเพียงสกุลเดียว คือ Filopaludina รวมเป็น 14 ชนิด

ลักษณะของหอยขม
ลักษณะภายนอกของหอยขม
ของหอยขม จัดเป็นหอยฝาเดียว มีเปลือกหนาปานกลาง แต่เปลือกแข็งแรงมาก ผิวเปลือกเรียบ แบ่งเป็น 3 ชั้น มีชั้นกลางที่เป็นหินปูนมีขนาดหนาที่สุด ส่วนสีของเปลือกด้านนอก หากอยู่ในน้ำหรือนำขึ้นจากน้ำใหม่ๆจะมีสีน้ำตาลอมดำจนถึงดำ ขึ้นอยู่กับสภาพแหล่งน้ำที่อาศัย แต่หากอยู่บนบกนาน ตะไคร่น้ำจะลอกออก ทำให้มองเห็นเป็นสีน้ำตาลอมเขียวหรือสีน้ำตาลดำ และเปลือกหอยจะมีลายเส้นขนาดเล็กพาดเป็นวงเรียงซ้อนกันในแนวขวางของเปลือกหอย

หอยขม1

เปลือกของหอยขมที่หุ้มลำตัวจะมีรูปทรงกรวย ที่ขดเป็นเกลียว เวียนขวาและมีขนาดเกลียวค่อยๆเล็กลงไปหาท้ายเปลือกที่มีลักษณะแหลม โดยส่วนหน้าจะมีขนาดใหญ่ และมีช่องเปิดที่เปิดปิดด้วยฝาหอย ซึ่งเรียกส่วนหน้านี้ว่า ปากเปลือก

ลักษณะภายในของหอยขม
ภายในเปลือกหอยจะเป็นส่วนลำตัวหอย ที่ประกอบด้วยส่วนหัวที่ประกอบด้วยตา 1 คู่ และหนวด 1 คู่ ปากหอย แผ่นเท้าหอย ถัดมาจะเป็นระบบทางเดินอาหาร และมดลูกที่ขดเป็นเกลียวตามรูปเปลือกหอยจนถึงทวารหนักบริเวณท้ายหอย

ระบบการย่อยอาหารหรือทางเดินอาหารของหอยขมแบ่งเป็น 3 ส่วน หลอดอาหารส่วนต้น หลอดอาหารส่วนกลาง และหลอดอาหารส่วนท้าย ซึ่งทางเดินอาหารจะบิดขดเป็นเกลียว

หลอดอาหารส่วนต้นจะเริ่มตั้งแต่จะงอยปาก ช่องปาก และหลอดกระเพาะอาหาร โดยจะงอยปากจะมีลักษณะเป็นกล้ามเนื้อที่มีหูรูด ส่วนช่องปากจะมีฟันเป็นแผ่นกระดูกอ่อนเป็นซี่เล็กๆที่ทำหน้าที่เป็นฟันสำหรับบดเคี้ยวอาหาร ถัดมาก่อนถึงหลอดกระเพาะอาหารจะมีแผ่นเนื้อคล้ายลิ้นที่ทำหน้าที่กั้น และกวาดอาหารให้ออกหรือเข้าภายในประเพาะอาหาร ส่วนหลอดอาหารจะมีลักษณะเป็นกระเปราะสำหรับเป็นที่พักอาหาร และย่อยอาหาร ถัดมาจากหลอดกระเพาะอาหารจะเป็นลำไส้ที่บิดเป็นเกลียวขนาดเล็ก หลังจากนั้น ถัดจากลำไส้จะเป็นทวารหนักซึ่งจะมีขนาดใหญ่มากกว่าส่วนอื่นๆ

หัวใจหอยขมจะอยู่บริเวณข้างถุงปอด และไต โดยหัวใจจะมีเส้นเลือดใหญ่ และเส้นเลือดฝอยที่คอยส่งเลือดไปเลี้ยงตามส่วนต่างๆ

ระบบหายใจของหอยขมจะมี 2 ส่วน คือ ส่วนแรกจะเป็นแผงเหงือกที่มีลักษณะคล้ายใบไม้ขนาดเล็กอยู่บริเวณช่องรอบหัวใจ ส่วนอวัยวะอีกอันที่ใช้หายใจ คือ เยื่อบางๆบริเวณแมนเติลที่มีเส้นเลือดมาเลี้ยงมากมาย และมีถุงเล็กๆที่ทำหน้าที่แทนปอดได้

ระบบประสาทของหอยขมจะประกอบด้วยเส้นประสาททั้งหมด 6 คู่ ที่แตกแขนงไปทั่วส่วนต่างๆของร่างกาย โดยมีอวัยวะที่มีเส้นประสาทรับความรู้สึกอยู่ ได้แก่ แผ่นเท้า หนวด จะงอยปาก และลูกตา

แหล่งอาศัย และการแพร่กระจาย
หอยขม เป็นหอยที่พบมากในแหล่งน้ำนิ่ง ในทั่วทุกภาค สามารถพบได้ในระดับความลึกตั้งแต่ 0.1-2 เมตร พบมากในบ่อน้ำ สระน้ำ ลำคลอง และบึงต่างๆ และจะพบชุกชมมากในแหล่งน้ำนิ่งที่มีดินโคลนมาก และมีซากใบไม้ทับถมกัน

หอยขมมักพบชุกชุมบริเวณริมตลิ่งที่มีโคลนหรือมีกิ่งไม้จับ ด้วยการอยู่รวมกันเป็นกลุ่มในระดับความลึกที่ผิวน้ำจนถึง 1 เมตร โดยในช่วงกลางคืนจะพบได้มากบริเวณริมตลิ่ง ส่วนกลางวันที่มีแดดร้อนจัด หอยขมจะเคลื่อนตัวลงลึก

หอยขมบริเวณที่มีกิ่งไม้ตามริมตลิ่งหรือกลางน้ำมักจะชอบจับตามกิ่งไม้เหล่านั้น ด้วยการใช้แผ่นเท้าที่แผ่ออกเกาะยึด และกินอาหารจากตะไคร้น้ำที่เกาะตามกิ่งไม้ แต่หากไม่มีกิ่งไม้ก็มักจะพบหอยขมฝังตัวอยู่ตามดินโคลนในระดับผิวโคลน และเมื่อมีการลอยน้ำ หอยขมจะใช้เท้าเทียมที่ข้างหนวดพัดโบกไปมาเพื่อให้ลำตัวเคลื่อนที่ไปในทิศทางที่กำหนด

หอยขม

การสืบพันธุ์ และการเจริญเติบโต
หอยขม เป็นหอยที่มีทั้ง เพศเมีย และเพศผู้อยู่ในตัวเดียวกัน จึงมีการผสมพันธุ์ได้ภายในตัวเอง หรืออาจใช้วิธีผสมพันธ์ข้ามตัวก็ได้

หอยขม เป็นหอยที่ออกลูกเป็นตัวหรือเป็นตัวหอย เมื่อหอยขมผสมพันธุ์แล้ว ไข่ของหอยขมจะพัฒนาในท่อมดลูกของเพศเมีย จนมีกระดองหุ้ม และมีอวัยวะเหมือนตัวเต็มวัย โดยลูกหอยขมจะถูกปล่อยออกมาจากตัวแม่เมื่อกระดองมีความแข็งแรงแล้ว และหลังปล่อยออกมา แม่หอยจะหนวดเขี่ยวุ้นที่เกาะบนลูกหอยออกเพื่อให้ลูกหอยสามารถเคลื่อนที่ได้ ทั้งนี้ หอยขมตัวเต็มวัยหรือหอยขมที่พร้อมจะผสมพันธ์จะมีอายุประมาณ 60 วัน หรือมีขนาดกว้าง 1.5 – 2 เซนติเมตร ยาว 2-3 เซนติเมตร โดยแม่หอย 1 ตัว จะออกลูกหอยได้ประมาณ 20-30 ตัว

อาหารของหอยขม
อาหารของหอยขมที่สำคัญ ได้แก่ แพลงก์ตอนพืช และสัตว์ขนาดเล็ก ตะไคร้น้ำ พืชน้ำ ซากเน่าเปื่อยของใบไม้ และอินทรีย์สารต่างๆ ที่เป็นตะกอนในดินโคลน ด้วยการใช้จะงอยปากที่ยืดยาวดูดน้ำ และอาหารเข้าปาก

ศัตรูของหอยขม
ศัตรูของหอยขมในแหล่งน้ำจะเป็นปลากินเนื้อต่างๆ อาทิ ปลาไน ปลาดุก ปลาไหล ตะพาบน้ำ เป็นต้น แต่หากหอยขมฝักตัวในดินโคลนที่มีน้ำแห้งนั้นจะมีศัตรูสำคัญที่เป็นนักล่าต่างๆ อาทิ เป็ด ไก่ หนูนา รวมถึงมนุษย์ด้วย

ประโยชน์ของหอยขม
1. หอยขมนำมาต้มรับประทานคู่กับส้มตำ
2. หอยขมนำมาประกอบอาหาร อาทิ แกงอ่อมหอยขม เป็นต้น
3. หอยขมจับมาเป็นอาหารให้แก่เป็ด

หอยขม2

การเลี้ยงหอยขม
การเลี้ยงหอยขมที่นิยมในปัจจุบันทำใน 2 แบบ คือ
1. การเลี้ยงในกระชัง
วัสดุ/อุปกรณ์
– ตาข่ายไนลอนตาถี่ ตัดเย็บเป็นสี่เหลี่ยม ขนาดกว้าง 2 เมตร ยาว 4 เมตร ลึก 1.5 เมตร หรือปรับขนาดตามความต้องการ ทั้งนี้ต้องตรวจสอบรูแหว่ง หากพบให้เย็บปิดให้หมด
– ไม้ไผ่ยาวตามความลึกบ่อ
– ทางมะพร้าว หรือ กิ่งไม้
– เศษใบไม้หมัก/แห้ง
– ลวด

พ่อแม่พันธุ์
พ่อแม่พันธุ์หอยขมที่ใช้เลี้ยงต้องมีอายุตั้งแต่ 3 เดือน ขึ้นไป หรือเพื่อความมั่นใจ ควรเลือกใช้พ่อแม่หอยที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักตั้งแต่ 60-100 ตัว/กิโลกรัม ขึ้นไป

การเตรียมกระชัง
– นำไม้ไผ่ตอกลงดินบริเวณริมตลิ่งตามระยะกว้างยาวของผ้าไนลอนที่ตัดเย็บ และให้ได้ระดับความลึกของน้ำ มากกว่า 1.2 เมตร
– นำกระชังไนลอนที่เย็บเป็นสีเหลี่ยมแล้วมาขึงรัดด้วยลวดทั้ง 4 มุม ให้แน่น โดยให้ขอบกระชังด้านบนสูงจากน้ำขึ้นมาประมาณ 20-30 ซม.
– นำทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้ใส่ในกระชัง 3-5 อัน
– นำเศษใบไม้แห้ง 2-3 กิโลกรัม ใส่ทิ้งไว้ (หากเป็นเศษใบไม้หมัก ให้ใส่หลังการปล่อยพ่อแม่พันธุ์แล้ว)
– ควรเตรียมบ่อไว้นาน 5-10 ก่อนปล่อยหอย เพื่อให้เกิดตะไคร่น้ำจับที่ทางมะพร้าว

การปล่อยพ่อแม่พันธุ์
นำพ่อแม่หอยขมปล่อยลงในกระชัง อัตราการปล่อยที่ 200-300 ตัว/ตารางเมตร โดยใช่พ่อแม่พันธุ์หนัก 60-100 ตัว/กิโลกรัม ขึ้นไป เช่น พื้นที่กระชังกว้าง 4 เมตร ยาว 2 เมตร จะปล่อยพ่อแม่พันธุ์ขนาด 100 ตัว/กิโลกรัม (ไม่นำมาคิดจำนวน แต่สำหรับคิดจำนวนกิโลกรัม) ที่อัตรา 300 ตัว/ตารางเมตร รวมเป็นจำนวน 8×200 เท่ากับ 1,600 ตัว หรือเท่ากับ 16 กิโลกรัม

การเลี้ยง และการดูแล
หลังจากการปล่อยพ่อแม่พันธุ์แล้ว ให้นำเศษใบไม้หมัก 5-10 กิโลกรัม ใส่ในกระชัง ซึ่งพ่อแม่หอยขมจะกินอาหารจากตะไคร้น้ำที่จับบนทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้ และซากเน่าเปื่อยของใบไม้ด้านล่างกระชัง และจะเริ่มออกลูกจำนวนมาก นอกจากนั้น ภายในบ่อหรือในกระชัง ให้หว่านด้วยปุ๋ยคอกเสริมเล็กน้อยร่วมด้วย

ทั้งนี้ การใส่ใบไม้แห้ง/ใบไม้หมัก และปุ๋ยคอก ให้พิจารณาปริมาณที่ใส่ให้เหมาะสม ไม่ควรใส่มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้น้ำเน่าเสียได้ รวมถึงต้องคอยลงน้ำตรวจหารูแหว่งที่อาจเกิดจากด้ายหลุด ปูหนีบ หรือปลากัดแทะ

2. การเลี้ยงในบ่อดิน/บ่อปลา/ร่องสวน
การเลี้ยงในบ่อดินร่วมกับการเลี้ยงปลากินพืช หรือการเลี้ยงในร่องสวน เป็นวิธีการหนึ่งที่ช่วยประหยัดต้นทุนการเลี้ยงได้ดี หากเป็นบ่อดิน/ร่องสวนใหม่ มักจะยังไม่มีพ่อแม่พันธุ์หอย ส่วนบ่อ/ร่องสวนที่สูบน้ำจนแห้งแล้ว และไม่มีพ่อแม่พันธุ์ ก็ต้องจำเป็นปล่อยพ่อแม่พันธุ์ใหม่

อัตราการปล่อยพ่อแม่พันธุ์หอยจะใช้อัตราเดียวกันดังที่กล่าวในการเลี้ยงแบบแรก และให้ใส่ทางมะพร้าวหรือกิ่งไม้ในปริมาณตามขนาดของบ่อ ส่วนอาหารจะใช้ในลักษณะเดียวกัน คือ เศษใบไม้ และปุ๋ยหมัก

การเก็บหอยขม
สำหรับการเลี้ยงในกระชัง เมื่อปล่อยหอยขม และเลี้ยงแล้วประมาณ 3 เดือน ให้เริ่มทยอยเก็บพ่อแม่พันธุ์ออกก่อน หลังจากนั้นอีกประมาณ 2 เดือน ค่อยทยอยคัดเก็บหอยที่ได้ขนาดออก และทยอยเก็บเรื่อยๆในทุก 2-3 เดือน ซึ่งจะเก็บหอยขมได้ตลอดทั้งปี ส่วนการเลี้ยงในบ่อดิน ให้ทยอยเก็บในระยะเดียวกัน และสามารถเก็บครั้งสุดท้ายในช่วงสูบน้ำเพื่อเก็บปลา

หอยขม3

ทั้งนี้ การเลี้ยงในบ่อดินที่เลี้ยงปลาหรือในร่องสวนที่มีการสูบน้ำเพื่อเก็บปลา ควรเก็บพันธุ์หอยไว้สำหรับเลี้ยงในปีต่อไปด้วย

ข้อควรระวังการรับประทานหอยขม
1. หอยขมที่นำมารับประทานควรต้มหรือทำให้สุกเสียก่อน เพราะอาจมีไข่พยาธิติดมาด้วย โดยเฉพาะพยาธิใบไม้ในตับ และพยาธิใบไม้ในลำไส้
2. หอยขมในแหล่งน้ำใกล้โรงงานอุตสาหกรรมหรือแหล่งน้ำเสียชุมชน ควรหลีกเลี่ยงรับประทาน เพราะอาจปนเปื้อนโลหะหนักได้