ปูม้า

12239

ปูม้า เป็นปูทะเลที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจาก เนื้อปูมีรสชาติดี เป็นที่นิยมของคนไทย และชาวต่างชาติ เป็นปูที่นิยมนำมาปรุงอาหาร และแปรรูป อาทิ ใช้ปรุงอาหาร ใช้ทำปูดอง ปูกระป๋อง รวมถึงการผลิตเป็นปูนิ่มที่ให้รสอร่อย และมีเนื้อที่กินได้มากกว่าปูม้าที่กระดองแข็ง

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Portunus pelagicus (Linnaeus)
ชื่อภาษาอังกฤษ :
– Blue swimming crab
– Bluey crab
– Swimming crab
ชื่อไทย: ปูม้า

อนุกรมวิธาน
• Phylum : Arthropoda
• Superclass : Crustacea
• Class : Malacostraca
• Subclass : Eumalacostraca
• Superorder : Eucarida
• Order : Decapoda
• Suborder : Pleocyemata
• Infraorder : Brachyura
• Section : Brachyrhncha
• Superfamily : Portunoidea
• Family : Portunidae
• Genus : Portunus
• Species : pelagicus

ปูม้าที่พบในประเทศไทยมีประมาณ 19 ชนิด
1. Portunus argentatus
2. P. brockii
3. P. gladiator
4. P. gracilimanusi
5. P. granulatusi
6. P. hastatoides
7. P. inominatus
8. P. longispispinosus
9. P. minutus
10. P. orbicularis
11. P. orbitominus
12. P. pelagicus
13. P. pseudoargenatus
14. P. pulchricristatus
15. P. rubromarginatus
16. P. sanguinolentus
17. P. tenuipes
18. P. tuberculosus
19. P. tweediei

ลักษณะทั่วไป
ลำตัวปูม้ามี 3 ส่วน คือ ส่วนหัว อก และท้อง โดยส่วนหัวจะติดกับส่วนอก มีกระดองหุ้มด้านบน หนวดปูม้ามี 2 คู่ ติดกับเบ้าตา ส่วนข้างกระดองมีหนามแหลมข้างละ 9 อัน ส่วนขามีทั้งหมด 5 คู่ แต่ละคู่อยู่คนละข้างกันของลำตัว โดยขาคู่แรกเป็นก้ามขนาดใหญ่ ใช้สำหรับจับเหยื่อ และป้องกันตัว ส่วนขาคู่ที่ 2, 3 และ 4 ใช้เป็นขาเดิน มีลักษณะเรียวยาว ปลายปล้องขาสุดท้ายแหลม ส่วนขาคู่ที่ 5 มีลักษณะตรง ปลายขามีลักษณะเป็นใบพาย ใช้ในการว่ายน้ำ

ปูม้า

ท้อง
ท้อง หรือที่เรียกว่า จับปิ้ง โดยจับปิ้งของปูม้าเพศผู้จะมีรูปสามเหลี่ยม มีขนาดค่อนข้างเล็ก แคบ และยาว โดยมีปล้องที่ 3 และปล้องที่ 4 ของส่วนท้องจะเชื่อมติดกัน ขาเดินที่อกคู่แรกมีลักษณะเรียวแหลม และยาวมาก ส่วนปูม้าเพศเมีย จับปิ้งจะมีลักษณะกว้าง และใหญ่กว่าตัวผู้ ปิดคลุมเกือบเต็มหน้าอก และตามขอบของระยางค์จะมีขนขนาดเล็กติดอยู่คล้ายขนนก เพื่อให้ไข่เกาะติดในเวลาฟัก

สี และขนาด
ปูม้าเพศผู้ลำตัวจะกระดองสีฟ้าอ่อน มีจุดขาวประทั้งบนกระดอง ก้าม และขาว่ายน้ำ ส่วนพื้นท้องมีสีขาว ขามีสีฟ้า ปลายขามีสีม่วงแดง ส่วนปูม้าเพศเมียกระดองจะมีสีน้ำตาลอ่อน ไม่มีจุดขาวบนกระดอง และส่วนปลายขาจะมีสีม่วงแดง ขนาดปูม้าเพศผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย ขนาดความยาวกระดองเมื่อโตเต็มวัยประมาณ 4.2 ซม. ขึ้นไป

ประโยชน์ของปูม้า
1. นำมาปรุงอาหารในหลายเมนู อาทิ ปูม้าชุบแป้งทอด ปูม้าผัดผงกะหรี่ ปูม้าผัดพริกไทดำ และยำปูม้า เป็นต้น
2. ปูม้าแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์หลายชนิด อาทิ ปูม้าดองสำหรับใส่ส้มตำ เนื้อปูอัด
ปูม้าผัด

คุณค่าทางอาหารของเนื้อลำตัว และก้ามของปูม้า
• ความชื้น : ลำตัว 75.28%, ก้าม 77.09%
• โปรตีน 22.64%, ก้าม 21.54%
• ไขมัน 1.21%, ก้าม 0.81%
• เถ้า 2.24%, ก้าม 2.52%
• โซเดียม (มก./100 กรัม) : ลำตัว 319.8, ก้าม 353.5
• โพแทสเซียม (มก./100 กรัม) : ลำตัว 303.8, ก้าม 308.9
• แคลเซียม (มก./100 กรัม) : ลำตัว 87.6, ก้าม 150.9
• แมกนีเซียม (มก./100 กรัม) : ลำตัว 48.8, ก้าม 55.8
• ฟอสฟอรัส (มก./100 กรัม) : ลำตัว 154.2, ก้าม 120.6
• สังกะสี (มก./100 กรัม) : ลำตัว 3.72, ก้าม 4.68
• เหล็ก (มก./100 กรัม) : ลำตัว 0.68, ก้าม 0.45
• แมงกานีส (มก./100 กรัม) : ลำตัว 0.16, ก้าม 0.06
• ทองแดง (มก./100 กรัม) : ลำตัว 1.49, ก้าม 2.08

การดำรงชีพ
การแพร่กระจาย
ปูม้า พบอยู่ทั่วไปในทุกจังหวัดตามชายฝั่ง โดยจะพบมากบริเวณปากแม่น้ำ และชายฝั่งที่เป็นดินปนทราย หรือโคลนปนทราย ที่มีสิ่งหลบซ่อนพักพิง เช่น แนวสาหร่าย และหญ้าทะเล ในระดับความลึกระหว่าง 10-50 ม. ที่อุณหภูมิประมาณ 30-32 °C

ปูม้า2

การแพร่กระจายปูม้าในประเทศไทย พบทั้งในทะเลอันดามัน และอ่าวไทย โดยตามแนวชายฝั่งของอ่าวไทยจะมีความชุกชุมของปูม้ามากอยู่ในบริเวณที่มีระดับความลึกของน้ำ 10-20 เมตร ในอ่าวไทยฝั่งตะวันออกจะพบมากในบริเวณเกาะช้าง เกาะกูด หน้าอ่าวเพ จังหวัดระยอง อ่าวไทยตอนในบริเวณรูปตัว ก. โดยบริเวณชายฝั่งทางจังหวัดชลบุรี จะพบปูม้าบริเวณชายฝั่งในเขตอำเภอบางละมุง ตลอดแนวขึ้นมาจนถึงหาดวอนนภา และอ่างศิลา ส่วนบริเวณชายฝั่งจังหวัดเพชรบุรี พบปูม้าได้บริเวณชายฝั่งของอำเภอชะอำ ขณะที่ บริเวณตอนใต้ของอ่าวไทยจะพบปูม้าบริเวณอ่าวบ้านดอน หมู่เกาะอ่างทอง เกาะสมุย เกาะพงัน จังหวัดสุราษฎร์ธานี และอ่าวปัตตานี จังหวัดปัตตานี

การมองเห็น
ปูม้าจะใช้ตาซึ่งมองเห็นได้รอบทิศทางเพื่อประโยชน์ในการล่าเหยื่อ ตาของปูมีลักษณะเป็นตาประกอบคล้ายกับตาของแมลงที่ประกอบด้วยตาย่อยหลายพันหน่วย ทำให้ภาพที่เห็นจะเป็นภาพรวมที่เรียงกันหลายภาพ ไม่ชัดเจน โดยจะมองเห็น และรับรู้แสงสีเขียวได้ดีกว่าแสงสีอื่น ๆ

อาหาร และการกินอาหาร
ปูม้าเป็นสัตว์น้ำที่มีนิสัยที่ชอบออกหากินเวลากลางคืน กินซากพืช, ซากสัตว์ พืช และสัตว์ที่มีชีวิตเป็นอาหาร เช่น  ปลา กุ้ง แพลงก์ตอน และสัตว์ขนาดเล็ก นอกจากนั้น ยังเป็นสัตว์ที่กินกันเองสูง โดยเฉพาะขณะที่มีการลอกคราบ ทำให้การเลี้ยงปูม้าประสบปัญหา

วิธีกินอาหารของปูม้า คือ ปูจะใช้ก้ามหนีบจับเหยื่อแล้วส่งเข้าปาก อาหารที่เข้าในปากจะถูกอวัยวะที่ทำหน้าที่คล้ายฟันกราม บดเคี้ยวอาหารให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ

การสืบพันธุ์ และวางไข่
ปูม้าในธรรมชาติจะมีไข่นอกกระดองได้ตลอดทั้งปี โดยมีปริมาณมากสุด 2 ช่วง คือ
1. ระหว่างเดือนกุมภาพันธ์- เดือนพฤษภาคม และจะวางไข่ได้มากที่สุดในราวเดือนมีนาคม
2. ระหว่างเดือนกันยายน-เดือนธันวาคม และจะวางไข่ได้มากที่สุดในราวเดือนสิงหาคม

ปูม้าเพศเมียที่เริ่มสืบพันธุ์ได้จะมีขนาดกระดองประมาณ 9.4 ซม. หรือมีอายุประมาณ 144 วัน ส่วนเพศผู้จะมีขนาดกระดองประมาณ 6.5 ซม. หรือมีอายุประมาณ 130-150 วัน โดยการผสมพันธุ์จะเกิดขึ้นในขณะที่ปูเพศเมียกำลังลอกคราบ และปูเพศผู้จะลอกคราบก่อนแล้ว 7-0 วัน

การผสมพันธุ์ ปูเพศผู้จะใช้จับปิ้งสอดประกอบกับจับปิ้งปูเพศเมีย โดยปูเพศผู้จะใช้ขาหยั่งพื้นเพื่อประคองตัวเอง เพื่อไม่ให้เป็นอันตรายกับกระดองเพศเมียที่กำลังลอกคราบ โดยใช้เวลาการผสมพันธุ์ประมาณ 6 ชั่วโมง แต่ปูเพศผู้จะยังจับบนกระดองปูเพศเมียต่อไปอีก 1-2 วัน จนกระดองปูเพศเมียแข็งแรงแล้วค่อยสลัดตัวออก

ไข่ที่ผ่านการผสมน้ำเชื้อจะออกมาพักติดอยู่ที่จับปิ้งของปูเพศเมีย และค่อยเจริญเติบโต โดยมีการเปลี่ยนแปลงของสี คือ สีเหลือง เป็น เหลืองอมส้ม และเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล จนเป็นน้ำตาลอมเทา จนระยะสุดท้ายเป็นสีเทาอมดำ ก่อนจะฟักออกมาเป็นตัว

จำนวนไข่ของปูม้าตัวเมียจะมีประมาณ 713,000 ฟอง/ตัว และสามารถวางไข่ได้ถึง 2,340,000 ฟอง/ตัว และการเติบโต และขยายขนาดของปูม้าจะใช้วิธีการลอกคราบ

การประมงปูม้า
แหล่งทำการประมงปูม้า คือ บริเวณที่มีระดับความลึกไม่เกิน 20 เมตร ตามแนวชายฝั่งทั่วไป ฤดูกาลในการทำประมงปูม้าขึ้นอยู่กับประเภทของเครื่องมือที่ใช้ โดยอวนลาก แผ่นตะเฆ่ และอวนลากคู่จะสามารถทำการประมงได้ตลอดทั้งปี ทั้งนี้ เพราะปูม้าเป็นผลที่ได้จากการทำประมงปลาหน้าดินเท่านั้น แต่การทำการประมงโดยอวนลอยปูม้า ซึ่งนับว่าเป็นเครื่องมือที่เจาะจงผลจับเฉพาะปูม้าโดยตรงจะเริ่มในราวเดือนกรกฎาคมจนถึงราวต้นเดือนมีนาคมเป็นส่วนมาก และจะมีการทำการประมงกันมากในช่วงที่มีมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดผ่าน คือ ในราวเดือนตุลาคมจน-กุมภาพันธุ์ โดยจะทำการวางอวนในเวลากลางคืน และกู้อวนในตอนเช้า ส่วนเครื่องมือประมงปูม้าประเภทลอบก็จะเริ่มทำการประมงในเวลาใกล้เคียงกัน แต่โพงพางอวนรุน และเครื่องมือประจำที่อื่น ๆ จะทำการประมงตลอดปี เพราะจะทำการจับสัตว์น้ำทุกชนิด