ปูนิ่ม และการเลี้ยงปูนิ่ม

7950

ปูนิ่ม หมายถึง ปูม้า หรือ ปูทะเล หรือปูอื่นๆที่มีกระดองอ่อนนิ่ม หลังการลอกคราบแล้ว ซึ่งจะมีปริมาณเนื้อที่รับประทานได้มากกว่าปูม้าที่กระดองแข็ง 10-15 เท่า ทำให้เป็นที่นิยมรับประทาน และเป็นที่ต้องการของท้องตลาด ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ และในที่นี้จะใช้คำว่า ปูนิ่ม แทน ปูม้า

ปูนิ่มที่มีคุณภาพ เหมาะสำหรับการปรุงอาหารจะต้องจับภายหลังปูนิ่มลอกคราบเสร็จภายใน 45 นาที หากจับนานกว่านี้ กระดองปูนิ่มจะเริ่มแข็ง นำไปปรุงอาหารไม่อร่อย

ปูนิ่มที่จับส่งขายตามท้องตลาดจะแบ่งออกเป็น 3 ขนาด ได้แก่
1. ปูนิ่มขนาดเล็ก น้ำหนักประมาณ 45 กรัม
2. ปูนิ่มขนาดกลาง น้ำหนักประมาณ 60 กรัม
3. ปูนิ่มขนาดใหญ่ น้ำหนักประมาณ 80 กรัม

ปูนิ่ม

การเลี้ยงปูนิ่ม
การเลี้ยงปูนิ่มสามารถใช้ได้ปูม้าทั้งตัวผู้ และตัวเมีย ซึ่งนิยมเลี้ยงทั้งในบ่อดิน กระชัง และบ่อซีเมนต์ ในระดับความเค็มที่สามารถเติบโตได้ดีที่ 10-40 ppt และสามารถปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงความเค็มได้ดีหากการเปลี่ยนแปลงไม่เกิน 5 ppt/ชั่วโมง

อัตราการปล่อยพันธุ์ปูม้า
– บ่อดิน ขนาด 2 ไร่ ปล่อยปูม้าที่ 11,000-13,000 กิโลกรัม
– บ่อซีเมนต์ 1,000 ตารางเมตร ปล่อยปูม้าที่ 1,000 กิโลกรัม

การเลี้ยงแบบผสมผสาน
ปูนิ่มที่เลี้ยงในบ่อดินมักให้ผลผลิตต่ำกว่าการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ อาจเนื่อง จากการเลี้ยงในบ่อดินมีการขังปูนิ่มในตะกร้าที่ลอยน้ำตลอดเวลา จนมีผลต่อความเครียด และการกินอาหารของปูนิ่ม ทำให้มีอัตราการตายที่สูงกว่า และขนาดลำตัวเล็กกว่า

ปัจจุบัน เพื่อลดปัญหาในด้านการตาย และทำให้ไดปูนิ่มที่มีคุณภาพ รวมถึงการง่ายต่อการจัดการ เกษตรกรจึงนิยมเลี้ยงปูนิ่มในรูปแบบผสมผสานด้วยการเลี้ยงปูนิ่มระยะแรกในบ่อดินก่อน หลังจากนั้น เมื่อปูนิ่มเข้าสู่ระยะลอกคราบค่อยจับมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ต่อ

บ่ิอดินที่ใช้เลี้ยงทั่วไปควรมีขนาด 2-5 ไร่ เตรียมบ่อด้วยการสูบน้ำออกให้หมด พร้อมตากบ่อนาน 7-10 วัน และโรยด้วยปูนขาว หลังจากนั้น สูบน้ำเค็มเข้าบ่อให้ลึกประมาณ 30 ซม. พร้อมหว่านด้วยปุ๋ยคอก โดยเฉพาะมูลไก่ ซึ่งจะช่วยเกิดอาหารธรรมชาติพวกแพลงก์ตอนขึ้น

ปูนิ่มในบ่อดิน

หลังจากนั้น ค่อยสูบน้ำเข้าอีกให้มีความลึก 1.2-1.5 เมตร พร้อมติดตั้งเครื่องเติมอากาศในบ่อให้เสร็จ หลังจากนั้น นำปูนิ่มมาเลี้ยงในตะกร้า โดยใช้แขวนลอยน้ำกับท่อ PVC โดยให้ตะกร้าจมประมาณ 70-80% ทั้งนี้ ต้องจัดปูที่มีขนาดหรืออยู่ในระยะการเติบโตเดียวกันในแถวเดียวกัน

เมื่อปูนิ่มที่เลี้ยงในบ่อดินเข้าสู่ระยะลอกคราบ D2 ให้เริ่มจับมาเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ได้ทันที และสามารถกระตุ้นการลอกคราบให้เร็วขึ้นได้ด้วยการลดความเค็มของน้ำ

สำหรับบ่อซีเมนต์จำเป็นต้องสร้างโรงเรือนหรือสร้างหลังคาคลุมฝน เพราะหากเลี้ยงในฤดูที่ฝนตกมากอาจทำให้ระดับความเค็มเปลี่ยนแปลงมาก และรวดเร็ว ซึ่งจะทำให้ปูนิ่มตายได้

ปูนิ่มบ่อซีเมนต์

อาหาร และการให้อาหาร
อาหารของปูนิ่มจะเป็นปลาข้างเหลืองสับ ขนาดชิ้น 0.5 x 2 ซม. หรือใช้อาหารสำเร็จรูป นอกจากนั้น อาจให้เนื้อหอยแมลงภู่สดทั้งตัวร่วมด้วย ระยะการให้ 2 ครั้ง/วัน เช้า และเย็น ปริมาณที่ให้ 10% ของน้ำหนักปู และหากเป็นปูนิ่มระยะลอกคราบ B-C ปริมาณการให้ลดลงเหลือ 5% ระยะ D1 ลดลงเหลือ 3% และระยะ D2 ให้เท่ากับ D1 แต่ให้เพียง 1 ครั้ง/วัน เช้าหรือเย็น จนถึงในระยะ D3-D4 จะงดการให้อาหาร

การลอกคราบของปูนิ่ม
ระยะเวลาการลอกคราบของปูนิ่มขึ้นกับปัจจัยสิ่งแวดล้อมเข้ามาเกี่ยว ส่วนปัจจัยการลอกคราบมักเกิดจากปูเป็นสำคัญ อาทิ ปูนิ่มขนาด 10-20 ตัว/กิโลกรัม จะใช้เวลาการลอกคราบจนสมบูรณ์นาน 20-35 วัน โดยมีช่วงเวลาที่มักลอกคราบในช่วง 18.00 น.-01.00 น. ซึ่งช่วงดังกล่าวจำเป็นต้องคอยดูแล และเฝ้าตลอด เพื่อจะได้จับปูนิ่มหลังการลอกคราบที่เหมาะสม

ระยะการลอกคราบของปูนิ่ม
1. ระยะ A
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ม่วง
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ไม่มี
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ดำสนิท
– สีตับปิ้งตัวผู้ : ไม่มี
2. ระยะ B
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ม่วงอมชมพู
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ไม่มี
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ดำ 70% ดำปนเทา หรือ น้ำตาล 30%
– สีตับปิ้งตัวผู้ : ไม่มี
3. ระยะ C
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ชมพู หรือ ชมพูอมเขียว
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ไม่มี
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ขาว 30% ขาวปนน้ำตาลอ่อน 40% และเทา 30% หรือ ขาวสนิททั้งตัว หรือ น้ำตาลอ่อนทั้งตัว
– สีตับปิ้งตัวผู้ : ไม่มี
4. ระยะ D1
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : ชมพูอมแดง
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : เล็กน้อย
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ดำ 30% ดำปนเทา หรือ น้ำตาล 70%
– สีตับปิ้งตัวผู้ : ไม่มี
5. ระยะ D2
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : แดง
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : เริ่มมองเห็นชัดเจน
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ดำ 50% ดำปนเทา หรือ น้ำตาล 50%
– สีตับปิ้งตัวผู้ : เริ่มมองเห็น
6. ระยะ D3
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : แดงมากขึ้น
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : มองเห็นชัดเจน
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ดำ 80% ดำปนเทา หรือ น้ำตาล 20%
– สีตับปิ้งตัวผู้ : มองเห็นชัดเจน
7. ระยะ D4
– สีบริเวณขอบขาว่ายน้ำ : แดงมาก
– ช่องว่างบริเวณขอบขาว่ายน้ำ :  มองเห็นชัดเจนมาก
– สีตับปิ้งตัวเมีย : ดำสนิท
– สีตับปิ้งตัวผู้ : มองเห็นชัดเจนมาก

การจับปูนิ่ม
การจับปูนิ่มจะต้องจับภายใน 45 นาที หลังจากที่ปูนิ่มลอกคราบเสร็จ ซึ่งมักจะมีการลอกคราบมากในช่วงเวลา 18.00 น.-01.00 น.

การแช่ปูนิ่มขณะเก็บหรือขนส่ง
ปูนิ่มที่จับมาแล้ว หากทิ้งไว้สักพัก กระดองปูนิ่มจะค่อยๆแข็งขึ้น ดังนั้น วิธีการรักษาหรือคงสภาพกระดองให้อ่อนเหมือนเดิมจะใช้วิธีการแช่ปูนิ่มในน้ำ เค็มที่อุณหภูมิประมาณ 15 °C ซึ่งสามารถรักษาสภาพปูนิ่มได้นานกว่า 3 ชั่วโมงครึ่ง

โรค และปรสิต
การตายของปูนิ่มส่วนใหญ่มาจากเพรียงถั่วงอกที่ระบาดมากในช่วงฤดูหนาว และทำให้ปูนิ่มตายมากในระยะก่อนการลอกคราบ โดยเพรียงชนิดนี้จะเกาะอาศัยบริเวณเหงือกของปู ทำให้ปูได้รับอาหารน้อยลง และปูสลัดคราบเก่าออกได้ยาก ดังนั้น เกษตรกรมักใช้ปูที่เลี้ยงในบ่อดินมาผลิตเป็นปูนิ่มแทน ซึ่งทำให้ลดการตายของปูได้ดีกว่าการนำปูจากธรรมชาติ หรือ จากปูที่เลี้ยงในทะเลมาเลี้ยงต่อ

การแก้ปัญหาเพียงถั่วงอกในระบบการเลี้ยงในบ่อซีเมนต์ทำได้ด้วยการลดความเค็มให้เหลือ 5 ppt ก่อนนำปูนิ่มปล่อยเลี้ยง