ปูนา และการเลี้ยงปูนา

51830

ปูนา (Rice field Crab) เป็นปูน้ำจืดที่พบแพร่พันธุ์มากในช่วงฤดูทำนา เป็นปูที่นิยมนำมาประกอบอาหารอย่างมากในฤดูทำนา อาทิ แกงอ่อมปูนา ลาบปูนา ปูนาทอด ปูนาปิ้ง เป็นต้น รวมถึง นิยมนำมาแปรรูปเป็นอาหารอื่น เช่น ปูดองสำหรับใส่ส้มตำ หรือเคี่ยวทำมันปูสำหรับใช้ปรุงอาหาร เป็นต้น

ปูนา สามารถพบได้ตามทุ่งนา และบริเวณที่ลุ่มที่มีน้ำขังหรือเป็นที่ชุ่มน้ำทั่วไป   ลักษณะทั่วไปจะกระดองโค้งนูน ผิวเรียบมัน ทั้งส่วนกระดอง ก้าม และขาส่วนใหญ่มีสีม่วงดำ และสีเหลือง โดยชอบขุดรูอาศัยตามแปลงนา คันนา คันคู และคันคลอง ที่สามารถสังเกตเห็นเป็นรูลักษณะกลมรีตามขนาดลำตัว

ปูน้ำจืด (freshwater crab) มีทั้งหมด 4 กลุ่ม ประกอบด้วย ปูลำห้วย (creek crab) ปูน้ำตก (waterfall crab หรือ stream crab) และปูป่า (land crab) และปูนา (Rice field Crab)

ปูนา มีชื่อวิทยาศาสตร์ Sayamia (Esanthelphusa) dugasti และชื่อสามัญ : Rice-field Crab

Rice field Crab

อนุกรมวิธาน
Phylum Arthropoda
Subphylum Mandibulata
Class Crustacea
Order Decapoda
Family Parathelphusidae
Genus Sayamia (Esanthelphusa)
Species dugasti

ลักษณะของปูนา
ลักษณะทั่วไปของปูนาประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนหัว ส่วนอก และส่วนท้อง โดยมีส่วนหัวและส่วนอกรวมกันที่เป็นกระดองส่วนบน เรียกว่า cephalothorax ผิวลำตัวทั้งหมดที่มองเห็นเป็นโครงภายนอกจะเป็นสาร cuticle อัดกันแน่นเป็นโครงร่างของร่างกายของปู มีตา 2 คู่ มีขา 5 คู่ แบ่งเป็นก้าม 1 คู่ และขาเดินอีก 4 คู่

• กระดอง (carapace)
กระดองเป็นส่วนที่ประกอบด้วยส่วนหัว และอก ที่เป็นแผ่นแข็งหุ้มอวัยวะภายในไว้ ประกอบด้วย
– ด้านหน้าของกระดอง เป็นส่วนที่มีเบ้าตาทั้งสองข้าง
– กระเพาะ เป็นส่วนที่อยู่ด้านหน้าของกระดองต่อจาก secondary front หรือ upper front ของกระดองขึ้นมาเล็กน้อย ซึ่งจะมีสัน epigastric อยู่โดยทั่วไปซึ่งเห็นได้ชัดเจน
– Hepatic groove ได้แก่ บริเวณต่อจากฟันข้างกระดองทั้งสองข้างเข้ามาตรงส่วนกลาง ซึ่งส่วนมากจะมีร่องคอ เป็นแนวแบ่งบริเวณ gastric กับ hepatic ออกจากกัน
– Branchial chamber คือ ส่วนที่อยู่ถัดจาก hepatic ลงมาระหว่างฟันข้างกระดองซี่สุดท้ายถึงมุมข้างกระดองด้านหลัง
– Cardiac carapace area คือ ส่วนตรงกลางกระดองด้านท้ายเหนือขอบหลังกระดองขึ้นมาเล็กน้อย
– Antero-lateral teeth เป็นฟันข้างกระดองเฉียงไปทางด้านหน้ามีลักษณะเป็นหนามแหลมมีขนาดต่าง ๆ กัน มีจำนวนข้างละ 4 ซี่

• ขา (legs)
ขาเป็นระยางค์ที่ยื่นออกมาจากกระดองมีทั้งหมด 5 คู่ ประกอบด้วย

ก้าม (cheliped)
เป็นขาคู่ที่ 1 ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปเป็นก้ามหนีบมีขนาดใหญ่ แบ่งออกเป็น 7 ปล้อง ดังนี
– Coxa เป็นปล้องที่อยู่โคนสุดติดกับทรวงอกมีขนาดเล็ก
– Basis เป็นปล้องที่ต่อจาก coxa มีขนาดเล็กปล้องสั้น
– Ischium เป็นปล้องที่ต่อจาก basis มีขนาดใหญ่กว่า coxa และ basis
– Merus เป็นปล้องที่ต่อจาก ischium มีขนาดใหญ่ และยาว หรือเรียกว่า แขน มีลักษณะเป็นหนาม
– Carpus เป็นปล้องที่ต่อจาก merus
– Propodus เป็นปล้องที่ต่อจาก carpus มีขนาดใหญ่แบนกว้าง ส่วนนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า มือ  ส่วนปลายมีลักษณะเรียวยาวเป็นนิ้วที่เคลื่อนไหวไม่ได้
– Dactylus เป็นปล้องที่ต่อจาก propodus มีลักษณะเรียวยาวเป็นนิ วที่เคลื่อนไหวได้

ขาเดิน (walking legs หรือ ambulatory)
ขาปูนามี 4 คู่ คือ คู่ที่ 2-5 แต่ละขาประกอบด้วย 7 ปล้อง ดังนี
– Coxa เป็นปล้องที่อยู่โคนสุดติดกับทรวงอกมีขนาดเล็ก
– Basis เป็นปล้องที่ต่อจาก coxa มีขนาดเล็กปล้องสั นมาก
– Ischium เป็นปล้องขนาดเล็กต่อจาก basis
– Merus เป็นปล้องที่ต่อจาก ischium มีขนาดใหญ่เรียวยาว
– Carpus เป็นปล้องที่ต่อจาก merus มีลักษณะเรียวยาวแต่เล็ก และสั้นกว่า merus
– Propodus เป็นปล้องที่ต่อจาก carpus มีลักษณะเรียว
– Dactylus เป็นปล้องที่ต่อจาก propodus มีลักษณะเรียวยาวปลายแหลม มีหนามขนาดเล็ก

• ตา (eyes)
ตาเป็นตาประกอบจำนวนมาก มีก้านตายาวพับไว้ในเบ้าตาที่ประกอบด้วยโอมมาติเดียม มีจำนวนเป็นพันถึงหมื่นหน่วย โอมมาติเดียมประกอบด้วยคอร์เนีย (cornea) อยู่ด้านนอกใต้คอร์เนียจะมี crystalline cone ทำหน้าที่รวมแสงสว่างส่งไปยังเส้นประสาทรับความรู้สึกที่อยู่ภายในจำนวน 6-8 เส้น

• หนวด (antennule)
ปูนา มีหนวด 2 คู่ (Pongchunchoovong, 2006)
– หนวดคู่ที่ 1 (antennule) อยู่ด้านหน้าของกระดอง มีลักษณะเป็นเส้นขนาดเล็ก และสั้นกว่าหนวดคู่ที่ 2 อยู่ติดกับโคนของก้านตา
– หนวดคู่ที่ 2 (antenna) อยู่ด้านหน้าของกระดอง มีลักษณะเป็นเส้นยาวมีฐานของหนวดอยู่ใต้กระดองด้านหน้า เส้นหนวดจะยื่นยาวออกมานอกกระดองเห็นได้ชัดเจน

• ท้อง (abdomen)
ปูนาเพศผู้จะร่องกลางท้องเป็นรูปตัวที (T) งอพับอยู่ใต้ส่วนอกปล้องที่ 1 และ 2 มีความกว้างใกล้เคียงกับปล้องที่ 3 แต่ปล้องที่ 1 และ 2 สั นมาก อยู่ติดกับขอบกระดองปล้องที่ 3, 4, 5 และ 6 เห็นรอยแบ่งปล้องชัดเจนมาก ปล้องที่ 6 และ 7 มีความยาวใกล้เคียงกัน ด้านบนของส่วนท้องมีรยางค์ว่ายน้ำ ส่วนในเพศผู้เปลี่ยนแปลงรูปร่าง และหน้าที่เป็นอวัยวะที่ช่วยในการสืบพันธุ์หรือที่เรียกว่า โกโนพอด (gonopod) มี 2 คู่ โดยอวัยวะเพศผู้คู่ที่ 1 เป็นส่วนที่ใช้ในการสืบพันธุ์ของปูนาเพศผู้อยู่ใต้ส่วนท้องติดกับอกมี 1 คู่ ซ้าย-ขวา มีขนาดใหญ่ ตรงปลายมีช่องเปิดมีลักษณะเป็นร่องตามความยาวของโกโนพอดส่วนปลายมีหนามแหลม ซึ่งปูนาแต่ละชนิดมีโกโนพอดที่มีรูปร่างแตกต่างกันออกไป จึงใช้รูปร่างของโกโนพอดเป็นหลักในการแยกชนิด และอวัยวะเพศผู้คู่ที่ 2 มีขนาดเล็กกว่าคู่ที่ 1 มาก มีลักษณะไม่แตกต่างกันในปูนาแต่ละชนิด จึงไม่ใช้ลักษณะของโกโนพอดคู่ที่ 2 เป็นเกณฑ์ในการแยกชนิดของปูนา

สำหรับในปูเพศเมียมี pleopod 4 คู่ ลักษณะเรียวยาว มีขนเล็กๆคล้ายขนนกเพื่อให้ไข่ติด และรองรับตัวอ่อนด้วย ในปูนาเพศเมียจะมีลักษณะของส่วนท้องที่เหมือนกัน ในปูนาจะใช้ลักษณะของโกโนพอดคู่ที่ 1 เป็นหลักเกณฑ์ในการจำแนกชนิดของปูนาด้วย (กัมพล ไทยโสม, 2556 อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ)(1)

ลักษณะเพศปูนา
– ปูนาเพศผู้จะมีขนาดลำตัวใหญ่กว่าเพศเมีย
– ปูนาเพศผู้จะมีก้ามขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย
– ปูนาเพศผู้จะมีสีลำตัวเข้มกว่าเพศเมีย
– ปูนาเพศเมีย เมื่อพลิกส่วนท้องจะมีแผ่นรูปโค้งสามเหลี่ยมปิดทับส่วนท้อง
– ปูนาเพศผู้ ส่วนท้องจะไม่มีแผ่นปิดทับ จะเป็นเปลือกเรียบสีขาว มีแนวร่องกลางส่วนท้องเป็นรูปตัวที

ลักษณะที่ใช้จำแนกชนิดปูนา
– ลักษณะลายเส้นของกระดอง
– สีของกระดอง
– ลักษณะของโกโนพอดคู่ที่ 1

การแพร่กระจาย
ปูนาในประเทศไทย พบประมาณ 10 ชนิด ในภาคต่างๆ ได้แก่ (กัมพล ไทยโสม, 2556 อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ)(1)
– S. germaini พบในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคใต้ และภาคเหนือ
– S. bangkokensis พบในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้
– S. sexpunetata พบในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้
– S. maehongsonensis พบเฉพาะในจังหวัดแม่ฮ่องสอน
– S. fangensis เป็นปูชนิดใหม่ พบเฉพาะในจังหวัดลำปาง และเชียงใหม่
– S. denchaii เป็นปูชนิดใหม่ พบเฉพาะในจังหวัดแพร่
– S. nani เป็นปูชนิดใหม่ พบเฉพาะในจังหวัดน่าน
– S. dugasti พบในภาคกลาง ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
– E. phetchaburi พบเฉพาะภาคตะวันตก
– E. chiangmai พบเฉพาะภาคเหนือ

ส่วนในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจังหวัดมหาสารคาม ชนิดปูนาที่พบมากที่สุด คือในสกุล Esanthelphusa sp.I และพบชนิดอื่นๆในชนิดของ sp. ต่างๆ (เอกพล และพันธุ์ทิพย์, 2553)(2)

แหล่งอาศัย และการจำศีล
แหล่งอาศัยของปูนาที่สามารถดำรงชีพอยู่ได้จะต้องมีน้ำขังหรือมีความชื้นมากเพียงพอ เนื่องจากโครงสร้างร่างกายไม่สามารถทนต่อสภาพขาดน้ำหรือความชื้นได้ โดยมีถิ่นอาศัยหลักในพื้นที่ชุ่ม ชอบขุดรูตามคันนา คูน้ำหรือคลองชลประทาน ขณะที่น้ำมีมากปูนาจุดขุดรูในระดับเหนือน้ำหรือต่้ำกว่าระดับน้ำเพียงเล็กน้อยเพื่อความสะดวกในการเข้าออก และเมื่อน้ำเริ่มลดหรือน้ำแห้ง ปูนาจะย้ายตามระดับน้ำที่ต่ำสุด เช่น ในร่องแปลงนาที่ต่ำ และขุดรูลึกมากยิ่งขึ้นเพื่อให้ตัวเองลงลึกในดินที่มีน้ำหรือความชื้นมากเพียงพอ

ลักษณะของรูปูนาจะเป็นรูปกลมรี มีขนาดรูขึ้นอยู่กับขนาดลำตัว รูที่ขุดจะเป็นแนวดิ่ง ไม่เลี้ยวคด แต่มีแนวเอียงเล็กน้อย ความลึกที่อาจขุดได้มากถึง 1 เมตร โดยทางสุดของรูจะเป็นแอ่งกว้างหรือเป็นโพรงสำหรับหลบพักอาศัย และหากมีสภาพแห้งแล้งมาก ปูนาจุดขุดดินจากส่วนล่างที่มีความชื้น และเป็นดินเหนียวมาปิดปากรูไว้ซึ่งจะเป็นช่วงหลบจำศีลในช่วงฤดูหนาวถึงต้นฤดูฝน เดือนพฤศจิกายน-พฤษภาคม ของทุกปี

การหลบจำศีลในหน้าแล้งของบางพื้นที่มีสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำอาศัยร่วมด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กบ ที่จะเข้าหลบจำศีลในช่วงเดียวกันกับปูนา ซึ่งหากเราขุดรูของปูนาก็มักจะพบกบอาศัยอยู่ร่วมด้วยในโพรงด้านล่างสุดของรู โดยในบางครั้งอาจพบกบอาศัยอยู่ด้วยมากกว่า 3 ตัว/ปูนา 1 ตัว/รูปูนา

การสังเกตรูปูนาที่มีกบอาศัยอยู่จะสังเกตได้จากปากรูปูนาจะเปิดไว้ และขอบรูจะกว้างกว่าปกติ ไม่มีดินปิดทับรู เพราะบางครั้ง กบที่อาศัยอยู่ด้วยจะออกมารับน้ำหมอกหรือเพื่อหายใจด้านนอกเสมอ นอกจากนั้น บริเวณขอบรูปูนาจะมีลักษณะเรียบ เนื้อดินแน่น หรือ ดินมีสีคล้ำ รวมถึงอาจมีมูลกบรอบปากรูด้วย ข้อสังเกตนี้ทำให้เกษตรกรในบางพื้นที่ออกหากบในฤดูจำศีลจากการขุดหาในรูปูนาได้

ในฤดูน้ำหลากหรือกรณีที่มีฝนตกหนัก ทำให้มีระดับน้ำท่วมสูงมาก ปูนาจะอพยพขึ้นด้านบน และขุดรูใหม่บริเวณใกล้กับระดับน้ำหรือหลบพักตามกอหญ้าหรืออาศัยตามริมน้ำ โดยไม่มีการขุดรู

อาหาร และการกินอาหาร
ปูนากินอาหารทุกชนิด ตั้งแต่อาหารที่มีชีวิต พืช อาทิ หอย กุ้ง ไรน้ำ ลูกน้ำ ปลาขนาดเล็ก ไส้เดือน แมลงต่างๆ ส่วนอ่อนของต้นข้าว หญ้า สาหร่าย และพืชอื่นๆ รวมทั้งลูกปูอ่อน และซากพืช ซากสัตว์ที่เน่าเปื่อยในน้ำหรือในดินที่มีชีวิต แต่ปูนาในที่ลุ่มที่ไม่มีพืชน้ำจะพบอาหารหลักเป็นสัตว์น้ำหรือแมลงเป็นหลัก ทำให้ปูนาเป็นสัตว์ที่มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศ โดยปูนาจะออกหากินในเวลากลางคืนเป็นส่วนใหญ่ แต่บางครั้งก็พบออกหากินในเวลากลางวันบ้าง ทั้งนี้ การที่พบในเวลากลางวันส่วนใหญ่จะเป็นการอพยพหรือเปลี่ยนแหล่งอาศัยหรือหากินใหม่

การกินอาหารของปูนาจะใช้ก้ามหนีบหรือก้ามปู หนีบจับอาหารเข้าปาก โดยมีขาคู่อื่นช่วยในการส่งอาหารเข้าปาก

ศัตรูตามธรรมชาติ
ศัตรูในวัยอ่อนหรือช่วงเป็นลูกปู ได้แก่ ปลากินเนื้อ (ปลาช่อน ปลาดุก ปลาไน) งูน้ำ กบ คางคก มด เป็นต้น

ศัตรูในตัวเต็มวัย ได้แก่ หนูนา และนก โดยเฉพาะในช่วงฟูจำศีลจะมีศัตรูสำคัญอันดับหนึ่ง คือ หนูนา ที่สามารถขุดรูเข้ากัดกินปูนาได้

การเจริญเติบโต และการลอกคราบ
ปูนา เป็นสัตว์ที่เจริญเติบโต และเพิ่มขนาดลำตัวด้วยการลอกคราบ (molting process) โดยการสลัดเปลือกเก่าทิ้งไป หลังการลอกคราบ ตัวปูนาจะมีสีขาว และบวมจากเพราะลำตัวมีการดูดน้ำมากขึ้น และเปลือกใหม่จะค่อยๆมีสีเข้ม และมีความแข็งมากขึ้น พร้อมกับขนาดที่ใหญ่ขึ้น

ปูนาที่เปป็นตัวอ่อนหลังจากฟักออกจากไข่จนถึงตัวเต็มวัยจะใช้เวลาประมาณ 8 เดือน และตลอดการเจริญเติบโตจนถึง 8 เดือน จะมีการลอกคราบประมาณ 13-15 ครั้ง ซึ่งในช่วงระยะแรกจะมีการลอกคราบบ่อย และช่วงหลังจะมีช่วงการลอกคราบน้อยลง

การผสมพันธุ์
ในช่วงเข้าฤดูผสมพันธุ์ ปูนาเพศเมียจะมีการลอกคราบ และจะมีกระดองอ่อนนิ่ม รวมถึงมีอาการก้าวร้าวมาก และจะเลือกเพศผู้เพื่อผสมพันธุ์เพียงไม่กี่ตัวเท่านั้น หากไม่ใช่ตัวที่เลือกก็จะไล่ให้ออกห่าง หากยอมรับก็จะมีการผสมพันธุ์ขึ้น โดยปูเพศผู้จะใช้ก้ามจับปูเพศเมียหงายด้านท้องขึ้น และแนบตัวเข้าติดจับปิ้งของปูเพศเมีย  พร้อมสอดอวัยวะสืบพันธุ์ และฉีดน้ำเชื้อเข้ารูเปิดของปูเพศเมียบริเวณหน้าอกบริเวณโคนขาคู่ที่ 3 ที่มีสองรู เมื่อน้ำเชื้อถูกฉีดเข้าไปจะถูกนำเข้าเก็บในถุงเก็บน้ำเชื้อของปูเพศเมียซึ่งเก็บได้นาน 3-4 เดือน การผสมพันธุ์นี้จะใช้เวลาประมาณ 3 ชั่วโมง

หลังจากการผสมพันธุ์เสร็จ ปูเพศผู้จะยังตามติดปูเพศเมียต่ออีกประมาณ 2-3 วัน เพื่อให้ความคุ้มครองอันตรายให้ จนกว่าปูเพศเมียจะมีกระดองแข็งแรง และสามารถหาอาหารได้ตามปกติ

หลังการผสมพันธุ์ ปูเพศเมียจะผลิตไข่ผ่านเข้าผสมกับน้ำเชื้อ และนำออกผ่านทางท่อนำไข่มาเก็บพักไว้ที่แผ่นท้องของตัวเอง ปูนาเพศเมียสามารถวางไข่ได้ประมาณ 300-400 ฟอง/ครั้ง

ไข่ที่เก็บพักในแผ่นหน้าท้องจะมีลักษณะเป็นเม็ดกลมสีเหลือง และจะมีสี และขนาดเข้มขึ้น จากการเติบโต และพัฒนาของตัวอ่อน โดยอาศัยอาหารจากไข่แดงในไข่ เมื่อถึงระยะก่อนฟัก ไข่จะมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีสีเหลืองคล้ำมาก โดยใช้เวลานานประมาณ 3-5 สัปดาห์ ไข่ก็จะเริ่มฟัก

ลูกปูนาที่ฟักออกจากไข่จะฟักเป็นตัวขณะที่ยังอยู่ในแผ่นท้องของแม่ปู และจะอาศัยในแผ่นท้องของแม่ปู่นาน 2-3 สัปดาห์ ก่อนแม่ปูจะใช้ขาเขี่ยให้ออกไปอาศัยในแหล่งน้ำ แต่หากสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมแม่ปู่จะเก็บลูกอ่อนไว้นานขึ้น โดยลูกปูที่ฟักออกมาใหม่จะมีลำตัวขนาดเล็กเพียงไม่กี่มิลลิเมตร ลำตัวจะมีสีนวล และเมื่อเติบโตจะมีสีเข้มเป็นสีน้ำตาลอ่อน และสีน้ำตาลเข้ม ตามลำดับ

การเพาะพันธุ์
การเพาะเลี้ยงปูนาสามารถเพาะเลี้ยงได้ในโรงเรือนที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น บ่อก่ออิฐซีเมนต์ บ่อซีเมนต์ทรงกลม หรือบ่อดินขนาดเล็ก โดยเฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนที่ธรรมชาติของปูนาจะผสมพันธุ์ และออกไข่
1. พ่อ-แม่พันธุ์
พ่อ-แม่พันธุ์ ในระยะแรกต้องรวบรวมจากธรรมชาติ โดยนำพ่อ-แม่พันธุ์มาผสมพันธุ์กันหรือจะใช้แม่ปูที่มีไข่หรือมีลูกปูวัยอ่อน ที่ติดกระดองอยู่แล้วมาอนุบาลก็จะประหยัดเวลา และต้นทุนในการผลิตได้มาก

2. ฤดูผสมพันธุ์วางไข่
ปูนาจะผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม ที่เป็นช่วงต้นฤดูฝน และมีน้ำขังในแปลงนาหรือแอ่งน้ำ และอาจเป็นน้ำที่มาจากการชลประทานก็ได้ซึ่งไม่ใช่น้ำฝน แต่ช่วงการผสมพันธุ์ และวางไข่จะอยู่ในช่วงต้นฤดูฝนของทุกปี

ปูนาตัวที่เข้าสู่วัยผสม พันธุ์ หากมีน้ำฝนใหม่หรือน้ำชลประทานในต้นฤดูฝน และมีแหล่งน้ำขังในแปลงนาหรือในแอ่งน้ำ ปูนาเพศผู้ และเพศเมียจะเดินเข้าหาแอ่งน้ำเพื่อผสมพันธุ์ และวางไข่ ซึ่งอาจไม่ขุดรูใหม่ เพียงอาศัยตามกอหญ้าเพื่อการผสมพันธุ์เท่านั้น เมื่อผสมพันธุ์ และวางไข่เสร็จอาจมีการออกหาแหล่งอาศัยใหม่ แต่หากแหล่งอาศัยเดิมมีอาหารที่เพียงพอก็มักอยู่อาศัยในแหล่งเดิม

การอนุบาล และการเลี้ยง
การอนุบาล
สำหรับลูกปูนาที่ฟักออกจากไข่ และออกจากแผ่นท้องของแม่ปูแล้ว ประมาณ 1-5 วัน สามารถเลี้ยงอนุบาลด้วยไข่ขาว หรือ อาหารเม็ดได้ รวมถึงสาหร่ายสีเขียวต่างๆสำหรับเป็นอาหารเสริม โดยมีความหนาแน่นในการอนุบาลที่เหมาะสมประมาณ 25-100 ตัว/ 0.13 ตารางเมตร

การเลี้ยงปูนา
หลังการอนุบาลปูนาได้ประมาณ 1-2 เดือน ก็สามารถแยกเลี้ยงในบ่อได้

การจับปูนาตามธรรมชาติ
การจับปูนาตามธรรมชาตสำหรับนำมาประกอบอาหาร นิยมจับกันใน 2 ช่วง คือ
1. ช่วงน้ำหลากหลังการวางไข่
การจับปูนาสำหรับนำมาประกอบอาหาร ไม่ควรจับในช่วงวางไข่ (พฤษภาคม-กรกฎาคม) ซึ่งโดยทั่วไปชาวบ้านมักจะปูนามาประกอบอาหารในช่วงเดือนกันยายน-ตุลาคม แต่ไม่นิยมรับประทานมากเท่าช่วงหลังเกี่ยวข้าว วิธีการจับ ได้แก่ การดักด้วยผ้าเขียวไนลอนในจุดน้ำไหล การช้อนด้วยผ้า เป็นต้น

2. ช่วงหลังเกี่ยวข้าวหรือน้ำลด
หลังการเกี่ยวข้าวหรือในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์ (ปูจำศีล) เกษตรกรมักออกจับปูมาประกอบอาหารกันมาก โดยเฉพาะหลังการเกี่ยวข้าวใหม่ๆ เดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม เนื่องจากปูเติบโตเต็มที่ และมีไขมันมาก ทำให้มีรสชาติอร่อยมากกว่าช่วงอื่นๆ

การจับปูในช่วงนี้จะเป็นช่วงน้ำลดหรือน้ำแห้ง ซึ่งปูจะขุดรูหลบเข้าจำศีล วิธีการจับที่ใช้ คือ การขุดด้วยเสียบ เป็นหลัก

Rice field Crab1

เอกสารอ้างอิง

3