ปลาไน และการเลี้ยงปลาไน

51189

ปลาไน (common carp) เป็นปลาที่นิยมรับประทานชนิดหนึ่ง เพราะมีลำตัวขนาดใหญ่ เนื้อมีมาก ก้างมีน้อย เนื้อแน่น มีรสหวาน แต่ค่อนข้างมีกลิ่นคาว สามารถเลี้ยงง่าย เลี้ยงในนาข้าวได้ดี มีราคาขายสดประมาณกิโลกรัมละ 30-80 บาท

อนุกรมวิธาน
Plylum : Chordata
Class : Actinopterygii
Order : Cypriniformes
Family : Cyprinidae (วงศ์ปลาตะเพียน)
Genus : Cyprinus
Species : Cyprinus carpio

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Cyprinus carpio
• ชื่อสามัญ : common carp
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาไน
– ปลาหลี
– ปลาจีน
– ปลาหลีฮื้อ
– ปลาหลีโกว
• จีน : Lei yu, Li yu
• ญี่ปุ่น : Koi
• อินโดนีเซีย : Green verieties
– Tambra
– Tombro
• อินโดนีเซีย : Orange – colored verieties :
– Ikan mass
– Masmassan
– Lauk mas
– Rajo Emeh
• มาเลเซีย : Lei Koh
• เวียดนาม :
– Ca chep
– Ca gay
– Pa nev

ปลาไน

แหล่งกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลาไนมีการกระจายพันธุ์ดั้งเดิมในตอนกลางของประเทศจีน แม่น้ำแยงซีเกียง แม่น้ำฮวงโหง และประเทศญี่ปุ่น แต่ถูกนาไปเลี้ยงที่ต่างๆ ทั่วโลก โดยประเทศจีนมีการเลี้ยงเป็นประเทศแรก เมื่อประมาณ พ.ศ. 68 หรือในปี ค.ศ. 1367 และในปี ค.ศ. 1496 มีการนำเข้าไปเลี้ยงในอังกฤษ และในปี ค.ศ. 1830 กัปตันโรบินสันได้นำปลาไนจากประเทศฝรั่งเศสเข้าไปเลี้ยงยังทวีปอเมริกา จนกระทั่งในศตวรรษที่ 18 ปลาไนจึงเป็นที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย โดยการนำพันธุ์ปลาจากประเทศหนึ่งไปยังอีกประเทศหนึ่ง

สำหรับประเทศไทย ปลาไนเริ่มแพร่เข้ามาด้วยชาวจีนที่ได้นำมาเลี้ยงในกรุงเทพฯ ซึ่งคนไทยในระยะแรกจะเข้าใจว่า เป็นปลาที่มีเฉพาะเมืองจีนเท่านั้น (1)

ปลาไนตามธรรมชาติจะพบอาศัยตามแม่น้ำ ลำคลอง บ่อเก็บน้ำ และบึงน้ำขังต่างๆ กระแสน้ำไหลอ่อนหรือเกือบนิ่ง ซึ่งชอบอาศัยบริเวณแหล่งน้ำที่มีพื้นท้องน้ำเป็นดินโคลน น้ำค่อนข้างอุ่น และเป็นแหล่งน้ำที่ขุ่นเล็กน้อย

ลักษณะทั่วไป
ปลาไน เป็นปลาน้ำจืด มีลักษณะลำตัวคล้ายกับปลาตะเพียนขาว มีรูปร่างแบนข้าง และป้อมเล็กน้อย บริเวณหัวลาดลงไปด้านหน้า และไม่มีเกล็ด ปากมีขนาดเล็ก ไม่มีฟัน ริมฝีปากยื่นหนา ยืดหดได้ และมีหนวดจำนวน 4 เส้น ลำตัวมีเกล็ดกลมใหญ่ มีหลายสี อาทิ สีเงินอมเทา สีเหลืองอ่อน หรือสีเหลืองทอง ซึ่งแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศ และถิ่นอาศัย แต่ส่วนมากจะมีสีเงินอมเทา ขนาดลำตัวยาวประมาณ 20 – 75 เซนติเมตร

ครีบประกอบด้วยครีบหลังที่มีฐานยาวติดกันเป็นพืด ครีบหางแยกเป็นแฉก และเว้าลึก โคนครีบหางมีสีคล้ำหรือสีอื่นๆ อาทิ น้ำตาลทอง ส่วนท้องมีสีขาวจาง หรืออาจเป็นสีส้ม (2)

ปลาไน1

เพศปลาไน
ปลาไนเมีย และตัวผู้จะมีลักษณะภายนอกคล้ายคลึงกันมาก ซึ่งแยกแยะยาก และต้องมีความชำนาญพอที่จะสังเกตจากภายนอกได้ โดยลักษณะเด่นของปลาไนตัวเมีย คือ ตัวเมียจะมีลำตัวป้อมสั้น ช่วงท้องอวบใหญ่ และเมื่อเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ ส่วนท้องจะอูมเป่ง ขนาดใหญ่ และนิ่ม เมื่อบีบส่วนท้องจะมีไข่ไหลออกมา ส่วนตัวผู้จะมีลำตัวค่อนข้างเรียวยาว และยาวมากกว่าตัวเมีย ช่วงท้องไม่อูมเป่ง พื้นท้องตึง แข็ง เมื่อเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ หากใช้มือลูบบริเวณแก้ม และครีบอก จะมีตุ่มสากมือ ส่วนของตัวเมียจะมีลักษณะลื่นกว่า มือบีบไล่ใต้ท้องไปทางช่องทวาร จะมีน้ำเชื้อสีขาวขุ่นไหลออกมาบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์

อาหาร และการกินอาหาร
ปลาไน เป็นปลาที่กินทั้งพืช และสัตว์ แต่ทั่วไปจะชอบกินพืชมากกว่า อาหารที่สำคัญ ได้แก่ ตะไคร่น้ำ แหนชนิดต่างๆ ลูกน้ำ กุ้ง หอย และซากสัตว์ต่างๆ ทั้งนี้ ปลาไนจะออกหาอาหารในช่วงกลางคืนเป็นหลัก และออกหาอาหารตามพื้นด้านล่างหรือก้นบ่อ โดยการใช้ปากชอนไชไปตามก้นบ่อ และขอบบ่อ

การวางไข่
ปลาไนมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่ แตกต่างกันในแต่ละประเทศ อาทิ ปลาไนใน ประเทศจีน จะมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนธันวาคม หรือบางพื้นที่จะอยู่ในช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายน ส่วนฮ่องกง จะมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนมกราคม ส่วนประเทศญี่ปุ่นจะมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ส่วนประเทศไทยจะมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่ได้ในทุกฤดู แต่จะวางไข่มากในช่วงเดือนมกราคม-เมษายน ซึ่ง 1 ปี จะสามารถวางไข่ได้ถึง 4 ครั้ง โดยชอบมักวางไข่บริเวณริมฝั่งตื้นๆที่มีกอหญ้าหรือไม้น้ำขึ้นปกคลุม ทั้งนี้ ปลาไนจะเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์เมื่อมีอายุประมาณ 6 เดือน หรือ ลำตัวมีความยาวประมาณ 25 เซนติเมตร

ส่วนไข่ของปลาไนจะมีลักษณะกลม สีเทาอ่อน และถูกหุ้มด้วยเมือกเหนียวสำหรับเกาะยึดวัสดุ เพราะหากไม่มีเมือกเหนียวหรือไข่ฟองใดไม่เกาะติดกับวัสดุ แล้วจมลงหน้าดินลึก ไข่ใบนั้นจะเน่า ไม่ฟักเป็นตัว

พันธุ์ปลาไน
ปลาไน มีหลายสายพันธุ์ ได้แก่
1. ปลาไนเกล็ด พบตามธรรมชาติ และเลี้ยงมากในแถบประเทศเอเชีย รวมถึงประเทศไทยด้วย
2. ปลาไนหนัง พบตามธรรมชาติ และเลี้ยงมากในแถบประเทศยุโรป
3. ปลาไนกระจก พบตามธรรมชาติ และเลี้ยงมากในแถบประเทศยุโรป

การเลี้ยงปลาไน
ปลาไน เป็นปลาที่ทนต่อสภาพการเปลี่ยนแปลงของน้ำได้ดี รวมถึงเป็นปลาที่ไม่ค่อยเกิดโรคมากนัก ทำให้เลี้ยงง่าย และโตเร็ว

บ่อเลี้ยงปลาไน
1. บ่อผสมพันธุ์
บ่อชนิดนี้ เป็นบ่อใช้สำหรับผสมพันธุ์พ่อแม่ปลา โดยส่วนมากนิยมก่อด้วยอิฐ ขนาดประมาณ 50 ตารางเมตร และสูงประมาณ 1.2 เมตร มีระบบระบายน้ำด้านล่าง และมีท่อน้ำเข้า และน้ำออกสำหรับหมุนเวียนน้ำ โดยปล่อยน้ำให้สูงไม่เกิน 1 เมตร ซึ่งจะใช้พ่อแม่พันธุ์น้ำหนักประมาณ 1-2 กิโลกรัม/ตัว จำนวน 2-4 ตัว
2. บ่ออนุบาล
บ่อชนิดนี้ เป็นบ่อที่ใช้ฟักไข่ปลา และอนุบาลลุกปลาที่ฟักออกแล้ว นิยมก่อด้วยอิฐเป็นสีเหลี่ยมผืนผ้า ขนาดบ่อประมาณ 400-800 ตารางเมตร สูงประมาณ 1.2 เมตร มีระบบระบายน้ำ มีท่อน้ำเข้าออก และปล่อยน้ำลึกไม่เกิน 1 เมตร เช่นเดียวกับบ่อผสมพันธุ์ ทั้งนี้ ต้องน้ำปลาชิดอื่นหรือสัตว์กินเนื้อ เช่น กบ เขียดออกจากบ่อให้หมดก่อน
3. บ่อเลี้ยง
บ่อชนิดนี้ เป็นใช้เลี้ยงลูกปลาหลังการอนุบาลแล้ว ซึ่งอาจเป็นบ่อก่ออิฐหรือบ่อดินขนาดใหญ่ ซึ่งจะมีระดับน้ำลึกประมาณ 1-2 เมตร นอกจากนั้น การเลี้ยงในบางจังหวัดยังนิยมปล่อยปลาไนเลี้ยงในนาข้าวร่วมด้วย

การอนุบาลลูกปลา
1. ลูกปลาหลังฟัก จนถึง 3 สัปดาห์ หรือลูกปลาที่มีความยาวไม่เกิน 3 เซนติเมตร จะให้อาหารจำพวกแพลงก์ตอนพืชที่เกิดเองในบ่ออนุบาล ร่วมกับไรแดง

การเพาะแพลงก์ตอนพืชเพื่อให้เกิดเองในบ่อจะใช้วิธีที่หว่านโรยด้วยมูลสัตว์หรือปุ๋ยคอกที่ตากแห้งแล้ว อัตราการใส่ประมาณ 200-300 กิโลกรัม/ไร่ สำหรับบ่ออนุบาลด้วยบ่อดิน และ 1-3 กำมือ/ตารางเมตร สำหรับบ่ออนุบาลในบ่อซีเมนต์

ทั้งนี้ หลังการหว่านโรยปุ๋ยคอก ให้สังเกตสีน้ำในบ่อ หากน้ำมีสีเขียว แสดงว่ามีแพลงก์ตอนพืช แต่ไม่ควรปล่อยให้มีสีเขียวมาก เพราะอาจทำให้น้ำมีออกซิเจนลดลงในบางช่วง และหากน้ำมีสีคล้ำ แสดงว่าน้ำมีไรน้ำมากกว่าแพลงก์ตอนพืช แต่หากคล้ำมาก จนถึงดำ แสดงว่าว่าน้ำเริ่มเน่า ให้แก้ไขด้วยการถ่ายเทน้ำ ทั้งนี้ ระดับที่เหมาะสมของแพลงก์ตอนพืช ให้ใช้มือจ่มลงในบ่อ หากมองเห็นฝ่ามือที่ระดับความลึกประมาณข้อศอก แสดงว่ามีปริมาณแพลงก์ตอนที่เหมาะสม แต่หากมองเห็นในระดับที่ลึกกว่านั้น แสดงว่ามีแพลงก์ตอนน้อย ให้เติมปุ๋ยคอกเพิ่ม และหากมองเห็นในระดับที่ตื้นขึ้นน้อยกว่าข้อศอก ให้ถ่ายเทน้ำเจือจาง

2. ลูกปลาที่อนุบาลแล้วมากกว่า 3 สัปดาห์ หรือมีลำตัวยาวเกินกว่า 3 เซนติเมตร จะให้อาหารจำพวกรำ ปลายข้าวบด ข้าวโพดบดหรือกากถั่วเหลืองบด ร่วมกับไรแดง

ลูกปลาที่อนุบาลแล้ว 3-4 สัปดาห์ หลังการฟักออกจากไข่ จะมีความยาวประมาณ 3-5 เซนติเมตร และจะอนุบาลต่อจนมีอายุได้ประมาณ 2-4 เดือน หรือให้มีความยาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ค่อยแยกลงเลี้ยงในบ่อเลี้ยงต่อไป

ทั้งนี้ การอนุบาลลูกปลาจะอาหาร 2 ครั้ง ด้วยการโรยข้างบ่อในช่วงเช้า และตอนเย็น

รอเพิ่มข้อมูล

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b9%84%e0%b8%992

ขอบคุณภาพจาก www.siamfishing.com

เอกสารอ้างอิง
(1) ปรีดา กรรณสูตร, 2522, การเลี้ยงปลาไน, เอกสารคำแนะนำฉบับแก้ไขเพิ่มเติม, กรมประมง.
(2) สันต์ นาตะสุวรรณ, 2548, คู่มือปลาน้ำจืด.