ปลาแค้ และประโยชน์ปลาแค้

15371
ปลาแค้ควาย (Bagarius yarrelli)

ปลาแค้ เป็นปลาน้ำจืดที่มีขนาดตั้งแต่เล็กจนถึงใหญ่มาก โดยเฉพาะปลาแค้วัว ปลาแค้ควายเมื่อโตเต็มวัยจะมีขนาดใหญ่เทียบเท่ากับปลาบึก มีนัยน์ตาคล้ายจระเข้ ลำตัวไม่มีเกล็ด มีเนื้อมาก เนื้อมีรสมัน นุ่ม จึงนิยมรับประทานเป็นอย่างมาก อีกทั้ง เป็นปลาที่หายาก ส่วนมากจับได้เฉพาะในแม่น้ำเท่านั้น ทำให้เป็นปลาชนิดหนึ่งที่มีราคาซื้อขายที่สูงมาก

อนุกรมวิธานปลาแค้
• อันดับ (Order) : Siluriformes
• วงศ์ (Family) : Sisoriidae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : ตามชนิด
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาแค้
– ปลาแค้ควาย
– ปลาแค้งู
– ปลาแค้ติดหินสามแถบ
– ปลาแก้
– ปลาตุ๊กแก
– ปลากดแค้
– ปลาโกงกาง
– ปลาแค้วัว

การแพร่กระจาย
ปลาแค้ เป็นปลาน้ำจืดที่ทั่วโลกพบประมาณ 20 สกุล และ 85 ชนิด ส่วนประเทศไทยพบปลาวงศ์นี้ 6 สกุล ประมาณ 18 ชนิด โดยปลาแค้จะพบแพร่กระจายในแถบประเทศเอเชีย และแถบประเทศใกล้กับยุโรป ได้แก่ ประเทศตุรกี และซีเรีย แต่พบแพร่กระจายมากในแถบประเทศเอเชีย ได้แก่ จีนตอนใต้ พม่า ลาว กัมพูชา ไทย รวมไปถึงหมู่เกาะบอร์เนียว (1)

ในไทยพบปลาแค้แพร่กระจายอยู่ในแม่น้ำสายหลักหลายสาย ได้แก่ (2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ
– แม่น้ำปิง เริ่มตั้งแต่เชียงใหม่
– แม่น้ำเจ้าพระยา เริ่มตั้งแต่นครสวรรค์
– แม่น้ำน่าน
– แม่น้ำแม่กลอง ตั้งแต่ทางเหนือของกาญจนบุรี
– แม่น้ำกก
– แม่น้ำโขง เริ่มตั้งแต่เชียงราย ซึ่งเป็นแม่น้ำที่พบปลาแค้ชนิดต่างๆมากที่สุด

ชนิดปลาแค้ที่พบมากในไทย
1. ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)
2. ปลาแค้ควาย (Bagarius yarrelli)
3. ปลาแค้งู (Bagarius suchus)
4. ปลาแค้ติดหินสามแถบ (Glyptothorax trilineatus)

ลักษณะทั่วไป
ปลาแค้ทุกชนิดมีผิวหนังหยาบ หนังมีความเหนียว ไม่มีเกล็ด ผิวหนังมีตุ่มกระจายทั่วลำตัว หนวดมี 4 คู่ โดยปลาแค้สามชนิดแรก คือ ปลาแค้วัว ปลาแค้ควาย และปลาแค้งู จะมีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมาก จนแถบแยกแยะไม่ออก โดยเฉพาะแค้วัวกับแค้ควายที่ดูอย่างผิวเผินแถบไม่แตกต่างกัน และมักทำให้เข้าใจผิดได้ว่าเป็นปลาชนิดเดียวกัน

ปลาแค้ควาย (Bagarius yarrelli)
ปลาแค้ควาย (Bagarius yarrelli)
ปลาแค้งู (Bagarius suchus)
ปลาแค้งู (Bagarius suchus)
ปลาแค้ติดหินสามแถบ (Glyptothorax trilineatus)
ปลาแค้ติดหินสามแถบ (Glyptothorax trilineatus)

ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)
อนุกรมวิธาน
Phylum : Chordata
Class : Pisces
Subclass : Teleostomi
Order : Nematognathi
Family : Sisoridae
Genus : Bagarius
Species : Bagarius bagarius

• ชื่อวิทยาศาสตร์: Bagarius bagarius
• ชื่อสามัญ :
– Asian sisorid catfish
– catfish
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาแค้
– ปลาแค้วัว
– ปลาแก้
– ปลาตุ๊กแก
– ปลาโกงกาง

ลักษณะทั่วไป
ปลาแค้วัวมีลักษณะเด่น คือ ผิวหนังลำตัวไม่มีเกล็ดปกคลุม ผิวหนังสาก บนหัวมีกระ ไม่เรียบ ลำตัวมีความยาวตั้งแต่ 30-70 เซนติเมตร ซึ่งปลาแค้ขนาดใหญ่ที่เคยพบในประเทศไทย มีความยาวมากกว่า 1 เมตร ลำตัวมีลักษณะแบนจากบนลงล่าง บริเวณหัวกว้าง และแบน มีหนวด 4 คู่ คือ หนวดที่ขากรรไกรบน 1 คู่ หนวดที่ขากรรไกรล่าง 1 คู่ หนวดที่จมูก 1 คู่ และหนวดที่คาง 1 คู่ หนวดที่ขากรรไกรบนมีลักษณะแบน และฐานกว้าง ตามีขนาดเล็กอยู่ด้านบนของหัว มีเยื่อคลุมตาคล้ายตาของงูหรือจระเข้ คือ มีม่านตาดำเล็กเป็นช่องแนวตั้ง มองดูคล้ายตาจระเข้ จะงอยปากมีลักษณะโค้ง ค่อนข้างแบนราบ และยื่นยาว ปากมีขนาดใหญ่ โค้งคล้ายรูปพระจันทร์เสี้ยว และอ้าได้กว้างมาก ภายในปากมีฟันเป็นเขี้ยวแหลมคม

ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)
ปลาแค้วัว (Bagarius bagarius)

ครีบหลังมีลักษณะยกสูง โดยก้านครีบมีลักษณะแข็ง และคม เช่นเดียวกับครีบอก ที่บริเวณปลายครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง และครีบหาง มีลักษณะเป็นเส้นเรียวยาว ครีบหลังประกอบด้วยก้านครีบแข็งที่มีขอบท้ายเรียบ และมีก้านครีบที่แตกแขนงจำนวน 6-7 ก้าน ครีบหูมีก้านครีบแข็ง ขอบท้ายหยัก และมีก้านครีบที่แตกแขนง จำนวน 9-12 ก้าน ครีบท้องมีจุดเริ่มต้นบริเวณตรงข้ามกับก้านครีบที่แตกแขนงก้านสุดท้ายของครีบหลังจุดเริ่มต้นของครีบไขมันอยู่ไกลออกไปทางด้านท้ายของลำตัวหรืออยู่ในแนวตั้งฉากกับครีบท้องอันที่ 3-4 หน้า ครีบไขมันมีส่วนที่นูนออกมาเป็นสันเล็กๆ ครีบหางเว้าลึกคล้ายส้อม เส้นข้างลำตัวมีลักษณะเป็นสันนูน

สีพื้นของหนังลำตัวจะมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอมเหลือง ส่วนหนังบริเวณท้องมีสีจาง ลำตัวมีปื้นสีดำขนาดใหญ่พาดผ่าน โดยแถบแรกจะเริ่มจากบริเวณรอบๆ หรือใกล้กับฐานขอองครีบหลังพาดยาวลงไปจนถึงด้านหน้าของครีบท้อง แถบที่สองเริ่มจากบริเวณฐานของครีบไขมันไปจนลงถึงด้านหน้าของครีบก้น และแถบที่สามจะอยู่บริเวณคอดหาง ครีบหางสีเหลืองอมเทา ครีบคู่ทุกครีบจะมีจุดสีดำกระจาย

การแพร่กระจาย
ปลาแค้วัว พบแพร่กระจายพันธุ์เฉพาะในเขตร้อนของเอเชีย โดยพบแพร่กระจายอยู่อยู่ในแม่น้ำสายใหญ่แทบทุกสาย เช่น ในลุ่มน้ำของจังหวัดสุโขทัย ลุ่มน้ำเจ้าพระยา ในเขตจังหวัดนครสวรรค์ ชัยนาท พระนครศรีอยุธยาลุ่มน้ำแม่กลอง เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน แม่น้ำโขง ลุ่มน้ำเพชรบุรี และลุ่มน้ำทางตอนใต้

อาหาร
ปลาแค้จัดเป็นปลากินเนื้อสัตว์ เช่น กุ้ง กบ สัตว์หน้าดิน และปลาที่มีขนาดเล็กกว่า และซากสัตว์เป็นอาหาร

ที่มา : (2) อ้างถึงในเอกสารหลายฉบับ

ประโยชน์ปลาแค้
1. ปลาแค้วัว ปลาแค้ควาย และปลาแค้งู เป็นปลาที่ลำตัวใหญ่ มีเนื้อมาก เนื้อมีรสมัน จึงนิยมประกอบอาหารทำให้มีราคาค่อนข้างสูง
2. ส่วนปลาแค้ติดหินสามแถบ เป็นปลาแค้ขนาดเล็ก ลำตัวมีแถบลาย จึงนิยมนำใช้เลี้ยงเป็นปลาสวยงาม

ขอบคุณภาพจาก SiamFishing.com, Siamensis.org, seriouslyfish.com/

เอกสารอ้างอิง
(1) อัจฉริยา รังษิรุจิม วิเชียร มากตุ่น และ ธวัช ดอนสกุล, 2550, คาริโอไทป์ของปลาแค้วัว แค้ควาย-
แค้งู และแค้ติดหินสามแถบที่พบในประเทศไทย, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ.
(2) ภัทราวรรณ คำบุญเรือง, พิณทิพย์ กรรณสูตร,-
วัชริยา ภูรีวิโรจน์กุล และประไพสิริ สิริกาญจน, 2548,
ปรสิตในปลาแค้ Bagarius bagarius (Hamilton-Buchanan)-
จากแม่น้ำโขง บริเวณอำเภอเชียงของจังหวัดเชียงราย, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.