ปลาบู่ ปลาบู่ทราย และการเลี้ยงปลาบู่

33356

ปลาบู่ เป็นปลาน้ำจืดที่มีหลายชนิด แต่ชนิดที่พบมาก และนิยมจับหรือเลี้ยงสำหรับประกอบอาหาร คือ ปลาบู่ทราย (Sand Goby) เนื้อจากให้เนื้อสีขาว เนื้อนุ่ม มีก้างน้อย เป็นที่ต้องการทั้งตลาดในเมืองไทย และตลาดต่างประเทศ ซึ่ง 1 กิโลกรัม มีราคาสูงถึง 250 บาท หรือมากกว่า และส่งออกได้ราคาที่สูงหลายเท่า ซึ่งแต่ละปีไทยส่งออกได้มูลค่าหลายร้อยล้านบาท

• ชื่อทางวิทยาศาสตร์ : Oxyeleotris marmoratus Bleeker
• ชื่อสามัญ :
– Sand Goby
– Marbled Sleepy Goby
• ชื่อไทย :
– ปลาบู่
– ปลาบู่ทราย
– ปลาบู่จาก
– ปลาบู่ทอง
– ปลาบู่เอี้อย
– ปลาบู่สิงโต

อนุกรมวิธาน
• Phylum : Chordata
• Class : Osteichthyes
• Order : Perciformes
• Suborder : Gobioidei
• Family : Eleotridae
• Genus : Oxyeleotris
• Species : Oxyeleotris marmoratus

ลักษณะทั่วไปของปลาบู่ทราย
ปลาบู่ทราย เป็นปลามีเกล็ด ลำตัวมีรูปร่างทรงกระบอก มีส่วนหัวขนาดใหญ่เท่าลำตัว ปากมีขนาดใหญ่ มุมปากยาว ทำให้อ้าได้กว้าง ภายในปากบนขากรรไกรมีฟันซี่เล็กๆ ค่อนข้างยาวจำนวนมาก ตามี 2 ข้าง มีลักษณะโปนขึ้น

ส่วนลำตัวโดยรวมจะรูปร่างกลม และแบนข้างเล็กน้อย ขนาดลำตัวทั่วไปประมาณ 20-30 เซนติเมตร และหากมีอายุมากจะมีลำตัวยาวได้มากกว่า 70 เซนติเมตร ลำตัวปกคลุมด้วยเกล็ดละเอียดขนาดเล็กทั่วทั้งตัว เกล็ดมีสีแตกต่างกัน ได้แก่ สีน้ำตาล สีน้ำตาลอมแดง และสีน้ำตาลคล้ำหรืออมดำ ซึ่งจะกระจายเป็นแถบลายทั่วลำตัว โดยที่โคนหางมีแถบลายเป็นรูปตัววี ส่วนหน้าท้องมีสีขาวหรือซีดจาง

ลักษณะของปลาบู่ทรายมี 2 ลักษณะ คือ
1. เกล็ดกลม และขอบเรียบ ซึ่งจะพบได้เพียงบริเวณส่วนหัว
2. เกล็ดแหลม และขอบเกล็ดเป็นหนาม ซึ่งจะพบบริเวณลำตัว

ส่วนครีบประกอบด้วยครีบหลัง 2 ตอน แยกกันอย่างชัดเจน โดยครีบหลังตอนแรกอยู่บริเวณสันหลังกึ่งกลางลำตัว มีก้านครีบ 7 อัน ครีบหลังตอนต่อมาเยื้องจากครีบหลังส่วนแรก มีก้านครีบ 11 อัน ซึ่งจะมีขนาดครีบใหญ่ และยาวกว่า ส่วนครีบอกหรือครีบหูมีขนาดใหญ่ มีก้านครีบ 15 อัน อยู่ถัดจากเหงือกมาเล็กน้อย ครีบท้องอยู่ด้านล่างของครีบอก ถัดมาเป็นครีบก้น มี 7 ก้าน อยู่ด้านล่างตรงข้ามกับครีบหลังอันที่สอง ส่วนครีบสุดท้ายเป็นครีบหาง มี 15-16 ก้าน มีลักษณะมน และมีแถบสีคล้ำ 3–5 แถบ

ปลาบู่ทราย
ขอบคุณภาพจาก commons.wikimedia.org

เพศปลาบู่
เพศของปลาบู่ทรายนั้น ค่อนข้างแยกยาก เพราะทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะมีรูปร่างคล้ายกัน แต่จะแยกเพศได้ชัดเจนเมื่อจับหงายท้อง ซึ่งจะมีความแตกต่างกันที่อวัยวะเพศ โดยตัวผู้จะมีอวัยวะเพศเป็นติ่งขนาดเล็ก และปลายแหลมยื่นออกมาบริเวณท้องค่อนไปทางโคนหาง ส่วนตัวเมียจะมีลักษณะเป็นตุ่มเนื้อที่ใหญ่กว่า ไม่มีติ่งยื่น ตรงกลางเป็นรูขนาดใหญ่สำหรับเป็นทางออกของไข่

แหล่งอาศัย และการกระจาย
ในต่างประเทศพบได้ในทุกประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ส่วนในไทยพบกระจายทั่วไปในทุกภาค ทั้งแหล่งน้ำไหลที่เป็นแม่น้ำหลัก และสาขาในทุกภาค และพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำนิ่งที่เป็นเขื่อน บึง และบ่อเก็บน้ำขนาดเล็ก

ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่รักสงบ ชอบอาศัยอยู่นิ่งตามเกาะแก่งของแม่น้ำหรือตามอ่างเก็บน้ำ มักหลบอาศัย และหากินตามชายน้ำที่มีโขดหินหรือตอไม้ กลางวันชอบหลบช่อนตัว ส่วนกลางคืนจะออกหาอาหาร

อาหาร และนิสัยการหาอาหารของปลาบู่ทราย
ปลาบู่ทราย เป็นปลากินเนื้อ ไม่ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูง ชอบออกหาอาหารในเวลากลางคืน โดยจะลอยนิ่ง และหลบซ่อนเพื่อรองับเหยื่อที่ผ่านมาตามซอกหิน โพรงไม้หรือกอหญ้า โดยมีอาหารที่สำคัญ ได้แก่ ลูกปลาหรือปลาขนาดเล็ก กุ้ง และปู เป็นต้น

การผสมพันธุ์ และการวางไข่
ปลาบู่ทรายจะเริ่มผสมพันธุ์ และวางไข่มากในช่วงต้นฤดูฝน คือ ช่วงเดือนพฤษภาคม และจะผสมพันธุ์ และวางไข่ได้ตลอดในช่วงฤดูฝนจนถึงเดือนตุลาคม แต่ก็สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ปีละประมาณ 3 ครั้ง

ความสมบูรณ์ของเพศปลาตัวผู้ที่พร้อมจะผสมพันธุ์จะมีขนาดยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ขึ้นไปส่วนตัวเมียจะเจริญพันธุ์ไวกว่าที่ขนาดลำตัวยาวประมาณ 12 เซนติเมตร ขึ้นไป

การผสมพันธุ์นั้น มักเป็นตัวผู้ที่คอยหารังสำหรับวางไข่ ซึ่งมักจะเลือกบริเวณที่มีขอนไม้ โพรงไม้ รากไม้สำหรับวางไข่ โดยตัวผู้จะทำหน้าที่ตีแปลงหรือทำความสะอาดบริเวณรอบรัง ก่อนจะเข้าเกี้ยวพาราสี พร้อมกับการฉีดเข้าออกมาผสมกับน้ำเชื้อของตัวผู้ด้านนอก ซึ่งเวลาการผสมพันธุ์มักอยู่ในช่วงค่ำจนถึงเช้าตรู

ไข่ปลาบู่ทรายมีเมือกเหนียวหุ้มโดยรอบจึงเกาะติดกับวัสดุได้ดี ลักษณะของไข่ยาวรี ท้ายไข่ทั้ง 2 ด้านมน ขนาดกว้างประมาณ 0.6 มิลลิเมตร ยาวประมาณ 2.2 มิลลิเมตร ทั้งนี้ ไข่ที่ยังไม่ได้ผสมกับน้ำเชื้อจะมีสีเหลืองคล้ายหยดน้ำมัน แต่เมื่อผสมแล้วจะมีสีขาวทึบ ส่วนจำนวนไข่จะขึ้นอยู่กับขนาดลำตัว ซึ่งมีรายงานการศึกษา พบว่า ปลาบู่ทรายขนาดลำตัวยาวประมาณ 15.2 เซนติเมตร จะมีไข่ประมาณ 6,800 ฟอง และขนาดลำตัวยาวประมาณ 21.5 เซนติเมตร จะมีไข่ประมาณ 36,300 ฟอง

หลังจากไข่ผสมกับน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะลอยไปติดกับรากไม้ ขอนไม้ หรือวัสดุที่อยู่ใกล้ๆ ซึ่งจะมีตัวผู้เป็นตัวที่ทำหน้าที่ดูแลไข่อยู่ตลอด และไข่จะฟักออกเป็นตัวเมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 28 ชั่วโมง

หลังจากฟักออกมาเป็นตัวแล้ว ประมาณ 3-5 วัน ลูกปลาบู่ทรายจะเริ่มกินอาหารได้ ซึ่งอาหารในระยะแรกจะเป็นสาหร่าย และแพลงก์ตอนพืช และต่อมาเปลี่ยนเป็นแพลงก์ตอนสัตว์ และสัตว์น้ำขนาดเล็ก

ปลาบู่1

เมนูปลาบู่ทราย
– ปลาบู่ทรายทอด หรือชุบแป้งทอด
– แกงส้มปลาบู่ทราย
– ต้มยำปลาบู่ทราย
– ปลาบู่ทรายนึ่ง ทั้งนึ่งมะนาว นึ่งน้ำปลา นึ่งซีอิ้ว และอื่นๆ
– ผัดเผ็ดปลาบู่ทราย

เนื้อปลาบู่
ขอบคุณภาพจาก www.siamfishing.com