ปลาตีน และประโยชน์ปลาตีน

18580

ปลาตีน (mudskipper) เป็นปลาที่อาศัยได้ทั้งบนบก ในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งพบอาศัยเฉพาะบริเวณป่าชายเลนที่มีน้ำท่วมถึง ซึ่งถือเป็นปลาที่ช่วยรักษาสมดุลของระบบนิเวศป่าชายเลน รวมถึงบางพื้นที่ยังนิยมจับมาประกอบอาหาร และเลี้ยงเป็นปลาขายสร้างรายได้

อนุกรมวิธาน
Plylum : Chordata
Class : Actinopterygii
Order : Perciformes
Family : Gobiidae
Genus : Periophthalmodon
Species : schlosseri

• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Periophthalmodon schlosseri
• ชื่อสามัญ :
– Mudskipper
– Gaint mudskipper
• ชื่อท้องถิ่นไทย :
– ปลาตีน
– ปลาอีจัง
– ปลากระจัง
– ปลาจังตาโปน

แหล่งกำเนิด และการแพร่กระจาย
ปลาตีน เป็นปลาที่อาศัยได้ทั้งบนบก ในน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็ม ซึ่งการแพร่กระจายจะขึ้นอยู่กับลักษณะของชายฝั่ง น้ำขึ้นน้ำลง และลักษณะการทับถมของตะกอน

ปลาตีน พบแพร่กระจายในเฉพาะบริเวณป่าชายเลนในแถบประเทศอบอุ่น ตั้งแต่ประเทศในแปซิฟิกตอนใต้ แอฟริกาตะวันตก อินเดียตะวันออก ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ พม่า กัมพูชา เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเชีย สิงคโปร์ รวมถึงประเทศไทยด้วย

สำหรับประเทศไทย ปลาตีนพบได้ตามป่าชายเลน และลำน้ำด้านในบริเวณปากอ่าวในแถบจังหวัดที่ติดชายทะเล ไล่มาตั้งแต่จังหวัดตราด ระยอง จันทบุรี ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ และไล่ไปจนถึงทุกจังหวัดในภาคใต้ ซึ่งพบได้มากบริเวณปากแม่น้ำหรือลำคลองที่ไหลลงสู่ทะเล เพราะเป็นแหล่งที่มีอาหารสมบูรณ์ที่สุด (1)

ลักษณะทั่วไป
ปลาตีน มีลักษณะลำตัวเป็นรูปทรงกระบอก มีหัวขนาดใหญ่ ตามี 2 ข้าง มีขนาดใหญ่ และโปนออก ลำตัวมีความยาวได้มากถึง 30 เซนติเมตร ปากโค้ง และเฉียงลงเล็กน้อย ปากมีมุมปากยาว สามารถอ้าได้กว้างมาก ขากรรไกรบนยาวกว่าขากรรไกรล่าง ภายในปากมีฟันเป็นแบบฟันเขี้ยว พบทั้งขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง ฟันที่ขากรรไกรบน มีจำนวน 2 แถว แถวแรกมีฟัน 18-28 ซี่ แถวที่สอง มีฟัน 3-11 ซี่ ส่วนขากรรไกรล่างมีฟันแถวเดียว จำนวนฟัน 16-23 ซี่ มีลักษณะใหญ่กว่าฟันขากรรไกรบน และแข็งแรง รูจมูกมี 2 รู เหงือกมีช่องเปิดแคบ ทำให้สามารถเก็บอากาศไว้ได้นาน ลำตัวมีลักษณะอ่อนนุ่ม มีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุม

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b5%e0%b8%99

ครีบหลังแบ่งเป็น 2 ตอน ครีบหลังตอนแรกสั้นกว่าครีบหลังตอนที่ 2 ส่วนครีบท้องมีลักษณะกลม คล้ายจาน ทำหน้าที่ช่วยในการเคลื่อนไหว ส่วนครีบอกมีลักษณะแตกต่างจากครีบปลาทั่วไป คือ ฐานครีบอกเป็นกล้ามเนื้อ คล้ายต้นแขน ปลายครีบอกเป็นก้านครีบ 16-19 ก้าน ครีบอกนี้ทำหน้าที่สำหรับเดินบนโคลน ส่วนครีบก้น มีก้านครีบ 12-14 ก้าน ครีบหางมีลักษณะกลม และยาว มีจำนวนก้านครีบ 8-12ก้าน

พื้นสีลำตัวของปลาตีน มีสีที่แตกต่างกันในแต่ละส่วน โดยส่วนหัวจะมีสีน้ำตาลอมเขียว บริเวณเหนือเส้นข้างลำตัวจะมีแถบสีดำพาดผ่าน ซึ่งเริ่มจากหลังจาพาดยาวจนถึงโคนหาง ตามลำตัวมีจุดสีน้ำตาลดำ บริเวณท้องมีสีจาง ส่วนครีบหลังมีสีเทาหรือสีน้ำตาลอมดำ ส่วนครีบท้อง และครีบก้นมีมีเทาจางๆ ส่วนครีบอกมีสีน้ำตาลอมเขียว

เพศปลาตีน
ปลาตีนเมีย และตัวผู้ มีลักษณะภายนอกที่คล้ายคลึงกันมากจนแทบแยกแยะไม่ออก แต่สามารถแยกแยะได้จากลักษณะภายนอก โดยเฉพาะในช่วงการผสมพันธุ์ ได้แก่
1. ปลาตีนตัวผู้จะมีครีบใหญ่ และยาวกว่าครีบปลาตีนตัวเมีย
2. ปลาตีนตัวเมียจะมีติ่งเพศกลม และมน คล้ายกับรูปตัว U เมื่อเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ ติ่งเพศจะพอง และมีสีแดงเรื่อ
3. ปลาตีนตัวผู้จะมีติ่งเพศเรียวยาว และปลายติ่งแหลม ส่วนสีจะมีสีแดงเรื่อหรือสีชมพู
4. ส่วนท้องของปลาตีนตัวเมียจะอูมเป่งมากกว่าตัวผู้อย่างเด่นชัด โดยเฉพาะในช่วงการผสมพันธุ์

แหล่งอาศัย และการหาอาหาร
ปลาตีน พบอาศัยตามป่าชายเลน และบริเวณปากอ่าวหรือปากแม่น้ำที่มีน้ำท่วมถึง พบอาศัยมากในบริเวณที่เป็นดินโคลน ด้วยการขุดรูลึกลงเป็นในดินสำหรับพักอาศัย และหลบซ่อนตัวในช่วงที่มีน้ำขึ้น โดยจะออกหาอาหารในช่วงน้ำลงบริเวณที่ไม่ไกลจากรูมากนัก ส่วนลูกปลาตีนจะยังไม่พบการขุดรู แต่จะอาศัยการมุดหลบซ่อนในดินโคลนในช่วงน้ำขึ้น และออกหาอาหารในช่วงน้ำลง

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b5%e0%b8%991

ปลาตีนเป็นปลากินทั้งพืช และกินทั้งสัตว์ มีอาหารที่สำคัญ ได้แก่ เศษใบไม้ สาหร่าย ไดอะตอม กุ้ง ปู ปลาขาดเล็ก และแมลงต่างๆ ทั้งนี้ อาหารส่วนมากที่ชื่นชอบจะเป็นสัตว์น้ำชนิดต่างๆเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะปูที่เป็นอาหารหลักของปลาตีน และปูก้ามดาบจัดเป็นชนิดปูที่ปลาตีนจับกินมากที่สุด

ปลาตีนจะออกหาอาหารในช่วงน้ำลงจนเห็นโคลนตม ทั้งในเวลากลางคืน และกลางวัน ขึ้นอยู่กับน้ำลงในช่วงใด ซึ่งจะค่อยคืบคลานออกมาจากปากรู และมองรอบๆรูสักพัก เพื่อเฝ้าระวังภัย ก่อนจะคลานออกหาอาหารนอกรู

ในบางครั้งที่การออกหาอาหารมีการลุกล้ำถิ่นอาศัยกัน ปลาตีนจะแสดงพฤติกรรมหวงถิ่น และเข้าต่อสู้เพื่อแย่งถิ่นอาศัยกัน

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b5%e0%b8%992

การผสมพันธุ์
ปลาตีน เป็นปลาที่สืบพันธุ์ และวางไข่ได้ตลอดทั้งปี แต่จะมีช่วงผสมพันธุ์ และวางไข่มากในช่วงเดือนพฤษภาคม

ในช่วงผสมพันธุ์ ปลาตีนจะอาศัยช่วงที่น้ำขึ้นสูงสุด และลงต่ำสุดสำหรับการผสมพันธุ์ และวางไข่ เมื่อเข้าสู่ช่วงผสมพันธุ์ ปลาตีนตัวผู้จะขุดรูด้วยปาก ลึกประมาณ 40-50 เซนติเมตร บริเวณปากรูกว้าง และมีกองโคลนพูนสูง เมื่อขุดรูเสร็จ ปลาตีนตัวผู้จะขึ้นบนบริเวณกองโคลนที่สูงใกล้กับปากรู จากนั้น จะมีพฤติกรรมม้วนหางเป็นมุมฉากกับลำตัว และกางครีบหลังให้เป็นรูปใบพัด ก่อนจะกระโดดขึ้นลง ซึ่งกระโดดได้สูงถึง 15 เซนติเมตร เหนือพื้นโคลน เพื่อดึงดูด และล่อตัวเมียเข้ามาผสมพันธุ์

ตัวเมียที่พร้อมจะผสมพันธุ์ และวางไข่ เมื่อเห็นตัวผู้ที่เหมาะสมก็จะกางครีบหลังให้ตั้งขึ้น และสีบริเวณหัวจะเข้มขึ้น สีขอบตาจะจางลง พร้อมกับวิ่งเข้าหา ตัวผู้ จากนั้น ตัวผู้ และตัวเมียจะลงในรูพร้อมกัน ก่อนสักพักจะขึ้นมาหายใจ และกลับลงรูอีก ทำอย่างนี้นานหลายครั้ง ก่อนตัวเมียจะออกจากรูมาวางไข่บริเวณแอ่งที่ตัวผู้ขุดไว้หรือแอ่งที่ตัวเมียเองขุดไว้ใกล้กับรูที่มีการผสมพันธุ์

%e0%b8%9b%e0%b8%a5%e0%b8%b2%e0%b8%95%e0%b8%b5%e0%b8%99%e0%b8%9c%e0%b8%aa%e0%b8%a1%e0%b8%9e%e0%b8%b1%e0%b8%99%e0%b8%98%e0%b8%b8%e0%b9%8c

ปลาตีน เป็นปลาออกไข่ ไข่มีลักษณะกลม ขนาดเล็ก สีเหลือง และเป็น 2 พู ขนาดไข่ประมาณ 30-50 ไมโครเมตร ทั้งนี้ ปลาตีนตัวเมียสามารถวางไข่ได้ในแต่ละครั้ง 8,000-48,000 ฟอง หรือเฉลี่ยประมาณ 19,000 ฟอง/ตัว

เมื่อไข่ฟักเป็นตัวลูกปลาตีนจะอาศัยในแอ่งรอบรูเพื่อการเติบโต และเรียนรู้การหาอาหารจากแม่ปลา ก่อนจะย้ายออกจากแอ่งเมื่อโตเต็มที่

ประโยชน์ปลาตีน
1. ปลาตีน เป็นปลาที่พบอาศัยตามดินโคลนในแนวป่าชายเลน และยังพบอาศัยตามดินโคลนใกล้กับบ้านเรือนหรือใต้ถุนบ้านที่ตั้งบริเวณปากอ่าว จึงเป็นปลาที่แลดูสกปรก โดยเฉพาะปลาตีนที่อยู่ใกล้กับชุมชน ทำให้ไม่นิยมจับมาประกอบอาหาร แต่ก็มีบางพื้นที่ที่จับปลาตีนมาประกอบอาหารเช่นกัน อาทิ แกงส้มปลาตีน ทอดปลาตีน เป็นต้น นอกจากนั้น ในต่างประเทศ อาทิ มณฑลฝูเจี้ยน ประเทศจีน นิยมจับปลาตีนมาประกอบอาหาร และเพาะเลี้ยงปลาตีนจำหน่าย จนกลายเป็นปลาเศรษฐกิจชนิดหนึ่ง
2. ปลาตีน เป็นปลาที่ช่วยรักษาสมดุลในระบบนิเวศป่าชายเลน ทำหน้าที่ควบคุมประชากรสัตว์น้ำอื่นไม่ให้มีมากเกินไป รวมถึงปลาตันวัยอ่อนจะเป็นอาหารแก่สัตว์หรือปลาชนิดอื่น

เอกสารอ้างอิง
(1) ฉัตรชัย ปรีชา, 2545, ชีวประวัติของปลาตีน (Periophthalmodon schlosseri)-
บริเวณปากแม่น้ำบางปะกง, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.