ปลาชะโอน

15077

ปลาชะโอน (Butter Catfish) เป็นปลาน้ำจืดเนื้ออ่อนที่นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่ง เนื่องจาก มีลำตัวบางเพียว และมีสีเนื้อใสสวยงาม รวมถึงเป็นปลาที่นิยมนำมารับประทานที่ให้เนื้อที่มีรสนุ่มอร่อย

ปลาชะโอน เป็นปลาชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาประกอบอาหาร และแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ อาทิ ทำปลาร้า ปลาส้ม ปลาจ่อม (ลูกปลา) ปลาเค็ม และปลาตากแห้ง

ปลาชะโอน เป็นปลาเนื้ออ่อนที่ถูกจัดอยู่ในครอบเดียวกันกับปลาแดง ปลาน้ำเงิน ปลาคางเบือน ปลาเค้าขาว และปลาเค้าดำ

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ompuk bimacutatus
ชื่อสามัญ : Two Spot-Glass Catfish, Butter Catfish,
ชื่อท้องถิ่น :
– ชะโอน
– สยุมพร
– หน้าสั้น
– อิดัม

อนุกรมวิธาน
• Division : Teleostei
• Subdivision : Euteleostei
• Superorder : Ostariophysi
• Order : Siluroidei
• Family : Siluridae
• Genus : Ompok
• Species : bimaculatus

ลักษณะทั่วไป
ปลาชะโอนมีลักษณะลำตัวค่อนข้างยาว และแบนข้าง ลำตัว และส่วนหัวมีสีเทาเข้มหรือสีน้ำตาล ส่วนบริเวณใต้หัว และส่วนท้องมีสีอ่อนกว่าสีลำตัว มีความยาวของลำตัวทางด้านหลังเกือบเท่าด้านท้อง ตั้งแต่ปลายปากจนถึงของส่วนหัวโค้งนูน และค่อยๆยกสูงจนถึงโคนครีบหลัง ส่วนหัวมีความยาวเกือบเท่าความสูง ความยาวจากปลายปากถึงขอบด้านหน้าของตา มีความยาว 1.2-2.0 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางตา ส่วนความยาวของส่วนหลังขอบตา ยาว 2.5-3.5 เท่า ของเส้นผ่าศูนย์กลางตา

ตาปลาชะโอนมีขนาดเล็ก มีหนังคลุมประมาณกึ่งกลางของส่วนหัวในระดับเหนือมุมปากแต่เยื้องไปด้านหลัง ปากป้าน และเฉียงค่อนไปทางด้านบน ขากรรไกรล่างยื่นยาวกว่าขากรรไกรบน หนวดบริเวณขากรรไกรบนยาวถึงกลางครีบหู หรือ ยาวถึงจุดเริ่มต้นของครีบก้น หนวดที่ขากรรไกรล่างสั้นมาก สั้นหรือยาวกว่าเส้นผ่าศูนย์กลางตา

ลำตัวมีความลึกประมาณ 1.5-2.0 เท่า ของก้านครีบหลังอันที่ยาวที่สุด ความยาวจากครีบหลังถึงปลายปากเป็น 0.5 เท่า ของระยะจากครีบหลังถึงคอดหาง ส่วนปลายครีบก้นอยู่ใกล้กับครีบหาง ที่มีลักษณะเว้าลึก ปลายหางมีลักษณะมน แพนหางส่วนบนยาวกว่าแพนหางส่วนล่าง ครีบหูมีความเท่ากับความยาวจากมุมปากถึงแผ่นปิดเหงือก ครีบหูก้านแรกเป็นครีบแข็ง และมีลักษณะเป็นจักร ปลายจักรชี้ไปทางปลายครีบ มีก้านครีบแข็งยาวเท่ากับความยาวจากหลังตาถึงแผ่นปิดเหงือก มีครีบท้องอยู่ตรงข้ามกับครีบหลัง

ปลาชะโอน

ฟันประกอบด้วยฟันบน และฟันล่าง แต่ละส่วนมี 2 แถบ ฟันแต่ละซี่มีลักษณะปลายแหลม และชี้ไปทางด้านหลัง ฟันด้านในสุดจะมีขนาดเล็กสุด มีฟันที่กระดูกส่วนกลางของเพดานปากเป็นแถบรูปไข่ 2 แถบ มีซี่กรองบนเหงือก 9 อัน แต่ละอันอยู่ห่างกันมาก และมีขนาดสั้นกว่าฝอยเหงือก ถัดจากช่องเหงือกบริเวณเหนือกึ่งกลางของครีบหูมีจุดดำ 1 จุด และบางตัวอาจมีจุดดำ 1 จุด ที่โคนหาง ส่วนครีบ และลำตัวมีจุดดำขนาดเล็กประปราย บริเวณขอบครีบมีสีเข้ม โดยเฉพาะครีบหาง และครีบก้น บริเวณฐานครีบหางมีแถบสีดำ 1 แถบ ที่พาดในแนวขวางของครีบ

ปลาชะโอนเป็นปลากินเนื้อ (ความยาวทางเดินอาหารสั้นกว่าความยาวลำตัว) มีกระเพาะอาหารเป็นถุงขนาดใหญ่สำหรับเก็บสะสมอาหาร และย่อยอาหาร จึงทำให้มีลักษณะท้องอูมเป่งตลอดเวลา

แหล่งอาศัย และการหาอาหาร
ปลาชะโอนมักชอบอาศัยอยู่บริเวณที่มีพรรณไม้น้ำหนาแน่น พบได้ในความลึกของน้ำตั้งแต่ 0.5-3 เมตร ออกหาอาหารได้ตลอดทั้งกลางวัน และกลางคืน ออกหากินทั้งในระดับผิวน้ำ และบริเวณท้องน้ำ โดยมีอาหารหลักสำคัญที่เป็นปลาขนาดเล็กชนิดต่างๆ รวมถึงกุ้งฝอย และสัตว์น้ำขนาดเล็กอื่นๆ

การวางไข่
ปลาชะโอนมีฤดูผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝน ไข่มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1.1-1.5 มิลลิเมตร ไข่เมื่อได้ผสมกับน้ำเชื้อจะมีสีเหลืองใส และมีเมือกเหนียวล้อมรอบสำหรับให้ไข่ยึดเกาะกับพืชในน้ำ แต่ทั่วไปไข่จะไม่เกาะติดกับพืชน้ำ เนื่องจากมักมีตะกอนดินมาเกาะติดเมือกก่อน

ปลาชะโอน 1 ตัว จะออกไข่ประมาณ 15,000-20,000 ฟอง ไข่ที่ได้รับการผสมแล้วจะฟักออกมาเป็นตัวภายใน 1 วัน โดยก่อนการฟัก ไข่จะมีขนาดเพิ่มเป็น 2 เท่า โดยมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.4 มิลลิเมตร

เมื่อไข่ฟักออกเป็นลูกปลา ลูกปลาจะมีสีเหลืองใส ยาวประมาณ 1.2 มิลลิเมตร อาศัยอยู่บริเวณรอบๆที่เดิม โดยลอยในน้ำนิ่งๆ และจะค่อยเริ่มว่ายน้ำหลังจากฟักออกประมาณ 6 ชั่วโมง หลังจากนั้น ลูกปลาจะมีการพัฒนาอวัยวะจนสมบูรณ์ภายใน 36 ชั่วโมง โดยในระยะแรกจะมีครีบหูใหญ่มากกว่าลำตัว และถุงไข่แดงจะเริ่มยุบเมื่อผ่านไป 2 วัน แล้วลูกปลาจึงค่อยเริ่มกินอาหารได้ ซึ่งระยะนี้ลูกปลาจะมีปากกว้างประมาณ 0.1 มิลลิเมตร

การเพาะเลี้ยงปลาชะโอน
การเพาะพันธุ์ด้วยฮอร์โมน
ปลาชะโอนสามารถเพาะขยายพันธุ์ด้วยการกระตุ้นจากฮอร์โมนหรือการผสมเทียมแบบแห้ง โดยนำต่อมใต้สมองของปลาไนผสมกับ CG ทำการฉีด 2 ครั้ง ร่วมกับ CG 25-30 IU ให้กับตัวเมีย โดยครั้งแรกฉีด 0.7 โดส และครั้งที่ 2 ฉีด 1.5 โดส ส่วนตัวผู้ ฉีด 0.5 โดส แล้วทิ้งไว้ประมาณ 6 ชั่วโมง จึงทำการรีดไข่ และน้ำเชื้อผสมกัน

นอกจากนั้น ยังใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนสังเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีที่นิยมในปัจจุบัน ด้วยการฉีดให้แม่ปลาครั้งแรก 1 โดส และทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง ก่อนจะฉีดอีกครั้ง 2-3 โดส และฉีดพ่อปลา 1 โดส แล้วทิ้งไว้ 6 ชั่วโมง แล้วจึงรีดไข่ออกผสมกับน้ำเชื้อ

การอนุบาล
ในระยะหลัง 2 วันแรก ที่ลูกปลาชะโอนฟักออกจากไข่ ลูกปลาชะโอนจะเริ่มกินอาหารได้แล้ว ซึ่งระยะนี้จำเป็นต้องให้อาหารแก่ลูกปลา อาหารที่ให้ ได้แก่ ไข่แดงละลายน้ำ และไรแดง รวมถึงโรติเฟอร์ เมื่ออนุบาลได้ประมาณ 20 วัน ลูกปลาจะมีความยาวประมาณ 2.5 เซนติเมตร ซึ่งสามารถนำมาปล่อยเลี้ยงในบ่อดินได้ ทั้งนี้ ในระยะการอนุบาลลูกปลาชะโอนในบ่อ ควรจัดหาวัสดุคลุมบ่อเพื่อให้เป็นร่มเงาบังแดดในบางส่วน เพราะลูกปลาจะชอบหลบอาศัยบริเวณที่มืด ไม่มีแสง และจะออกมาว่ายน้ำทั่วบ่อในเวลากลางคืน

การเลี้ยงปลาชะโอน
การเลี้ยงปลาชะโอนนิยมเลี้ยงทั้งในบ่อดิน และในกระชัง อัตราการปล่อยที่ 20 ตัว/ตารางเมตร โดยให้อาหารประเภทลูกปลา และกุ้งฝอย ร่วมกับอาหารสำเร็จรูป รวมถึงรำละเอียดเป็นอาหารเสริม

ปลาชะโอน1