ปลาชะโด

22857

ปลาชะโด เป็นปลาท้องถิ่นที่พบแพร่กระจายได้ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดเป็นปลาสวยงามชนิดหนึ่งที่นิยมนำมาเลี้ยงในขณะที่ลำตัวมีขนาดเล็ก เนื่องจากมีแถบลายข้างลำตัวสวยงาม แต่เมื่อโตแล้วจะไม่นิยมเลี้ยงเนื่องจากลายข้างลำตัวจะหายไป

ชื่อวิทยาศาสตร์ : Ophicephalus micropeltes
ชื่อสามัญ : Great snakehead, Giant snakehead
ชื่อท้องถิ่น : ปลาชะโด, ปลาแมงภู่, ปลาอ้ายป๊อก

ลักษณะปลาชะโด
ปลาชะโดมีรูปร่างคล้ายปลาช่อน และมีขนาดลำตัวใหญ่มาก โดยเคยพบปลาชนิดนี้มีลำตัวยาวมากกว่า 1 เมตร น้ำหนักมากกว่า 50 กิโลกรัม ลักษณะลำตัวทั่วไปของตัวเต็มวัย แถบลำตัวทางด้านบนมีสีน้ำตาลอมเขียวเมื่อยังเล็ก และเป็นน้ำตาลอมดำเมื่อมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีจุดประสีขาวกระจายทั่วในแนวตั้งขวางลำตัวด้านบน และกระจายในแนวนอนตามยาวบริเวณส่วนหัว ส่วนด้านท้องด้านล่างมีสีขาว เมื่อยังเล็กจะมีแถบข้างลำตัว 2 แถบ เป็นสีแดง หรือ อาจมองเห็นเป็นสีส้ม เมื่อโตเต็มวัยแถบสีแดงจะเปลี่ยนเป็นสีดำทำให้มองเห็นเป็นแถบพาดยาวจากลูกตา และมุมปากไปจรดโคนหาง ส่วนครีบหางมีลักษณะสี่เหลี่ยม ขอบครีบหางทางด้านบน และด้านล่างมีสีชมพู

ปลาชะโด

ส่วนหัวของปลาชะโดมีลักษณะคล้ายปลาช่อน ปากมีฟันเป็นชี่สีขาวคล้ายฟันปลาฉลาม สามารถกัดเหยื่อให้ขาดเป็นท่อน หรือเกิดเป็นแผลขนาดใหญ่ได้

ความแตกต่างระหว่างเพศของปลาชะโด สามารถสังเกตได้ในช่วงฤดูวางไข่ โดยปลาชะโดเพศเมียจะมีผนังท้องบาง และอูมเป่ง บริเวณด้านท้องของอวัยวะเพศมีสีชมพูแดงเรื่อ

การแพร่กระจาย และแหล่งอาศัย
ปลาชะโดในประเทศไทยมักพบในแหล่งน้ำนิ่งต่างๆที่มีพรรณไม้น้าต่างๆ เช่น บัว สาหร่ายพุงชะโด จอก ผักตบชะวา ลักษณะของน้ำค่อนข้างใส พื้นท้องน้ำเป็นดินโคลน โดยพบแพร่กระจายมากในแถบจังหวัดภาคกลางถึงภาคเหนือตอนล่าง ชอบอาศัยที่ระดับความลึก 1.3-2.5 เมตร โดยปลาชะโดขนาดใหญ่มักไม่มีการอพยพย้ายถิ่น อาจเนื่องจากมีลำตัว และน้ำหนักมากทำให้เป็นอุปสรรคในการย้ายแหล่งอาศัย แต่ปลาชะโดขนาดเล็กจะมาการย้อยถิ่นอาศัยเหมือนกับปลาช่อนทั่วไป

อาหาร และการหาอาหาร
ปลาชะโด เป็นปลาที่มีฟันเป็นซี่ สามารถกัดกินอาหารให้ขาดเป็นท่อนได้ง่าย ชอบอาศัยตามพุ่มไม้น้ำเพื่อเป็นที่พรางตัว และการหาอาหาร โดยมีอาหารเป็นปลา กุ้งฝอย และแมลงต่างๆ นอกจากนั้น ปลาชะโดยังกินซากเน่าเปื่อยของปลาหรือสัตว์อื่นๆ แต่อาหารหลักจะเป็นปลาชนิดต่างๆ ทั้งขนาดใหญ่ และขนาดเล็ก

การผสมพันธุ์ และวางไข่
ปลาชะโดจะผสมพันธุ์ในช่วงต้นฤดูฝนเหมือนกับปลาชนิดอื่นทั่วไป ชอบสร้างรัง และวางไข่บริเวณริมฝั่งที่มีพรรณไม้น้ำขึ้นโดยรอบ โดยจะสังเกตเห็นแม่ปลาขึ้นมาตีแปลงเพื่อสร้างแอ่งหรือรังสำหรับวางไข่

ลูกปลาชะโดเมื่อฝักออกจากไข่จะอยู่รวมกันเป็นฝูง โดยมีแม่ปลาคอยดูแลตลอด ซึ่งในระยะนี้ แม่ปลาจะมีความดุร้ายมาก หากพบปลาหรือสิ่งมีชีวิตเข้ามาใกล้ก็จะว่ายเข้าตะคุบกัดทันที ทำให้พบปล่อยที่ว่ามีคนโดนปลาชะโดกัดบ่อยในระยะที่ปลาเริ่มวางไข่ ด้วยเหตุนี้ ทำให้ลูกปลาชะโดสามารถมีชีวิตรอดจนสามารถหากินเองได้เกือบ 100% เลยทีเดียว และเมื่อลูกปลาเติบโตจนสามารถออกหาอาหารเองได้ก็จะแตกฝูงออกไปอาศัยหากินตามลำพัง

การเลี้ยงปลาชะโด
พบเกษตรกรในบางพื้นที่มีการเลี้ยงปลาชะโดเพื่อจำหน่าย และส่งออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งพบได้ในภาคกลาง โดยเป็นการเลี้ยงในกระชัง และเลี้ยงในบ่อดิน แต่โดยทั่วไปพบการเลี้ยงมากในกระชังบริเวณอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

การเลี้ยงปลาชะโดเพื่อจำหน่ายส่วนมากเป็นการเลี้ยงเพื่อการส่งออกเป็นปลาสวยงามทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ซึ่งจะเก็บปลาส่งจำหน่ายขณะที่ยังมีขนาดลำตัวเล็กอยู่ เนื่องจากปลาชะโดขนาดเล็กจะมีลายหรือสีแถบข้างลำตัวที่สวยงาม นิยมนำมาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม ส่วนการจำหน่ายเพื่อการบริโภคยังไม่เป็นที่นิยมมากนัก เนื่องจาก ลำตัวมีลายที่แลดูน่าเกียจ เมื่อเปรียบกับปลาช่อนที่นิยมรับประทานมากกว่า

ปลาชะโด1

อัตราการปล่อยพันธุ์ปลาชะโดที่ 2,000-3,500 ตัว/กระชัง (200 ตัว/ตารางเมตร) ขนาดลูกปลายาวประมาณ 5-7 เซนติเมตร ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 8-12 เดือน ซึ่งจะได้ขนาดปลาน้ำหนักประมาณ 1-3 กิโลกรัม

อาหารปลาชะโดที่ใช้เลี้ยงจะเป็นลูกปลาหรือปลาขนาดเล็ก แต่สามารถเลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปสำหรับปลากินเนื้อได้