ปลากัด และการเลี้ยงปลากัด

38809

ปลากัด จัดเป็นปลาสวยงามที่นิยมเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ทั้งในด้านความสวยงาม การกีฬา และการสร้างรายได้ที่แน่นอนให้กับเกษตรกรหรือผู้ชื่นชอบ โดยปลากัดที่นิยมเลี้ยง ได้แก่ ปลากัดหม้อ และปลากัดจีน โดยปลากัดจีนจะเพาะเลี้ยงเพื่อเป็นปลาสวยงาม และเพื่อการส่งออกเป็นหลัก ส่วนปลากัดหม้อจะเพาะเลี้ยงเพื่อการนำมาต่อสู้กัน มูลค่าการซื้อขายในประเทศแต่ละปีประมาณ 5 – 10 ล้านบาท ส่วนตลาดต่างประเทศที่มีการส่งออกสามารถสร้างรายได้มากกว่า 20 – 30 ล้านบาทต่อปี

ปลากัด เป็นปลาที่นิยมเลี้ยงมานาน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ชาวต่างชาติมักรู้จักในชื่อ Fighting Fish หรือ Siamese Fighting Fish และมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Betta splendens Regan จัดเป็นปลาพื้นเมืองดั้งเดิมของไทยที่นิยมเลี้ยงมาตั้งแต่สมัยโบราณเพื่อดูเล่น  และเพื่อกีฬากัดปลา พบได้ทั่วไปในทุกภาคของประเทศ ตามห้วยหนอง คลอง บึง แอ่งนํ้า ลำคลอง รวมทั้งอ่างเก็บนํ้าบริเวณนํ้าตื้น มักพบในจุดนํ้าที่ค่อนข้างใส และน้ำนิ่ง หรือแหล่งนํ้าที่มีต้นไม้นํ้าขึ้น เช่น กก หญ้าปล้อง ธูปฤาษี เป็นต้น

ประวัติปลากัด
ปี พ.ศ. 2383 พระมหากษัตริย์ไทยได้มอบปลากัดแก่นายแพทย์เดียวดอร์ แคนเตอร์ จากสถาบันเบนเกลเมดิคอล เซอร์วิสของสหรัฐอเมริกา ที่เป็นวาดภาพ และบันทึกรายละเอียดเกี่ยวกับ
ปลากัดไว้ ในปี พ.ศ. 2392 นายแพทย์เดียวดอร์ แคนเตอร์ ได้ตั้งชื่อให้ว่า Macropodus pugnax, Var. แต่พบว่าเกิดความสับสนระหว่างชนิดปลากัดกับปลาชนิดอื่นที่มีการค้นพบใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกันบ่อย ทำให้มีการตรวจสอบอีกครั้งในปี พ.ศ.2452 โดย ซี. เท็ด เรแกน และได้ให้ชื่อทางวิทยาศาสตร์ให้แก่ปลากัดว่า Betta splendens หมายถึง นักรบผู้สง่างาม

พบหลักฐานบันทึกถึงการเริ่มนำปลากัดไทยไปเลี้ยงในยุโรป ปี พ.ศ. 2414 โดยมีการเพาะสำเร็จที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปี พ.ศ. 2436 ได้นำเข้าไปในเยอรมันนี ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2439 และเข้าสู่สหรัฐอเมริกาในปี พ.ศ. 2453

ลักษณะทางอนุกรมวิธาน
ปลากัด เป็นปลามีเกล็ดจัดอยู่ในกลุ่มของปลากริม ปลาหมอไทย ปลากระดี่ ปลาสลิด มีชื่อสามัญว่า Siamese Fighting Fish หรือมักเรียก Fighting Fish จัดอนุกรมวิธานได้ ดังนี้

Phylum : Chordata
Subphylum : Vertebrata
Superclass : Gnathostomata
Class : Actinopterygii
Subclass : Neopterygii
Division : Teleostei
Subdivision : Euteleostei
Superorder : Acanthopterygii
Series : Percomorpha
Order : Perciformes
Suborder : Anabantoidei
Family : Belontidae
Subfamily : Macropodinae
Genus : Betta
Species : Betta splendens

ปลากัด

ลักษณะโดยทั่วไป
ปลากัดเป็นปลาขนาดเล็ก มีลักษณะลำตัวยาว แบนข้าง หัวเล็ก ปากเล็ก และค่อนชี้ขึ้นด้านบนเล็กน้อย มีกระดูกอยู่ที่ด้านหน้าช่องตา (preorbital) และมีเกล็ดละเอียดขนาดเล็กปกคลุมอยู่ทั่ว ทั้งส่วนหัว และตัว ความยาวจากจงอยปากถึงโคนครีบหาง ยาวประมาณ 2.9 – 3.3 เท่า ของความกว้างของลำตัว และ 3.0 – 3.3 เท่าของความยาวหัว หรือมีขนาดได้ไม่เกิน 6 เซนติเมตร

ครีบหลังอยู่ค่อนทางด้านหาง  ครีบหลังมีก้านครีบเดี่ยว 1 – 2 ก้าน และก้านครีบแขนง 7 – 9 ก้าน ฐานครีบก้นยาวที่เริ่มจากครีบท้องถึงโคนครีบหาง โดยประกอบด้วยก้านครีบเดี่ยว 2 – 4 ก้าน และก้านครีบแขนง 21 – 24 ก้าน ส่วนครีบอกมีขนาดเล็กกว่าครีบอื่น ๆ ทั้งนี้ ปลากัดจะไม่มีเส้นข้างตัว ส่วนสีเกล็ดหรือลำตัวมีหลายสี เช่น แดง คราม เขียว นํ้าเงิน และสีผสมต่างๆ โดยพบว่า สีของเพศผู้จะมีสีสวยงามกว่าเพศเมีย

ปลากัดมีอวัยวะพิเศษที่ช่วยในการหายใจร่วมกับเหงือก เรียกว่า Labyrinth organ ซึ่งจะอยู่ในโพรงอากาศหลังช่องเหงือก เป็นอวัยวะที่มีลักษณะเป็นแผ่นกระดูกอ่อนบาง ๆ เรียงซ้อนทับไปมา และมีรอยหยักคล้ายดอกเห็ดหูหนูขาว บนแผ่นจะประกอบด้วยเส้นเลือดฝอยจำนวนมาก ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้โดยตรงจากอากาศโดยไม่ต้องผ่านเหงือก จึงเป็นความพิเศษที่ทำให้ปลากัดสามารถอาศัยในน้ำที่ไม่มีออกซิเจนได้ ซึ่งจะเริ่มมีเมื่อปลามีอายุประมาณ 10 วัน

โดยธรรมชาติ ปลากัดจะมีนิสัยก้าวร้าว และหวงถิ่น มีนิสัยชอบกัดต่อสู้กัน ซึ่งพบได้มากในเพศผู้มากกว่าเพศเมีย และปลากัดเพศผู้ยังมีนิสัยชอบทำร้ายปลากัดเพศเมีย พฤติกรรมนี้จะแสดงออกเมื่อมีอายุประมาณ 1.5 – 2 เดือน

พันธุ์ปลากัด
ปลากัดที่พบในธรรมชาติในช่วงแรกๆ จะมีสีเพียงไม่กี่สี คือ สีนํ้าตาลขุ่น และสีเทาแกมเขียว มีลักษณะครีบ และหางสั้น โดยเพศผู้จะมีครีบ และหางยาวกว่าตัวเมียเล็กน้อย ต่อมาได้มีการเพาะพัฒนาสายพันธุ์จนกระทั่งมีครีบแผ่ใหญ่ และสวยงามมากกว่าพันธุ์ดั้งเดิม ในปัจจุบันมีการจำแนกปลากัดออกเป็นหลายพันธุ์ ได้แก่
1. ปลากัดลูกป่า/ปลากัดทุ่ง
เป็นปลากัดที่พบได้ตามธรรมชาติ มีลักษณะลำตัวเล็ก บอบบาง ครีบ และหางสั้น มีสีนํ้าตาลขุ่นหรือเทาแกมเขียว เป็นสีไม่ค่อยสวย และไม่ทนทานในการกัดเท่าปลากัดลูกหม้อ โดยเวลากัดกันจะใช้เวลาน้อยมาก

ปลากัดทุ่ง

2. ปลากัดลูกหม้อ/ปลากัดไทย/ปลากัดครีบสั้น
เป็นปลากัดพัฒนามาจากการเพาะเลี้ยง และการคัดพันธุ์มาหลายชั่วอายุ เพื่อการกัดต่อสู้โดยเฉพาะ มีรูปร่างลำตัวที่โตกว่าปลากัดลูกทุ่ง และปลากัดลูกผสม  มีลักษณะปากใหญ่ ว่ายนํ้าปราดเปรียว สีสันสวยงามหลากสี เช่น สีแดงเข้ม นํ้าเงินเข้ม นํ้าตาลเข้ม หรือสีผสมระหว่างสีต่างๆ ปลาชนิดนี้กัดได้ทรหดยิ่งกว่าชนิดอื่น ใช้เวลาในการกัดนาน จึงนิยมเลี้ยงมากกว่าปลากัดลูกทุ่ง และปลากัดลูกผสม โดยแบ่งประเภทของปลากัดลูกหม้อตามรูปร่างของร่างกาย ได้แก่
– ปลากัดลูกหม้อทรงปลาช่อน มีลัษณะลำตัวยาว  ทรงกระบอก คล้ายปลาช่อน มีหน้าสั้น ช่วงหัวยาวและโคนหางใหญ่ ถือเป็นปลาที่มีลีลาการต่อสู้ที่ดุดัน และมีพละกำลังมาก มีประวัติการกัดชนะเป็นอันดับหนึ่งในเวทีต่างๆ

ปลากัดหม้อ

– ปลากัดลูกหม้อทรงปลาหม้อ มีลัษณะลำตัวสั้น หนา ลำตัวกว้างหนาเมื่อมองจากทางด้านข้าง และด้านบน ลักษณะลำตัวคล้ายกับปลาหมอไทย เป็นปลาที่ทรหด และว่องไวในการกัด

– ปลากัดลูกหม้อทรงปลากราย มีลัษณะมีหน้างอนขึ้น ลำตัวสั้นแบน เป็นปลาที่คล่องแคล่ว และว่องไวในการกัด และมีประวัติการกัดที่ยอดเยี่ยม

3. ปลากัดลูกผสม
ปลากัดลูกผสมมีชื่ออีกอย่างว่า ลูกสังกะสี หรือลูกตะกั่ว เป็นปลาที่มาจากการผสมพันธุ์ระหว่างปลากัดลูกทุ่งกับปลากัดลูกหม้อ มีลักษณะลำตัวที่เกิดจากการผสม มีความอดทนในการต่อสู้เหมือนกับปลากัดหม้อ ลำตัวมีหลายสี  เป็นปลาที่นิยมเลี้ยง และนำมากัดพนันกันมากไม่แพ้ปลากัดลูกหม้อ

4. ปลากัดจีน/ปลากัดครีบยาว/ปลากัดเขมร
เป็นพันธุ์ปลากัดที่ค้นพบโดยนักเพาะพันธุ์ปลากัดหม้อ โดยพบบังเอิญขณะที่พัฒนาปลากัดให้ได้ลักษณะครีบยาว ใหญ่ และให้มีหลากหลายสีที่สวยงาม จนได้ปลากัดที่มีลักษณะหางเป็นพวง คล้ายปลาทอง สีของปลากัดชนิดนี้ ได้แก่ สีแดง สีน้ำเงิน สีเขียวม่วง สีนํ้าเงิน ฯลฯ รวมถึงการผสมหลากหลายสีในตัวเดียวกัน ถือเป็นปลากัดที่นิยมเลี้ยงมากในประเทศไทย รวมถึงในต่างประเทศ จึงมีการเพาะเลี้ยงเพื่อส่งขายออกต่างประเทศ ทำให้สร้างรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับต้นๆของปลาสวยงามมีแหล่งเพาะเลี้ยงที่สำคัญในแถบภาคกลาง และภาคตะวันตก เช่น ปทุมธานี อยุธยา ราชบุรี นครปฐม เป็นต้น

ปลากัดจีน

รูปแบบสีปลากัด
1. สีเดียว (solid color) หมายถึง ปลากัดที่มีสีเดียวกันทั้งหมดทั้งครีบ และลำตัว โดยไม่มีสีอื่นแต้มหรือปะปน ยกเว้นเขม่าดำที่พบจากปากจรดครีบหู เส้นของครีบ และขอบเกล็ด ส่วนตะเกียบ (ครีบท้อง) อนุโลมให้มีสีอื่นๆได้ แต่ปลากัดเผือกที่ลำตัว และครีบท้องจะมีสีอื่นไม่ได้ ส่วนครีบหูนั้น อนุโลมให้เป็นครีบกระจก (ครีบที่มีลักษณะใส) ได้

2. สองสี (bi-color) หมายถึง ปลากัดที่มีสีลำตัวสีเดียว และสีครีบสีเดียว ซึ่งทั้งสองส่วนต้องมีสีแตกต่างกัน ยกเว้นเขม่าดำบริเวณปากจรดโคนครีบหู และเส้นขอบครีบจะเป็นสีใดก็ได้ ส่วนตะเกียบอนุโลมให้มีสีอื่นได้ ส่วนครีบหูอนุโลมให้เป็นครีบกระจกได้

3. หลากสี (multi-color) หมายถึง ปลากัดที่มีตั้งแต่สองสีขึ้นไป ทั้งส่วนของลำตัว และครีบ ยกเว้นเขม่าดำบริเวณปากจรดโคนครีบหู และเส้นขอบครีบจะเป็นสีใดก็ได้ ส่วนของตะเกียบอนุโลมให้มีสีอื่นได้ ส่วนครีบหูอนุโลมให้เป็นครีบกระจกได้

ลักษณะลำตัวปลากัด แบ่งได้ ดังนี้
1. รูปทรงปลาช่อน จะมีลักษณะลำตัวยาว หัวใหญ่เหมือนปลาช่อน รูปร่างเพรียว
2. รูปทรงปลาหมอ จะมีลักษณะตัวสั้น และค่อนข้างอ้วน
3. รูปทรงปลากราย จะมีลักษณะหน้าเชิด ลำตัวตรง มีลักษณะเป็นสี่เหลี่ยม มองด้านบนจะผอมบาง มีครีบอก และครีบก้นยาว
4. รูปทรงปลาตะเพียน จะมีลักษณะลำตัวป้อม และครีบยาวสวยงาม

รูปแบบครีบหาง แบ่งได้ ดังนี้
– หางรูปสามเหลี่ยม (delta tail) ครีบหางจะมีขนาดใหญ่ และแผ่โค้ง ปลายหางกลมมน ก้านครีบตรงถึงปลาย
– หางหวีหรือหนามเตย (comb tail) ครีบหางจะมีขนาดใหญ่ และยาว บริเวณปลายครีบหาง ครีบหลัง และครีบท้องมีลักษณะเป็นหนาม
– หางมงกุฎ (crown tail) ครีบหางจะยาวมากกว่าแบบหางหวี ก้านครีบที่แผ่ออกจะตั้งตรงตั้งแต่โคนครีบหางถึงปลายครีบหาง และจะพบลักษณะเป็นหนามบริเวณปลายครีบหาง ครีบหลัง และครีบท้อง ก้านครีบหางเป็นทั้งก้านครีบเดี่ยวหรือก้านครีบคู่
– หางคู่ (double tail) ครีบหางจะมีลักษณะสองแฉก

การเลี้ยงปลากัด
1. การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลากัด
การเลี้ยงปลากัดเพื่อเพาะเป็นพ่อแม่พันธุ์ ควรเลือกลูกปลาที่มีอายุประมาณ 1.5 – 2 เดือนขึ้นไป ด้วยการเลือกคุณสมบัติในเชิงต่อสู้ ซึ่งมักจะแสดงนิสัยก้าวร้าวขณะเลี้ยง แล้วรีบแยกเลี้ยงในภาชนะเพียงตัวเดียว ทั้งเพศผู้ และเพศเมีย ก่อนจะเลี้ยงรวมกันในช่วงฤดูผสมพันธุ์

วิธีสังเกตเพศปลากัด
– ดูสี
ปลากัดเพศผู้จะมีสีเข้มกว่าเพศเมีย ลายบนลำตัวเด่นชัดกว่าตัวเมีย ซึ่งจะดูได้ชัดเจนเมื่อปลามีอายุประมาณ 2 เดือนขึ้นไป

– ดูครีบ และกระโดง
ปลากัดตัวผู้จะมีครีบท้องยาวกว่าตัวเมีย และกระโดงยาวไปจรดหาง ส่วนตัวเมียกระโดงจะสั้นกว่า

– ดูท่อนำไข่
หากมีจุดขาวบริเวณใต้ท้องจะเป็นตัวเมีย ซึ่งเป็นจุดของท่อนำไข่

– ดูปาก
ปลากัดที่มีวงปากเป็นสีแดงแสดงว่าเป็นตัวผู้ ซึ่งใช้สังเกตได้ตั้งแต่ปลาอายุประมาณ 20 วัน

– ดูขนาดลำตัว
ปลาตัวผู้จะมีลำตัวใหญ่กว่าตัวเมียในช่วงอายุที่เท่ากัน

ภาชนะที่ใช้เลี้ยงปลากัด ควรเป็นภาชนะขนาดเล็ก และปากไม่เปิดกว้างมาก เพื่อป้องกันการกระโดดของปลา และป้องกันศัตรูที่อาจจับกินปลา เช่น แมว จิ้งจก ฯลฯ และควรจัดทำเป็นชั้นวางขวดเพื่อประหยัดพื้นที่ และช่วยให้สะดวกในการจัดการ การให้อาหาร พื้นที่เลี้ยงควรมีอากาศถ่ายเทได้ดี โดยเฉพาะในฤดูร้อน เพราะอุณหภูมิสูงหรือต่ำมากจะมีผลกระทบต่อปลากัดอย่างรวดเร็ว ทำให้ปลาตายได้ง่ายหากอุณหภูมิสูง (อุณหภูมินํ้าไม่ควรเกิน 30 องศาเซลเซียส ) และอุณหภูมิต่ำจะทำให้ปลาไม่กินอาหาร เป็นสาเหตุทำให้ปลาตายเช่นกัน

นํ้าที่เลี้ยงต้องปราศจากคลอรีน ควรเป็นน้ำบ่อธรรมชาติหรือน้ำบาดาล ควรหลีกเลี่ยงการใช้ประปา ความเป็นกรด – ด่าง (pH) ของน้ำประมาณ 6.5 – 7.5 ความกระด้าง (hardness) 75 – 100 มิลลิกรัม/ลิตร และความเป็นด่าง (alkalinity) 150 – 200 มิลลิกรัม/ลิตร

2. การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ปลา ในขั้นตอนแรกต้องหาปลาที่มีสายพันธุ์ปลาที่ดีจากแหล่งเลี้ยงหรือแหล่งเพาะพันธุ์ที่เชื่อถือได้ โดยให้ความสำคัญกับรูปร่างลำตัว เช่น ต้องมีความสมส่วนทั้งลำตัว ครีบ และหาง ตะเกียบยาวเสมอกันทั้ง 2 ข้าง เมื่อพองขอบครีบหลังจรดครีบหางสีสด แข็งแรง และปราดเปรียวและพ่อแม่ปลาที่นำมาผสมกันควรมีอายุ 5 – 6 เดือนขึ้นไป

เนื่องจากลาอายุน้อยจะมีขนาดตัวเล็กทำให้ปริมาณไข่น้อย แม่ปลามีอายุ 3 เดือน นํ้าหนักตัว 0.7 – 0.8 กรัม จะมีไข่ 100 – 300 ฟอง/ครั้ง แต่ถ้ามีอายุ 5 – 6 เดือนขึ้นไป จะให้ไข่ 500 – 1,000 ฟอง/ครั้ง

การคัดเลือกปลาเพศผู้ และเพศเมียมาผสมพันธุ์ ควรตรวจความสมบูรณ์เพศ โดยใช้หลักการ
ดังนี้
– ปลาเพศผู้ต้องแข็งแรง ไม่เซื่องซึม สีสวย เป็นปลาที่ชอบสร้างหวอด (การพ่นฟองอากาศที่มี
นํ้าเมือกจากปาก และลำคอสำหรับเพศเมียวางไข่) ซึ่งแสดงถึงปลาเพศผู้ที่มีความสมบูรณ์ทางเพศพร้อมที่จะผสมพันธุ์ได้
– ปลาเพศเมีย ควรเป็นปลาที่แข็งแรง ไม่เซื่องซึม ว่ายน้ำ ปราดเปรียว บริเวณท้องอูมเป่ง ใต้ท้องมีตุ่มสีขาวที่เรียกว่าไข่นำ ซึ่งอยู่ใกล้กับรูก้น

3. วิธีการเพาะพันธุ์
นำปลากัดเพศผู้ และเพศเมียที่คัดไว้ ใส่ขวดแล้วนำมาวางติดกัน ซึ่งเรียกวิธีนี้ว่า เทียบคู่ เพื่อเป็นการเร่งให้ไข่พัฒนาเร็วขึ้น ขณะที่มีการเทียบคู่ควรปราศจากสิ่งรบกวนใดๆ ใช้เวลาในการเทียบคู่ประมาณ 3 – 10 วัน หรือสังเกตตัวเมียจะมีไข่เต็มที่ (ไข่ออกมากระจุกตรงช่องท้อง)

จากนั้นนำปลาเพศผู้ และเพศเมียมาใส่ในภาชนะที่เตรียมไว้ เช่น อ่างดิน ตู้กระจก อ่างซีเมนต์ เป็นต้น ระดับนํ้าสูง 4 – 8 นิ้ว ใส่พรรณไม้นํ้าสะอาด ซึ่งต้องฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิมก่อน  ได้แก่ สาหร่ายพุงชะโด สาหร่ายหางกระรอก จอก ใบผักตบชวา เป็นต้นสำหรับเป็นที่เกาะของหวอด

เมื่อปลาเพศผู้ และเมียปรับตัวกับสภาพใหม่ได้แล้ว ปลาเพศผู้จะเริ่มก่อหวอดติดกับไม้น้ำ โดยหวอดจะสร้างขึ้นจากฟองอากาศผสมกับนํ้าเมือกในโพรงปาก สำหรับเป็นรังพัก และฟักไข่ และเป็นที่ยึดเกาะของตัวอ่อนที่ฟักจากไข่

เมื่อสร้างหวอดสำเร็จ ปลาตัวผู้จะกางครีบไล่ต้อนปลาเพศเมียให้ไปอยู่ใต้หวอด ปลาเพศผู้จะงอตัวเป็นรูปตัวยู (U) หรือตัวเอส(S) รัดปลาเพศเมียให้ช่องอวัยวะเพศ (genital pore) ตรงกัน ปลาเพศเมียจะวางไข่ โดยไข่จะหลุดออกมาทางช่องอวัยวะเพศ และปลาเพศผู้จะฉีดน้ำเชื้อเข้าผสมทันที

เมื่อไข่ได้รับการผสมแล้ว ไข่จะค่อยๆ จมลงสู่ก้นภาชนะ ปลาตัวผู้จะตามลงไป แล้วใช้ปากดูดอมไข่ทีละฟองจนเต็มปาก แล้วว่ายนํ้าขึ้นไปพ่นไข่ไว้ที่หวอดที่สร้างไว้ และจะพ่นฟองอากาศใหม่ติดไว้ใต้หวอด  ส่วนปลาเพศเมียเมื่อออกไข่แล้วก็จะลอยตัวนิ่ง ๆ ช่วงหนึ่ง ซึ่งอาจใช้เวลานานนับชั่วโมงก็ได้ และเมื่อปลาเพศผู้นำไข่พ่นไว้ที่หวอดเสร็จแล้ว ปลาตัวผู้จะไล่ต้อนตัวเมียไปอยูที่มุมภาชนะ จะเฝ้าดูแลไข่เพียงลำพัง และเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาตัวเมียกินไข่ที่ผสมแล้ว ดังนั้น ต้องรีบแยกตัวเมียออกจากภาชนะหลังวางไข่เสร็จ

ปล่อยให้ปลาเพศผู้เฝ้าดูแลไข่อีกประมาณ 2 วัน จึงแยกเพศผู้ออก ซึ่งการฟักตัวของปลากัดจะใช้เวลาประมาณ 30 – 40 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิประมาณ 25 – 32 องศาเซลเซียส

4. การอนุบาลลูกปลากัด
ภาชนะที่ใช้อนุบาลลูกปลา ได้แก่ ตู้กระจก อ่างดิน อ่างปูนซีเมนต์หรือถังไฟเบอร์ แต่ภาชนะที่ดีที่สุด คือ บ่อเพาะพันธุ์ ลูกปลากัดที่ฟักออกมาใหม่จะมีที่พักภายในหวอด และยังคงอยู่ในนั้นจนกระทั่งใช้ไข่แดง (yolk sac) เป็นอาหารหมด โดยจะใช้เวลา 3 – 4 วันแรกหลังการฟักออกจากไข่ ซึ่งระยะนี้ไม่จำเป็นต้องให้อาหาร

หลังจากที่ถุงไข่แดงยุบตัวหมดแล้ว ลูกปลาจะเริ่มหากินอาหาร ระยะนี้จะให้ไข่แดงต้มสุก โดยนำไข่แดงต้มสุกละลายนํ้า กรองผ่านกระชอนตาถี่ ให้กระจายทั่วในนํ้า ทำการให้อาหารวันละ 1 ครั้ง เป็นเวลา 3 – 5 วัน แล้วเปลี่ยนเป็นไรแดง (Moina) ขนาดเล็ก (ตัวอ่อนไรแดง) แยกโดยใช้กระชอนตาถี่กรองไรแดงขนาดเล็ก  เมื่อปลาอายุได้ 10 วัน ให้เลี้ยงต่อไปจนปลาสามารถกินลูกนํ้าได้ (ประมาณ 15 – 20 วัน)

การแยกเพศจะทำได้เมื่อปลาอายุประมาณ 1.5 เดือนขึ้นไป ช่วงต้นของการอนุบาลปลายังมีขนาดเล็กอยู่ทำให้การถ่ายน้ำลำบาก ดังนั้น หลังเมื่อปลามีอายุประมาณ 10 วัน ก็สามารถเปลี่ยนถ่ายนํ้าได้โดยการดูดตะกอน และเปลี่ยนถ่ายนํ้าครั้งละ 2/4-3/4 ของปริมาตรทั้งหมดในบ่อ และควรใส่ผักบุ้งหรือผักตบชวาที่ทำความสะอาดแล้วลงไปในบ่อประมาณ 2 – 3  ต้น เพื่อให้ลูกปลากินเป็นอาหาร และใช้อยู่อาศัย

5. อาหารปลากัด
อาหารที่ให้ควรเหมาะสมกับลูกปลาต้องเป็นอาหารมีคุณค่า และย่อยได้ง่าย อาหารในช่วงต้นการอนุบาลลูกปลา คือ โรติเฟอร์ ตัวอ่อนอาร์ทีเมีย และไข่แดงต้มสุกบดผ่านผ้าขาวบาง

ระยะที่สอง เมื่อลูกปลามีอายุ 10 – 20 วัน อาหารที่ให้จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เช่น ไรแดง หรืออาร์ทีเมียขนาดเล็กก็ได้

ระยะที่สาม เมื่อลูกปลาอายุ 20 วันขึ้นไป อาหารที่ให้จะเป็นไรแดงตัวเต็มวัย อาร์ทีเมียตัวเต็มวัย ลูกนํ้า และหนอนแดง

อาหารมีชีวิตที่ใช้เลี้ยง ควรล้างให้สะอาด และแช่ด้วยด่างทับทิบเสียก่อน เพื่อฆ่าเชื้อโรคที่ติดมากับอาหาร

นอกจากการให้อาหารมีชีวิตแล้ว ควรฝึกหัดให้ปลากัดกินอาหารสำเร็จรูปด้วย โดยค่อยๆฝึกด้วยการเปลี่ยนเป็นอาหารสำเร็จรูป วันละ 1 ครั้ง วันเว้นวัน หรือ 2-3 วันครั้ง สำหรับลูกปลาที่มีอายุมากกว่า 20 วัน