ปลากระโห้ ประโยชน์ และการเพาะปลากระโห้

18580

ปลากระโห้ (Siamese giant carp) เป็นปลาน้ำจืดตระกูลคาร์พที่มีขนาดใหญ่ และเป็นปลาชนิดเดียวกับปลาตะเพียนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก พบแพร่กระจายมากในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆในภาคกลาง

• วงศ์ : Cyprinidae
• ชื่อวิทยาศาสตร์ : Catlocarpio siamensis Boulenger
• ชื่อสามัญ :
– Siamese giant carp
– Giant barb
• ชื่อท้องถิ่นไทย : ปลากระโห้

การแพร่กระจาย และแหล่งอาศัย
ปลากระโห้พบมากในแม่น้ำหรือแหล่งน้ำต่างๆของภาคกลาง ทั้งแม่น้ำสายหลัก บ่อน้ำธรรมชาติ และคูคลองส่งน้ำ โดยปัจจุบัน พบปลากระโห้มากในแม่น้ำเจ้าพระยา ตั้งแต่จังหวัดอยุธยา ขึ้นไปถึงจังหวัดอ่างทอง สิงห์บุรี และเขื่อนเจ้าพระยา จังหวัดชัยนาท ส่วนบริเวณที่พบปลากระโห้ขนาดใหญ่ และชุกชุมจะเรียกว่า วัง มักเป็นบริเวณน้ำลึก และมีโขดหินหรือตอไม้ใต้ท้องน้ำ ได้แก่
1. บริเวณ ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
2. บริเวณ ต.บ้านไร่ อ.เมือง จ.สิงห์บุรี
3. บริเวณ ต.วัดเสือข้าม อ.อินทบุรี จ.สิงห์บุรี
4. บริเวณ ต.บ้านตลุก อ.สรรพยา จ.ชัยนาท

ปลากระโห้วัยอ่อนหรือลูกปลากระโห้ขนาดเล็กจะชอบอาศัยตามบริเวณน้ำตื้น เช่น พื้นที่ลุ่มน้ำท่วมถึง นาข้าว ริมตลิ่ง ริมขอบบ่อ เป็นต้น โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนจะพบลูกปลากระโห้มากที่สุด หลังจากเข้าหน้าหนาวหรือหน้าแล้งที่น้ำลด ลูกปลาหรือปลารุ่นจะลงตามน้ำเข้าอาศัยในแม่น้ำหรือหนองน้ำลึก ส่วนปลากระโห้ตัวเต็มวัยหรือขนาดใหญ่ส่วนมากจะพบอาศัยเฉพาะในแหล่งน้ำลึกตามแม่น้ำหรือบ่อน้ำลึกต่างๆ

ลักษณะทั่วไป
ปลากระโห้ เป็นปลามีเกล็ด เกล็ดมีขนาดใหญ่ เกล็ดที่เส้นข้างลำตัวมีประมาณ 39-41 เกล็ด พื้นสีลำตัวสีเทาปนดำ แต่อาจพบสีชมพูปะปนบ้างในบางตัว ซึ่งมักพบในเพศเมียเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหัวมีขนาดใหญ่ ไม่มีหนวด ปากไม่มีฟัน แต่มีฟันในลำคอ แบ่งออกเป็น 2 แถว แถวละ 4 ซี่ มีซี่เหงือกยาว และถี่ เพราะเป็นปลากินแพลงก์ตอนพืช และสัตว์ มีซี่เหงือกประมาณ 98-110 ซี่ มีขนาดความยาวลำไส้ ประมาณ 3 เท่า ของลำตัว ก้านครีบหลังมี 14-16 อัน ครีบทุกครีบมีสีแดง [1]

อาหาร และการกินอาหาร
ปลากระโห้ เป็นปลากินแพลงก์ตอนพืช และสัตว์ โดยการใช้เหงือกเป็นอวัยวะสำคัญในการกรอง

การผสมพันธุ์ และวางไข่
ในช่วงระหว่างเดือนมิถุนายน-กันยายน ปริมาณน้ำในแม่น้ำจะสูงมากขึ้น ปลากระโห้พ่อแม่พันธุ์จะว่ายอออกจากวังทวนน้ำขึ้นไปใกล้กับต้นน้ำบริเวณใกล้เขื่อนเจ้าพระยาเพื่อจับคู่ และวางไข่ ซึ่งช่วงนี้มักพบชาวประมงเข้าจับปลาจำนวนมาก และมักจับได้ปลากระโห้ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นพ่อแม่พันธุ์ปลา

ปลากระโห้ในฤดูวางไข่จะสังเกตได้ ดังนี้
1. ขนาดลำตัว ปลาตัวผู้จะเล็กกว่าตัวเมีย
2. รูปร่างลำตัว ปลาตัวผู้จะเรียวยาวกว่าปลาตัวเมีย โดยปลาตัวเมียจะป้อม สั้น
3. ด้านหลัง หากมองด้านบนหลังปลา ปลาตัวผู้จะไม่เป่งข้าง ส่วนปลาตัวเมียจะท้องอูม เป่งออกข้าง
4. ด้านข้าง เมื่อมองด้านข้าง ปลาตัวผู้จะมองเห็นสันหลังเป็นสัน ปลาตัวเมียจะมีสันหลังแบน
5. เมื่อสัมผัสบริเวณท้อง ท้องปลาตัวเมียจะนุ่มกว่าตัวผู้
6. ช่องเพศ ปลาตัวเมียจะมีช่องเพศเป็นรูปไข่ บวม และนูน รูเปิดกว้าง และมีสีแดงอมชมพู ส่วนช่องเพศปลาตัวผู้จะกลม และเล็ก
7. ปลาตัวผู้จะมีสีคล้ำมากกว่า

ไข่ปลากระโห้ เป็นไข่ประเภทครึ่งจมครึ่งลอยคล้ายกับไข่ปลาตะเพียน แต่มีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย ขณะยังไม่สัมผัสน้ำประมาณ 1.4-1.5 มิลลิเมตร หลังจากสัมผัสน้ำแล้ว เปลือกไข่จะขยายตัว มีขนาดเพิ่มเป็นประมาณ 3-4 เท่า โดยมีระยะการพัฒนาไข่ ดังนี้
1. ไข่มีลักษณะเบี้ยว ไม่กลม สีของเม็ดไข่ทึบ ผิวไข่ไม่เป็นมัน มีสีขาวออกเหลือง จัดเป็นไข่อ่อน ลักษณะเบี้ยวเกิดจากการอัดตัวของไข่ในเต้าไข่
2. ไข่มีลักษณะค่อนข้างกลม ไม่มีเยื่อติดหรือมีน้อย ผิวไข่โปร่งใส ไม่เป็นมัน มีสีเหลืองเข้ม จัดเป็นไข่เริ่มแก่ สามารถฉีดฮอร์โมนเร่งเพิ่มผสมน้ำเชื้อได้
3. ไข่มีลักษณะกลม ไม่มีเยื่อติด ผิวไข่โปร่งใส ผิวไข่เป็นมัน มีสีเหลืองเข้ม จัดเป็นไข่แก่ พร้อมฉีดฮอร์โมน สมารถผสมกับน้ำเชื้อได้ดี เปอร์เซ็นต์การฟักตัวสูง
4. ไข่มีลักษณะกลม แต่ไม่สม่ำเสมอ ผิวไข่โปร่งใส ผิวไข่เป็นมัน เปลือกไข่เริ่มแตก มีสีน้ำตาลอมเขียว จัดเป็นไข่แก่จัด ไม่เหมาะสมกับการผสมน้ำเชื้อ หากผสมกับน้ำเชื้อ ไข่จะไม่ฟัก หรือหากฟักจะฟักน้อย และอัตราการรอดต่ำ

ประโยชน์ปลากระโห้
1. ปลากระโห้ เป็นปลาขนาดใหญ่ มีเนื้อมาก ก้างน้อย นิยมใช้ประกอบอาหารในหลายเมนู
2. ปลากระโห้ เป็นปลาหายาก สำหรับนกเลี้ยงปลานิยมเลี้ยงเป็นปลาสวยงามในตู้ปลา

การผสมเทียมปลากระโห้
เนื่องจากปลากระโห้ในแม่น้ำตามธรรมชาติมีจำนวนลดลงอย่างมาก จนเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์ กรมประมงจึงเริ่มเพาะขยายพันธุ์ และปล่อยกลับลงสู่แม่น้ำมาตั้งแต่ปี 2517

การเพาะขยายพันธุ์ปลากระโห้จะใช้วิธีฉีดฮอร์โมน โดยฉีดเข้าบริเวณโคนครีบหู แม่พันธุ์ฉีด 2 ซ้ำ แต่ละครั้งฉีดห่างกัน 6-8 ชั่วโมง การฉีดครั้งแรกใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ขนาด 0.5-0.75 โดส ผสมกับ Chorionic Gonadotropin ขนาด 50-100 I.U ครั้งที่ 2 ใช้ฮอร์โมนจากต่อมใต้สมอง ขนาด 1.5-2 โดส ผสมกับ Chorionic Gonadotropin ขนาด 150-250 I.U

หลังจากผสมน้ำเชื้อแล้ว ไข่จะเริ่มฟักออกมาเป็นตัวภายใน 11 ครึ่ง-12 ชั่วโมง เป็นต้นไปจนถึง 24 ชั่วโมง หลังจากฟักเป็นตัว ลูกปลาจะมีไข่แดงติดอยู่ ซึ่งเป็นอาหารในช่วง 1-2 แรก หลังจากนั้น ลูกปลาจะเริ่มกินอาหารในช่วงวันที่ 3 และเมื่ออายุประมาณ 10 วัน จะมีขนาดประมาณ 1-1.2 เซนติเมตร และอายุประมาณ 20 วัน จะมีขนาดประมาณ 2-3 เซนติเมตร

ขอบคุณภาพจาก PANTIP.COM

เอกสารอ้างอิง
[1] ลิขิต นุกูลรักษ์ และมานพ ตั้งตรงไพโรจน์, 2518, การเพาะปลากระโห้, สถานีประมงจังหวัดชัยนาท.