นกเงือก นกป่าหายาก

8338
นกเงือกคอแดง

นกเงือก เป็นนกโบราณที่มีวิวัฒนาการมาตั้งแต่ยุค Eocene เมื่อประมาณ 54 ล้านปีมาแล้ว ซึ่งปัจจุบันมีหลายชนิดที่สูญพันธุ์ไปแล้ว และมีอีกหลายชนิดที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ เนื่องจาก การบุกรุกทำลายป่ามากขึ้น อีกทั้งมีการจับมาเลี้ยงมาก เพราะเป็นนกที่หายาก และมีสีสันสวยงาม

นกเงือกในโลกมีประมาณ 54 ชนิด ประกอบด้วยนกเงือกแอฟริกา 21 ชนิด นกเงือกในยุโรป 2 ชนิด และในเอเชียอีก 31 ชนิด ซึ่งใน 31 ชนิด จะอยู่ในประเทศไทยประมาณ 13 ชนิด แต่บางตำรากล่าวพบเพียง 12 ชนิด ปัจจุบัน สถานะภาพนกเงือกในประเทศไทยจัดเป็นนกที่เสี่ยงใกล้สูญพันธุ์ และมีบางชนิดที่ถูกรายงานว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว

ลักษณะของนกเงือก
นกเงือกแต่ละชนิดจะมีความแตกต่างกัน แต่ทั่วไปจะมีลักษณะเด่น คือ หาง และคอจะยาว ส่วนจะงอยปากจะใหญ่ และยาว ตามีขนตาที่เปลือกตาบน ขาค่อนข้างสั้น ฝ่าเท้าแผ่กว้าง นิ้วมีการเรียงชิดที่ทำให้เกาะกิ่งไม้ได้ดี แบ่งเป็น 3 นิ้ว ชี้ไปข้างหน้า และอีก 1 นิ้ว ชี้มาด้านหลัง ส่วนปีกจะยาว กางได้กว้าง ใต้ปีกไม่มีขน เป็นนกที่บินได้ช้า ขณะกระพือปีกบินจะมีเสียงดัง ลำตัวมีขนปกคลุมมาก ขนมีหลายสีแตกต่างกันตามชนิด อาทิ สีดำ สีขาว สีน้ำตาล และมีสีอื่นแซมตามร่างกาย เช่น สีแดง หรือ สีเหลืองที่คอ เป็นต้น ส่วนผิวหนังบางแห่งจะมีสีฉูดฉาด อาทิ สีแดง สีเหลือง โดยเฉพาะบริเวณใบหน้า ลำคอ และรอบดวงตา หลายชนิดมีโหนกเหนือจะงอยปาก เช่น นกเงือกหัวแรด โหนกนี้เป็นส่วนสำคัญสำหรับการจำแนกเพศได้ดี และเชื่อว่าเป็นส่วนที่ทำหน้าที่สร้างดุลน้ำหนักของจะงอยปากที่มีขนาดใหญ่ ยาวให้สมดุลกับส่วนหัว และร่างกาย

อาหาร และการหาอาหาร
อาหารของนกเงือกทุกชนิดจะเป็นไม้ผลเป็นหลัก แต่อาจพบสัตว์ขนาดเล็กบางชนิดบ้าง ซึ่งผลไม้ที่เป็นอาหารจะเป็นผลไม้ป่าเป็นหลัก ได้แก่
– ไทรชนิดต่าง
– ยางโอน
– สุรามะริด
– ตาเสือ
– ส้มโมง
– กำลังเลือดม้า
– พิทวนป่า

อาหารที่เป็นสัตว์ (เป็นอาหารหลักของนกเงือกสีน้ำตาล) ได้แก่
– กบ เขียดต่างๆ
– ปลา
– หอย
– งู
– ตะขาบ
– ผีเสื้อ
– หนู
– นกขนาดเล็ก และไข่นก
– แมลง เช่น จักจั่น ด้วง แมลงทับ
– ฯลฯ

นกเงือกแต่ละชนิดจะกินอาหารแตกต่างกัน ได้แก่ ผลไทรชนิดต่างๆจะเป็นอาหารหลักของนกกก และนกเงือกกรามช้าง ส่วนอาหารจำพวกสัตว์จะเป็นอาหารหลักของนกเงือกสีน้ำตาล

การหาอาหารของนกเงือก แบ่งได้ 5 ลักษณะ คือ
1. ใช้จะงอยปากกะเทาะเปลือกไม้ เพื่อหาหนอนหรือแมลงเป็นอาหาร
2. ใช้จะงอยปากยื่นเข้าโพรงไม้หรือซอกแคบๆเพื่อหา และจับเหยือ
3. การใช้จะงอยปากบิดขั้วผลไม้
4. การบินลงโฉบจับเหยื่อตามพื้นดินหรือพุ่มไม้จากด้านบน
5. การบินโฉบจับเหยือกลางอากาศด้วยความเร็ว

การทำรัง
นกเงือกจะทำรังในโพรงบนต้นไม้ใหญ่ แต่นกเงือกไม่สามารถเจาะโพรงต้นไม้เองได้จึงต้องคอยหาโพรงไม้ที่อาจเกิดจาก สัตว์อื่นมาเจาะไว้หรือเป็นโพรงไม้ที่เกิดจากรอยโรคของตนไม้เอง

ช่วงทำรัง
– นกกก และนกเงือกกรามช้าง ทำรังในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์
– นกเงือกสีน้ำตาล และนกแก๊ก ทำรังในช่วงเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม

การ สร้างรังของนกเงือกเอเชียกับนกเงือกแอฟริการจะแตกต่างกัน คือ นกเงือกในเอเชียบ้านเราจะสร้างรัง และปิดปากรังด้วยมูลที่ผสมกับดินหรือเปลือกไม้ เพื่อขังตัวเอง (ตัวเมีย) ให้กกไข่อยู่ในรัง แต่จะเปิดช่องไว้สำหรับให้ตัวผู้นำอาหารมาป้อน เมื่อลูกนกเติบโตจนสามารถบินได้แล้วจึงเปิดปากรังออกมา ส่วนนกเงือกแอฟริกาจะเปิดปากรังไว้ตลอดในช่วงการฟักไข่ และเลี้ยงลูก

จำนวนลูกของนกเงือกบางชนิดต่อครั้ง
– นกกก มีเพียง 1 ตัว
– นกเงือกกรามช้าง มีเพียง 1 ตัว
– นกเงือกสีน้ำตาล มีได้ 2-3 ตัว
– นกแก๊ก มีได้ 1-2 ตัว

นกเงือกในประเทศไทย
1. นกเงือกคอแดง (Aceros nipalensis)
การแพร่กระจาย
ขอบเขตการกระจายและถิ่นอาศัยมีการกระจายตั้งแต่ภูฏาน อินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน พม่า ตะวันตกเฉียงเหนือของไทย จนถึงทางตอนเหนือของลาว แหล่งอาศัยของนกเงือกคอแดงอยู่ในป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และป่าผลัดใบ ที่ความสูงจากระดับน้ำทะเล 700-2,000 เมตร ในประเทศไทยพบในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวร เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุ้มผาง และอุทยานแห่งชาติแม่วงก์

ลักษณะทั่วไป
นกเงือกคอแดงมีส่วนปลายปากถึงปลายหางได้ถึง 100 – 120 เซนติเมตร ตัวผู้มีส่วนหัว คอ และหน้าอกมีสีสนิมเหล็ก ใต้ท้องมีสีน้ำตาลเข้ม ส่วน ปีกมีสีดำอมเขียวเล็กน้อย แต่ปลายปีกจะมีสีขาว หัวไม่มีโหนก ตามีสีแดง หนังขอบตามีสีฟ้าอมเขียว ส่วนถุงใต้คอมีสีแดงอมส้ม จะงอยปากมีสีครีม โคนจะงอยปากส่วนบนมีแถบลายสีดำ และน้ำเงิน และโคนจะงอยปากล่างที่เป็นหนังมีสีน้ำเงินอมม่วง ขอบจะงอยปากมีรอยหยักเป็นร่องดำ ส่วนตัวเมียขนลำตัว และคอจะมีสีดำล้วน ส่วนถุงใต้คอจะมีสีแดงอมส้มเหมือนกับตัวผู้

นกเงือกคอแดง
นกเงือกคอแดง

การทำรัง
นกเงือกคอแดงมีช่วงฤดูผสมพันธุ์ตั้งแต่เดือน มกราคม ถึงเดือนมิถุนายน ระยะเวลาช่วงเข้ารังเฉลี่ย 125 วัน นอกฤดูผสมพันธุ์พบอยู่เป็นฝูงเล็กๆ 4-5 ตัว หรืออาจพบถึง 50 ตัว

อาหาร และการกิน
นกเงือกคอแดงหากินระดับเรือนยอดไม้ อาหารหลักของนกเงือกคอแดงในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง คือ ผลไม้และสัตว์ โดยช่วงหลังจากที่ลูกนกฟักออกจากไข่แล้วอาหารที่ตัวผู้นำมาป้อนจะเพิ่มปริมาณอาหารประเภทสัตว์มากขึ้น

2. นกเงือกสีน้ำตาล (Anorrhinus tickelli)
การแพร่กระจาย
มีการกระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของพม่าหรือแนวเทือกเขาตะนาวศรี ไปจนถึงทางด้านตะวันตกของไทย นกเงือกสีน้ำตาลมีแหล่งอาศัยอยู่ในป่าดงดิบป่าเบญจพรรณ และป่าเต็งรัง จากพื้นราบจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ นกเงือกสีน้ำตาล และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว

ลักษณะทั่วไป
นกเงือกสีน้ำตาลธรรมดา มีส่วนปลายปากถึงปลายหางยาวประมาณ 75 เซนติเมตร หัวมีโหนกเป็นสันเล็กๆ จะงอยปากสีงาช้าง ตัวผู้มีลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาล ส่วนด้านล่างลำตัวเป็นสีน้ำตาลเหลือบแดง ส่วนปลายปีกมีเหลือบสีขาว ส่วนตัวเมียมีสีลำตัวด้านบนเป็นสีน้ำตาลเหมือนกับตัวผู้ แต่จะงอยปากจะอกสีดำ
ส่วนนกเงือกสีน้ำตาลคอขาว จะมีสีลำตัว และปีกคล้ายกับนกเงือกสีน้ำตาล แต่จะแตกต่างกันที่ส่วนลำคอมีสีขาว จะงอยปากตัวผู้ และตัวเมียเป็นสีครีม และเหลือบส้มเล็กน้อย ซึ่งจะเป็นสีที่จางกว่านกเงือกสีน้ำตาล

นกเงือกสีน้ำตาล

การทำรัง
มีช่วงฤดูผสมพันธุ์ตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน  นกเงือกสีน้ำตาลมีพฤติกรรมพิเศษคือ มีนกเงือกตัวอื่นๆในครอบครัวที่ยังไม่ได้จับคู่ในฤดูผสมพันธุ์นั้นๆประมาณ 1-5 ตัว มาช่วยป้อนอาหารให้ลูกนกในโพรงด้วย

อาหาร และการกินอาหาร
พบรายงานการกินอาหารของนกเงือกสีน้ำตาลจะเป็นพวกสัตว์ต่างๆ ร่วมด้วยผลไม้ชนิดต่างๆ

3. นกกก/ นกกาฮัง (Buceros bicornis)
การแพร่กระจาย
มีการกระจายอยู่ใน Western Ghats ตะวันตกเฉียงเหนือของอินเดียจนถึงเนปาล ภูฏานตอนใต้ของจีน พม่า แหลมมาลายู เกาะสุมาตรา และประเทศไทย ส่วนในประเทศไทยพบแพร่กระจายทางภาคเหนือ ภาคตะวันตก ภาคตะวันออก และภาคใต้ รวมทั้งอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ แหล่งอาศัยในประเทศไทยพบกระจายทั่วทุกภาคของประเทศ อาศัยในป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ จากพื้นราบจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,500 เมตร

ลักษณะทั่วไป
นกกก เป็นนกเงือกที่มีขนาดกว่านกเงือกชนิดอื่นๆ มีส่วนของปลายปากถึงปลายหางยาวได้ถึง 130-150 เซนติเมตร ตัวผู้ มีโหนกสีเหลือง และสีดำ ม่านตามีสีแดง จะงอยปากด้านบนสีเหลือง ปลายจะงอยมีสีอมส้ม ส่วนด้านล่างมีสีเหลือบขาว ส่วนตัวเมีย จะต่างกับตัวผู้ คือ โหนกมีเฉพาะสีเหลือง และม่านตามีสีขาว ส่วนอื่นจะเหมือนกัน อาทิ ลำคอมีสีเหลือง ปลายปีกมีเหลือบสีขาว

นกกก
นกกก

การทำรัง
ในช่วงแรกของฤดูผสมพันธุ์นกกกตัวเมียจะกกไข่อยู่ในโพรงจนลูกนกมีอายุ 1-1.5 เดือน ตัวเมียจะออกมาช่วยพ่อนกเลี้ยงลูก นกกกมีชีวิตความเป็นอยู่แบบเป็นคู่หรือเป็นครอบครัว บางครั้งพบว่าอยู่รวมกันเป็นฝูงตั้งแต่ 20-30 ตัวขึ้นไป พบเป็นฝูงเมื่อนกพากันไปหากินที่ต้นผลไม้หรือที่รวมฝูงนอนในช่วงนอกฤดูทำรัง เมื่อถึงฤดูกาลสืบพันธุ์ นกกกแต่ละคู่จะแยกออกจากฝูงเพื่อไปทำรัง

อาหาร และการกินอาหาร
นกกกหากินตามเรือนยอดของต้นไม้ กินทั้งผลไม้ โดยเฉพาะลูกไทร และสัตว์ นกใช้เวลาส่วนมากอยู่ที่ต้นผลไม้ ในพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งนกกกมีแนวโน้วเลือกกินผลไทรมากกว่าผลไม้ชนิดอื่น ส่วนอาหารประเภทสัตว์มีแนวโน้มเลือกกินสัตว์ที่มีน้ำหนักตัวมากและลำตัวไม่ยาวมากนัก และกินปูมากกว่าสัตว์ประเภทอื่น พื้นที่อาศัยของนกกกในอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ในฤดูทำรังเท่ากับ 3.7 ตารางกิโลเมตร  และนอกฤดูทำรังเท่ากับ 14.7 ตารางกิโลเมตร

4. นกกู๋กี๋/นกเงือกกรามช้าง (Aceros undulatus)
การแพร่กระจาย
มีการกระจายตั้งแต่ทางตอนใต้ของภูฏาน ด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดียเวียดนาม เกาะสุมาตรา บอร์เนียว และบาหลี ในประเทศไทยสามารถพบได้ทั่วไป แหล่งอาศัยพบกระจายในป่าดงดิบ และป่าเบญจพรรณ จากพื้นราบจนถึงระดับความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,800 เมตร นอกจากนี้ยังพบตามเกาะต่างๆ พบได้ทั่วทุกภาคของไทย นกเงือกกรามช้างในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่มีพื้นที่อาศัยเท่ากับ 10 – 28 ตารางกิโลเมตร ในช่วงฤดูทำรังและนอกฤดูทำรัง

ลักษณะทั่วไป
นกเงือกกรามช้าง มีลักษณะเด่น คือ มีจะงอยปากที่มีสีเหมือนกับงาช้างขนาดใหญ่ มีส่วนปลายปากถึงปลายหางยาวได้มากกว่า 100 เซนติเมตร มีโหนกเล็ก ขอบปากมีหยัก ตัวผู้มีท้ายทอย และขนส่วนหลังคอเป็นสีน้ำตาลเข้ม ขนรอบดวงตา และลำคอมีสีขาว หนังรอบตามีสีแดงเข้ม ถุงใต้คอมีสีเหลือง และมีแถบดำประ ส่วนลำตัว และปีกสีดำ ส่วนปลายหางมีสีขาวปลอด ส่วนตัวเมียจะมีมีสีดำทั่วทั้งตัว แต่มีขนหางขาวปลอด และถุงใต้คอเป็นสีฟ้า มีแถบดำประ

นกเงือกกรามช้าง
นกเงือกกรามช้าง

การทำรัง
นกเงือกกรามช้างมีฤดูทำรังตั้งแต่เดือนมกราคม ถึงเดือนมิถุนายน นอกฤดูผสมพันธุ์ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ และบินออกไปไกลมากกว่า 5 กิโลเมตร จากพื้นที่รัง

อาหาร และการกินอาหาร
นกเงือกกรามช้างกินผลไม้เป็นส่วนใหญ่ ทั้งไทรและผลไม้อื่นๆ ซึ่งนกเงือกกรามช้างถือว่าเป็นนกที่กินผลไม้มากที่สุดเมื่อเทียบกับนกกก นกแก๊ก และนกเงือกสีน้ำตาลคอขาวในพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่

5. นกแก๊ก/นกแกง (Anthracoceros albirostris)
6. นกเหงือกปากดำ (Anorrhinus guleritus)
7. นกชนหิน (Buceros vigil)
8. นกหัวหงอก/นกนายพราน (Aceros )
9. นกเงือกดำ (Anthracoceros malayanus)
10. นกเงือกกรามช้างปากเรียบ (Aceros subruficollis)
11. นกเหงือกหัวแรด (Buceros rhinoceros) (เคยมีรายงานว่าสูญพันธุ์แล้ว แต่กลับมาสำรวจพบรัง)
12. นกเงือกปากย่น (Aceros corrugatus) (คาดว่าสูญพันธุ์ไปแล้ว)

เพิ่มเติมจาก : 1)

เอกสารอ้างอิง
Untitled