นกกระเรียน (Sarus crane)

7762

นกกระเรียน (Sarus crane) เป็นสัตว์ป่าสงวนที่ปัจจุบันไม่พบในประเทศไทยแล้ว แต่ยังพบได้ในประเทศอื่นๆใกล้เคียง เช่น ลาว กัมพูชา และเวียดนาม เป็นนกมีลักษณะลำตัวสูงยาวคล้ายนกกระสา แต่ตัวใหญ่กว่า มีความสูงได้มากกว่า 160 เมตร

อันดับ : Gruiformes
วงศ์ : Gruidae
ชื่อวิทยาศาสตร์ : Grus antigone
ชื่อสามัญ : Sarus crane

ชนิดที่มีการสำรวจพบ
1. Grus antigone antigone พบในประเทศอินเดีย ซึ่งเป็นการสำรวจพบนกกระเรียนครั้งแรกของโลก
2. Grus antigone sharpii พบในประเทศไทย และพม่า
3. Grus antigone gilliae พบในประเทศออสเตรเลีย

สถานะภาพ
นกกระเรียนจัดเป็นสัตว์ป่าสงวนตาม พรบ. สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 และถูกจัดเป็นสัตว์ในบัญชี 2 (Appendix II) ของอนุสัญญา CITES ที่ใกล้สูญพันธุ์ มีเหลือเพียงไม่กี่ตัวเท่านั้นในโลก ปัจจุบันพบเพียงบางประเทศเท่านั้น เช่น กัมพูชา ลาว เวียดนาม ประมาณ 800-1000 ตัว และพม่าเวียดนาม 500-800 ตัว ส่วนประเทศไทยมีการสูญพันธุ์ไปแล้ว ไม่มีรายงานการค้นพบใหม่ในปัจจุบันแต่อย่างใด (อ้างอิงปี 2552 ในรายงาน สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย)(1)

ลักษณะทั่วไป
นกกระเรียน เป็นนกที่มีลักษณะลำตัวสูงยาวคล้ายกับนกกระสา แต่จะแตกต่างกันที่ขนาด และท่าบิน โดยนกกระเรียนมีขนาดใหญ่กว่า และเวลาบินคอจะยืดตรงไปข้างหน้า ขาเหยียดตรงไปด้านหลัง ทำให้บินได้เร็ว และบินได้สูงมาก ส่วนนกกระสาเวลาบินคอจะงอพับเข้าหาอก

Sarus-Cranesi

นกกระเรียนมีลักษณะลำตัวสูงยาว โดยเฉพาะส่วนลำคอ และขา จากปากจรดหางยาวประมาณ 152-156 ซม. ขณะยืนชูหัว มีความสูงจากหัวถึงเท้ามากกว่า 160 ซม. ขนลำตัว และขนปีกส่วนบนมีสีเทา ส่วนขนปีกด้านล่างมีสีขาว เฉพาะบริเวณขนปลายปีกที่มีประมาณ 11 เส้น จะมีสีดำหรือสีเทา มีปากยาว ปาก และกระหม่อมมีสีออกเขียว บริเวณหัวจนถึงคอส่วนปลายเป็นแผ่นหนังสีแดง ไม่มีขน และแต้มด้วยสีเนื้อหรือสีน้ำตาลบริเวณด้านบนสุดของหัว มีหางสั้น ส่วนขา รวมถึงนิ้วมีสีแดง มีขาเพรียวยาว มีนิ้ว 4 นิ้ว มีนิ้วด้านหน้า 3 นิ้ว และด้านหลัง 1 นิ้ว ที่อยู่สูงกว่า 3นิ้ว ด้านหน้า นิ้วไม่มีผังผืด เล็บมีลักษณะทู่

นกกระเรียนทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะมีลักษณะลวดลายที่เหมือนกัน แต่ขนาดตัวผู้จะใหญ่กว่า สำหรับชนิดนกกระเรียนทีพบในแต่ละประเทศจะมีลักษณะแตกต่างกัน เช่น ในแถบประเทศจีนหรือบางประเทศอาจพบชนิดที่มีขนลำตัวสีขาว สีผิวหนังจากหัวถึงลำคอมีสีดำ และหางสีดำ ซึ่งแตกต่างชนิดที่พบในประเทศไทยดังที่กล่าวไว้ข้างต้น

แหล่งที่พบ
แหล่งที่พบนกกระเรียนในปัจจุบันมีจำนวนน้อยลงมากที่ไม่เหมือนแต่เดิมที่สามารถพบได้เกือบทุกประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีน อินเดีย และออสเตรเลีย จึงเหลือเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่ยังมีพบอยู่

ปัจจุบัน นกกระเรียนในประเทศไม่มีรายงานการพบแล้ว ซึ่งเชื่อว่าสายพันธุ์ที่พบในประเทศไทย (Grus antigone sharpii ) ในอดีตอาจมีการสูญพันธุ์ไปแล้ว

พฤติกรรม และการดำรงชีพ
นกกระเรียนมีพฤติกรรมอยู่อาศัยรวมกันเป็นกลุ่มใหญ่ 50-70 ตัว ขึ้นกับจำนวนของฝูง สื่อสารด้วยการส่งเสียงร้องดังในการจับคู่ การประกาศถิ่นอาัศัย การข่มขู่ศัตรู หรือการร้องเตือนภัย ด้วยการกางปีก แหงนหน้า และชูคอขึ้นส่งเสียงร้องดัง ร่วมกับการกระโดดไปมา ซึ่งตัวผู้จะแสดงพฤติกรรมส่งเสียงร้องมากกว่าตัวเมีย

นกกระเรียนสามารถเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้เมื่ออายุประมาณ 3-5 ปี โดยตัวเมียจะเริ่มผสมพันธุ์ได้ตั้งแต่อายุยังน้อยกว่าตัวผู้ การผสมพันธุ์จะเริ่มในช่วงฤดูฝน เดือนกรกฎาคม-กันยายน และจะวางไข่ในช่วงปลายฤดูฝน โดยมีการจับคู่แบบผัวเมียคู่ใครคู่มัน และจะจับคู่กันตลอดจนกว่าอีกฝ่ายจะตายจาก หากตัวใดตายไปจึงมีการจับคู่ใหม่

รังของนกกระเรียนจะถูกสร้างเฉพาะสำหรับการวางไข่เท่านั้น หลังช่วงการวางไข่ และเลี้ยงลูกจนโตจะไม่มีการสร้างรัง โดยทั้งตัวผู้ และตัวเมียจะร่วมกันสร้างรังหลังการผสมพันธุ์แล้วไม่กี่วัน รังที่สร้างจะใช้ลำต้นพืชที่หาได้บริเวณแหล่งอาหารมากองรวมกันบนพื้นตามขอบหนองน้ำ เกาะกลางน้ำ หรือบริเวณหญ้ารกกลางน้ำที่มีหญ้าหรือต้นพืชรกปิดบังรอบข้าง ขนาดรังกว้างเป็นวงกลมประมาณ 60-240 ซม. ตามขนาดลำตัว

หลังสร้างรังเสร็จ ตัวเมียจะวางไข่ประมาณ 1-3 ฟอง แต่ทั่วไปจะอยู่ที่ประมาณ 2 ฟอง/ตัว ลักษณะของไข่ยาวรี สีขาวแกมฟ้าหรือเขียวอ่อน อาจพบหลายจุดหรือไม่มีลาย ความยาวไข่ประมาณ 10 ซม. กว้างประมาณ 6 ซม. หรือมากกว่าเล็กน้อย มีน้ำหนักประมาณ 240 กรัม ระยะการฟักไข่ประมาณ 30-35 วัน พลัดเปลี่ยนการกกไข่ทั้งตัวผู้ตัวเมียจนลูกนกฟักออกจากไข่

ลูกนกที่ฟักออกใหม่จะมีขนสีครีม และค่อยเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล และเปลี่ยนถ่ายขนจนมีสีเหมือนตัวเต็มวัยตามระยะการเติบโต โดยในระยะแรกลูกนกจะอาศัยอยู่บนรัง และบริเวณใกล้เคียง โดยได้รับอาหารจากพ่อแม่นก และเมื่ออายุ 2.5-3 เดือน ขนปีกจะหงอกเต็มที่จนสามารถบินได้ และจะแยกตัวจากพ่อแม่เข้ารวมฝูงเมื่ออายุประมาณ 9-10 เดือน ซึ่งจากลูกนก 2 ตัว มักจะรอดชีวิตถึงวัยนี้เพียงตัวเดียว

Sarus-Cranesi1

อาหาร และแหล่งอาหาร
แหล่งอาหาร และถิ่นอาศัยที่สำคัญของนกกระเรียนจะเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำที่เป็นหนองบึง อ่างเก็บน้ำ ทะเลสาบ ทุ่งนาร้าง หรือพื้นที่ที่มีน้ำขัง ที่มีแหล่งของปลา สัตว์เลื้อยคลาน (งู, จิ้งเหลน) สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ (กบ, เขียด, อึ่งอ่าง)  และแมลงชนิดต่างๆ อาศัยอยู่มาก ซึ่งสัตว์เหล่านี้จะเป็นอาหารที่สำคัญของนกกระเรียน รวมถึงอาหารชนิดอื่น เช่น เมล็ดธัญพืช ราก และต้นอ่อนพืชน้ำ โดยเดินตามพื้นที่น้ำขังที่ระดับน้ำไม่สูง ไม่มีการเกาะบนกิ่งไม้ เพราะไม่มีนิ้วเกาะ

ภัยคุกคาม
ภาวะเสี่ยงที่เป็นสาเหตุหลักทำให้นกกระเรียนสูญพันธุ์มากที่สุด คือ การเปลี่ยนแปลงระบบนิเวศของพื้นที่ชุ่มน้ำทั้งจากการบุกรุกของมนุษย์ และการปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนพื้นที่อาศัยลดลง ประกอบกับอัตราการขยายพันธุ์มีน้อย มักมีลูกนกมีชีวิตรอดเพียง 1 ตัว ต่อคอก/ปี เท่านั้น

เอกสารอ้างอิง
1. สัตว์ป่าสงวนในปรเทศไทย, 2552. กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช.