ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย สัตว์น่าเกียจที่คู่คนไทยมานาน

51098

ตัวเงินตัวทอง หรือ มักเรียกว่า เหี้ย (Water monitor) เป็นสัตว์ในวงศ์ตะกวดที่พบมากในประเทศไทย โดยเฉพาะตามแหล่งน้ำขัง บ่อน้ำ พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงตามบ้านเรือนที่อาศัยริมแม่น้ำ ซึ่งถือเป็นสัตว์ที่อยู่ร่วมกับคนมาช้านาน

คำว่า เหี้ย เป็นคำหยาบที่มักใช้ด่าทอกันในสังคมไทย ซึ่งเปรียบโปรยได้เหมือนกับตัวเงินตัวทองหรือตัวเหี้ย ซึ่งคำว่า เหี้ย เปรียบโปรยได้เหมือนกับสัตว์ที่เป็นตัวเหี้ยที่มีลักษณะลำตัวที่น่าเกียจ ชอบอาศัยตามแหล่งน้ำขัง แหล่งน้ำสกปรก หากินอาหารจำพวกซากเน่าเปื่อยต่างๆ รวมถึงมีพฤติกรรมที่ชอบแอบลักขโมยกินเป็ด ไก่ของชาวบ้านที่เลี้ยงไว้ นอกจากนี้ คนไทยยังมีความเชื่อว่า ตัวเงินตัวทองหรือตัวเหี้ย เป็นสัตว์อัปมงคลที่จะนำความโชคร้ายมาให้

อนุกรมวิธาน
• Kingdom : Animalia
• Phylum : Chordata
• Class : Reptilia
• Order : Squamata
• Family : Varanidae
• Genus : Varanus (monitor lizards)
• Species : Varanus salvator

ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย ในโลกมีทั้งหมด 7 ชนิด คือ
– Salvator andamanensis
– Salvator bivittatus
– Salvator cumingi
– Salvator marmora us
– Salvator nuchalis
– Salvator salvator
– Salvator togianus

ตัวเงินตัวทอง

การแพร่กระจาย
ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย พบได้ทั่วไปในทุกประเทศของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงจีนตอนใต้ อินเดีย และออสเตรเลีย โดยชอบหลบอาศัย และหาอาหารตามพื้นที่ชุ่ม พื้นที่แหล่งน้ำ แม่น้ำ ลำคลอง ตามป่าริมหนองน้ำ รวมถึงป่าชนิดต่างๆ อาทิ ป่าดิบชื้น ป่าพรุ และป่าชายเลน

ทั้งนี้ สำหรับตัวเงินตัวทอง/เหี้ย ที่พบอาศัยบริเวณพื้นที่ชุมชนนั้น แต่ก่อนพื้นที่ส่วนมากจะเป็นป่าหรือแหล่งน้ำขัง รวมถึงพื้นที่ริมแม่น้ำที่คนเรายังไม่มาสร้างบ้านเรือน ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย จะอาศัยในพื้นที่เหล่านี้เป็นหลัก ซึ่งเป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิมก่อนที่คนเราจะเข้ามาสร้างบ้านเรือน และเมื่อคนเราเข้ามาสร้างบ้านเรือนแล้ว ตัวเงินตัวทอง/เหี้ยจะยังดำรงชีวิตอยู่ในพื้นที่เหล่านี้เหมือนเดิม ทำให้กลายเป็นสัตว์ที่เรามักเข้าใจว่าชอบอยู่อาศัยกับมนุษย์ แต่แท้จริงแล้วพื้นที่เหล่านี้ถือเป็นแหล่งอาศัยดั้งเดิมของพวกมันแต่ก่อนแล้ว

การแพร่กระจายเหี้ย

ลักษณะทั่วไป
ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย เป็นสัตว์ในวงศ์ตะกวดที่มีขนาดลำตัวใหญ่ที่สุดในประเทศไทย เมื่อโตเต็มวัยจะมีความยาวจากปากถึงปลายหางได้มากถึง 3 เมตร หรือมากกว่า โดยมีความยาวจากปากถึงทวารบริเวณขาหลังประมาณ 70-15 เซนติเมตร และมีส่วนหางยาวประมาณ 100-150 เซนติเมตร

ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย มีหัวค่อนข้างแบนราบ มีรูจมูกใกล้กับขอบปาก ซึ่งจะต่างกับตะกวดที่มีรูจมูกใกล้กับตา และเกล็ดบนหัวมีขนาดใหญ่กว่าตะกวด ทั้งนี้ ข้อดีที่มีรูจมูกใกล้กับปากจะช่วยให้อยู่ในน้ำได้นานมากกว่าตะกวด โดยสามารถดำน้ำได้นาน และอาจใช้เพียงส่วนจมูกโผล่ขึ้นมาหายใจด้านบนเท่านั้น ส่วนตา หัว สามารถมองหาเหยื่อที่อยู่ใต้น้ำได้ตลอดเวลา

ลำตัวของตัวเงินตัวทอง/เหี้ย มีลักษณะยาว ขามีขนาดสั้น แต่แข็งแรง นิ้วมีกงเล็บแหลมคม ใช้สำหรับตะขบเหยื่อหรือใช้ปีนต้นไม้ได้ดี โดยลำตัวจะมีขนาดใหญ่ มีลักษณะพองออกด้านข้าง ผิวหนังหยาบ มีเกล็ดขนาดเล็กปกคลุมทั่วลำตัว เมื่อวัยอ่อนจะมีหนังลำตัวสีเหลือง เมื่อโตเต็มวัยจะมีสีน้ำตาล ซึ่งมีลายดอกชัดเจน ส่วนใต้คอ และท้องมีสีเทาหรือเทาอมน้ำตาล ส่วนหางมีลายปล้องดำสลับกับสีเหลือง

หางของตัวเงินตัวทอง/เหี้ย ถือเป็นอวัยวะสำคัญที่ใช้สำหรับการทรงตัวขณะวิ่ง รวมถึงใช้สำหรับช่วยในการว่ายน้ำเหมือนกับใบพัดเรือ และหน้าที่อีกอย่างคือใช้เป็นส่วนที่เก็บพลังงานให้แก่ร่างกาย

พฤติกรรม
ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย เป็นสัตว์ที่ไม่อยู่เป็นฝูง มักอาศัยเพียงลำพังตั้งแต่เกิดจนถึงตัวเต็มวัย แต่ตัวเมีย และตัวผู้จะมาพบกันเพื่อผสมพันธุ์เฉพาะในช่วงต้นฤดูฝนเท่านั้น

ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย เป็นสัตว์ที่ไม่มีนิสัยดุร้าย ชอบอยู่สันโดษ เมื่อมีศัตรูที่ใหญ่กว่ามักมีพฤติกรรมแกล้งตายเพื่อทำให้ศัตรูเข้าใจผิดว่าเป็นสัตว์ที่ตายแล้ว คือ จะนอนนิ่ง ทำตัวแข็งทื่อ เหมือนกับสัตว์ตาย เมื่อศัตรูเผลอก็จะรีบวิ่งหนีทันที แต่หากจนมุมหรือหนีไม่ได้ก็มักจะต่อสู้เช่นกัน โดยมักเชิดหัว และทำเสียงขู่ ทำลำตัว และคอให้พองขยายใหญ่ พร้อมกับฟาดหางไปมา คล้ายกับจระเข้ และอาจกัดหรืองับเมื่อศัตรูเข้ามาใกล้ตัว

ขอบคุณภาพจาก http://www.gerryganttphotography.com

อาหาร และการกินอาหาร
ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย เป็นสัตว์ที่ว่ายน้ำได้เก่ง ชอบว่ายน้ำหาอาหารตามริมแม่น้ำ ขอบบ่อหรือสระน้ำ และชอบอบแดดตามริมแหล่งน้ำ โดยมีอาหารที่สำคัญ ได้แก่ ปลาชนิดต่างๆ นก หนู ซากสัตว์เน่าเปื่อย รวมถึงเป็ด ไก่ หรือสัตว์เลี้ยงตามบ้านเรือนของมนุษย์ ทั้งนี้ ลักษณะการกินเหยื่อจะกลืนเหยื่อเข้าไปทั้งตัวโดยไม่มีการเคี้ยว

ตัวเงินตัวทอง1

การวางไข่
ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย จะวางไข่ในช่วงฤดูฝน ประมาณเดือนสิงหาคม-กันยายน โดยเลือกพื้นที่วางไข่ตามจอมปลวก ใต้กอไม้ หรือกอไผ่ที่มีแสงแดดส่องรำไร ซึ่งจะใช้เท้าขุดหลุมลึกประมาณ 15 เซนติเมตร แล้ววางไข่ในหลุม ก่อนที่จะเกลี่ยดินกลบไว้ โดยการวางไข่แต่ละครั้งจะประมาณ 6-17 ฟอง ซึ่งเมื่อวางไข่แล้ว แม่ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย จะไม่อยู่เฝ้า แต่จะปล่อยไข่ไว้ให้ฟักเองตามธรรมชาติ และไข่จะฟักออกเป็นตัวหลังวางไข่แล้วประมาณ 60-70 วัน

ไข่ของตัวเงินตัวทอง/เหี้ย จะมีลักษณะยาวรีสีขาวคล้ายไข่เป็ด แต่จะมีขนาดใหญ่กว่าเล็กน้อย และเปลือกค่อนข้างบาง และอ่อนตัว

ข้อเสียตัวเงินตัวทอง/เหี้ย
1. ตัวเงินตัวทอง/เหี้ยมักแอบขโมยกินอาหารในบ้านเรือน และชอบคุ้ยเขี่ยข้าวของพังเสียหาย
2. ตัวเงินตัวทอง/เหี้ย มักเข้ากินเป็ด ไก่ หรือสัตว์เลี้ยงของมนุษย์ โดยเฉพาะการเลี้ยงสัตว์ปีกตามพื้นที่ริมน้ำ