จิ้งเหลน

22218
จิ้งเหลนบ้าน

จิ้งเหลน (Skink) ชื่อวิทยาศาสตร์ Scincidae จัดเป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีกระดูกสันหลัง พบได้ทั่วไปทั้งตามบ้านเรือน กองไม้ ต้นไม้ และตามป่าเขา ปัจจุบันมีประมาณ 116 สกุล และ 1,200 ชนิด มีบทบาทสำคัญในระบบนิเวศที่คอยควบคุมสัตว์ขนาดเล็กจำพวกแมง และแมลง สำหรับประเทศไทยยังไม่ปรากฏการนำมาประโยชน์ทางด้านอาหาร อาจเนื่องจาก เป็นสัตว์ที่พบตามบ้านเรือน โดยเฉพาะบริเวณอับชื้น ที่ล้างจาน และกองขยะ เป็นต้น ประกอบกับมีรูปร่าง และลวดลายลำตัวที่น่ารังเกียจจึงไม่นิยมนำมาประกอบอาหารเหมือนสัตว์ประเภทอื่น เช่น แย้ และกะปอม

อนุกรมวิธาน
1. ชั้น (class) : สัตว์เลื้อยคลาน (class Reptilia)
2. อันดับ (order) : กิ้งก่า และงู (order Squamata)
3. อันดับย่อย (suborder) : กิ้งก่า (suborder Lacertilia)
4. ตระกูล (infraorder) : จิ้งเหลน (infraorder Scincomorpha)
5. วงศ์ (family) : จิ้งเหลน (family Scincidae)

ลักษณะทั่วไป
จิ้งเหลน มีลักษณะรูปร่างคล้ายกิ้งก่า แต่แตกต่างกันที่ลักษณะของเกล็ด โดยจิ้่งเหลนจะมีเกล็ดเรียบ ลื่น และเป็นมัน เกล็ดเรียงซ้อนเหลื่อมกัน มีหลายสีแกมกันบนลำตัว ได้แก่ สีน้ำตาล สีขาว สีดำ และสีเหลือง ขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ เกล็ดแต่ละแผ่นมีกระดูกในชั้นหนัง ซึ่งมีเพียงจิ้งเหลนเท่านั้นเมื่อเทียบกับสัตว์เลื้อยคลานชนิดอื่นที่อยู่ในตะกูลเดียวกัน ลักษณะลำตัวค้อนข้างเรียวยาว บางชนิดมีหางยาวคล้ายงู มีเพดานปากแบบทุติยภูมิ (secondary palate) มี 4 ขา มีลักษณะสั้น แต่บางชนิดขาเรียวยาว หรือไม่มีขา ZPough และคณะ, 2004)(1)

จิ้งเหลนบ้าน

สายพันธุ์จิ้งเหลน
1. วงศ์ Acontinae
กะโหลกมีกระดูก frontal เป็นชิ้นคู่ กระดูก palateen ชิ้นซ้าย และชิ้นขวาที่เพดานปากไม่เชื่อมกัน ก้านกระดูก suplatemporal ไม่ขาดตอน ช่องเปิด postemporal เล็ก ความยาวประมาณ 11-55 เซนติเมตร ไม่มีรยางค์ขา เกล็ดปกคลุมลำตัวขนาดใหญ่ ออกลูกเป็นตัว อาศัยอยู่ในโพรงที่เป็นดินทราย พบในพื้นที่ที่มีลักษณะแล้ง และมีหญ้าขึ้นหนาแน่น มีวงศ์ย่อย 3 สกุล ได้แก่ Acontias, Acontophiops และ Typhlosaurus รวมเป็นประมาณ 17 ชนิด พบมากทางใต้ของทวีปแอฟริกา

2. วงศ์ Feyliniinae
กะโหลกมีกระดูก frontal เป็นชิ้นคู่ กระดูก palateen ชิ้นซ้าย และชิ้นขวาที่เพดานปากอยู่ชิดกันแต่ไม่เชื่อมต่อกัน ก้านกระดูก suplatemporal ขาดตอน ไม่มีช่องเปิด postemporal ความยาวประมาณ 6-30 เซนติเมตร ไม่มีรยางค์ขา หัวค่อนข้างยาว ปากกว้าง ออกลูกเป็นตัว อาศัยอยู่ในโพรงดิน จิ้งเหลนวงศ์นี้มีเพียงสกุลเดียว คือ Feylinia มีทั้งหมด 6 ชนิด พบได้บริเวณตอนกลาง และทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา

3. วงศ์ Lygosominae
กะโหลกมีกระดูก frontal เป็นชิ้นเดียว กระดูก palateen ชิ้นซ้าย และชิ้นขวาที่เพดานปากเชื่อมต่อกัน ก้านกระดูก suplatemporal ไม่ขาดตอน ช่องเปิด postemporal ใหญ่ ขนาดลำตัวเล็กที่สุดมีความยาวประมาณ 3-4 เซนติเมตร ส่วนชนิดที่ใหญ่ที่สุดมีความยาวประมาณ 35 เซนติเมตร จิ้งเหลนวงศ์ย่อยนี้มีความหลากชนิดมากที่สุดอยู่ในออสเตรเลีย ส่วนใหญ่มีรยางค์ขา แต่บางชนิดรยางค์ ขามีการลดรูป มีลำตัวป้อมหรือเรียวยาว บางชนิดออกลูกเป็นไข่ หรือออกลูกเป็นตัว พบอาศัยทั้งในโพรงดิน  พื้นดิน บนต้นไม้ พื้นที่ชุ่มน้ำ รวมถึงพื้นที่แห้งแล้งในทะเลทราย มีวงศ์ย่อย ประมาณ 82 สกุล ตัวอย่างเช่น Anomalopus, Bassiana, Eutropis, Caledoniscincus, Emoia, Sphenomorphus เป็นต้น รวมทั้งหมดแล้วประมาณ 760 ชนิด พบได้กระจายอยู่ทั่วโลก  รวมทั้งในประเทศไทยที่ำพบประมาณ 45 ชนิด เช่น จิ้งเหลนบ้าน (Eutropis multifasciata) จิ้งเหลนต้นไม้ (Dasia olivacea) จิ้งเหลนด้วงหางลาย (Isopachys gyldenstolpei) จิ้งเหลนห้วยไทย (Tropidophorus thai) จิ้งเหลนเรียวภาคกลาง (Lygosoma isodactyla) จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ (Sphenomorphus maculatus) เป็นต้น

4. วงศ์ Scincinae
กะโหลกมีกระดูก frontal เป็นชิ้นคู่ กระดูก palateen ชิ้นซ้าย และชิ้นขวาที่เพดานปากอยู่ห่างกัน ก้านกระดูก suplatemporal ไม่ขาดตอน ช่องเปิด postemporal ใหญ่ มีความยาวประมาณ 3-22 เซนติเมตร ส่วนใหญ่มีรยางค์ขา มีทั้งชนิดที่ออกลูกเป็นไข่ และออกลูกเป็นตัว ชอบอาศัยบนพื้นดินหรือในโพรงดิน มีวงศ์ย่อยประมาณ 30 สกุล เช่น Androngo, Barkudia, Macroscincus, Neoseps, Nessia เป็นต้น รวมชนิดทั้งหมดประมาณ 210 ชนิด พบได้ในทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปแอฟริกา และทางใต้ของทวีปเอเชีย รวมถึงประเทศไทยที่พบ 2 ชนิด ได้แก่ จิ้งเหลนด้วงปักธงชัย (Davewakeum miriamae) และจิ้งเหลนหางสีฟ้า (Eumeces quadrilineatus)

ที่มา : วีรยุทธ์, 2552.(2)

จิ้งเหลนสกุล Eutropis และ Mabuyas
ในอดีตจิ้งเหลนในสกุล Eutropis ถูกจัดรวมอยู่ในสกุล Mabuya ที่ประกอบไปด้วยจิ้งเหลนประมาณ 130 ชนิด มีการแพร่กระจายพันธุ์ตามเขตร้อนในทวีปเอเชีย แอฟริกา และอเมริกาใต้ แต่จากการศึกษา พบว่า จิ้งเหลนกลุ่ม Mabuyas ในเอเชียมีลำดับนิวคลีโอไทป์ที่แตกต่างจากกลุ่ม Mabuyas ในแอฟริกา และอเมริกาใต้อย่างชัดเจน และจิ้งเหลนกลุ่ม Mabuyas จากแอฟริกามีลำดับนิวคลีโอไทป์ที่แตกต่างไปจากกลุ่ม Mabuyas ในอเมริกาใต้

มีการศึกษาเปรียบเทียบดีเอ็นเอของจิ้งเหลนสกุล Mabuya ในแอฟริกา และอเมริกาใต้ พบว่า ลำดับนิวคลีโอไทป์ของจิ้งเหลนจากทั้ง 2 พื้นที่มีความแตกต่างกัน ทำให้สามารถแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มสกุล Mabuya จากทวีปแอฟริกา และทวีปอเมริกาใต้ ต่อมาได้จัดจำแนกจิ้งเหลนกลุ่ม Mabuyas ออกเป็น 4 สกุล ได้แก่
1. สกุล Mabuya พบแพร่กระจายในเขตร้อนของทวีปอเมริกาใต้
2. สกุล Eutropis พบแพร่กระจายในเขตร้อนของทวีปเอเชีย
3. สกุล Chioninia พบแพร่กระจายในหมู่เกาะเคปเวิร์ด (Cape Verde) นอกชายฝั่งทางตะวันตกของทวีปแอฟริกา
4. สกุล Trachylepis (Euprepis) พบแพร่กระจายในบางส่วนของเอเชียตะวันตก เขตร้อนของทวีปแอฟริกา เกาะมาดากัสการ์ และหมู่เกาะ Fernando de Noronha นอกชายฝั่งของอเมริกาใต้

จิ้งเหลนสกุล Eutropis และสกุล Sphenomorphus
จิ้งเหลนสกุล Eutropis และสกุล Sphenomorphus ถูกจัดอยู่ในวงศ์ย่อยเดียวกัน (วงศ์ย่อย Lygosominae) ทั้ง 2 สกุลมีความแตกต่างกันที่ลักษณะภายนอก ได้แก่
– จิ้งเหลนสกุล Eutropis ส่วนใหญ่จะมีความยาวลำตัวมากกว่าจิ้งเหลนสกุล Sphenomorphus
– จิ้งเหลนสกุล Eutropis มีรูปร่างบึกบึนกว่าจิ้งเหลนสกุล Sphenomorphus
– จิ้งเหลนสกุล Eutropis มีสีลำตัวความเข้มกว่าจิ้งเหลนสกุล Sphenomorphus และสีของเกล็ดบนแผ่นหลังกับสีของเกล็ดท้องไม่ตัดกันชัดเจน
– จิ้งเหลนสกุล Sphenomorphus ส่วนมากมีเกล็ดสีดำเป็นจุดๆ บนเกล็ดแผ่นหลัง
– จิ้งเหลนสกุล Eutropis พบอาศัยในภูมิประเทศที่หลากหลาย เช่น ป่าโปร่ง แหล่งเกษตรกรรม แหล่งที่อยู่อาศัยของมนุษย์ เป็นต้น ส่วนจิ้งเหลนสกุล Sphenomorphus พบอาศัยตามพื้นที่ชื้น ใกล้แหล่งน้ำ ตามกอหญ้าหรือร่มไม้ต่างๆ

ปัจจุบัน จิ้งเหลนสกุล Eutropis พบประมาณ 30 ชนิด พบในพื้นที่ต่างๆ ได้แก่ แถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ( จำนวน 14 ชนิด) ประเทศจีนบริเวณตอนใต้ และตะวันออกเฉียงใต้ ตอนเหนือของออสเตรเลีย และบริเวณอเมริกากลาง

จิ้งเหลนในประเทศไทย
จิ้งเหลนที่พบในประเทศไทยเป็นสกุล Eutropis มีจำนวน 5 ชนิด และสกุล Sphenomorphus จำนวน 11 ชนิด ซึ่งจะกล่าวถึง Eutropis 3 ชนิด และ Sphenomorphus  1 ชนิด ที่พบมาก ดังนี้
1. จิ้งเหลนหางยาว (long-tailed ground skink)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ E. longicaudata มีขนาดความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร ลำตัวเรียว หัวมีลักษณะยืดยาว มีเกล็ดใต้ตาขนาดเล็กจำนวนมาก เกล็ดส่วนหัวเรียบ มีเกล็ด supralabials 7 เกล็ด เกล็ดบนหลังมีสัน หางยาวมากกว่าลำตัวประมาณสองเท่า มีเกล็ด preanal ขนาดใหญ่ 1 เกล็ด รอบลำตัวมีเกล็ดประมาณ 28 แถว เกล็ดลำตัวบริเวณสีข้างตั้งแต่บริเวณหลังตาจนถึงโคนขาหลังมีสีดำ เกล็ดลำตัวด้านหลังมีสีน้ำตาล ลำตัวมีสีน้ำตาล เกล็ดด้านส่วนหัวด้านล่างมีสีเหลือง เกล็ดด้านท้องมีสีเหลืองหรือเหลืองอมเขียว อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง รวมถึงแหล่งชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ การสืบพันธุ์โดยการออกลูกเป็นไข่ มีเขตแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม และตอนใต้ของประเทศจีน ในประเทศไทยพบได้เกือบทั่วทุกภาค โดยเฉพาะทางภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

จิ้งเหลนหางยาว
จิ้งเหลนหางยาว

2. จิ้งเหลนหลากลาย (little ground skink)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ คือ E. macularia มีความยาวประมาณ 7-8 เซนติเมตร ลำตัวเรียว ส่วนหัวมีลักษณะเล็ก และสั้น มีเกล็ดใต้ตาขนาดเล็กจำนวนมาก เกล็ดหัวเรียบ เกล็ดแผ่นหลังมีสัน 5-9 สัน รอบลำตัวมีเกล็ดประมาณ 28-34 แถว เกล็ดลำตัวมีสีเทา เกล็ดด้านท้องสีขาวครีม เกล็ดใต้คางและสีข้างมีสีแดง อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า รวมถึงแหล่งชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ โดยชอบอาศัยตามบริเวณที่มีกองใบไม้ การสืบพันธุ์โดยการออกลูกเป็นไข่ มีเขตแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม ในบางส่วนของประเทศศรีลังกา ปากีสถาน อินเดีย เนปาล บังกลาเทศ และภูฐาน ในประเทศไทยพบได้เกือบทั่วทุกภาค

จิ้งเหลนหลากลาย
จิ้งเหลนหลากลาย

3. จิ้งเหลนบ้าน (common sun skink)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ E. multifasciata มีความยาวประมาณ 14 เซนติเมตร มีรูปร่างบึกบึน ปลายจมูกสั้น เกล็ดแผ่นหลังมีสัน 3 สัน รอบลำตัวมีแถวเกล็ดประมาณ 29-35 แถว เกล็ดด้านหลังมีสีเทา เกล็ดสีข้างลำตัวมีลักษณะเป็นแถบสีเหลืองหรือแดง และมีจุดขาวหรือริ้วสีขาวกระจายทั่วแถบของสีข้างลำตัวด้วย อาศัยอยู่ตามป่าโปร่ง รวมถึงแหล่งชุมชนที่มีมนุษย์อาศัยอยู่ โดยชอบอาศัยตามบริเวณที่มีกองใบไม้ ออกหากินตอนกลางวันโดยกินแมลงเป็นอาหาร ออกลูกเป็นตัวโดยตัวอ่อนกินอาหารจากไข่แดง มีเขตแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศไทย เมียนมาร์ ลาว กัมพูชา เวียดนาม มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซียในบริเวณเกาะสุมาตรา เกาะบอร์เนียว เกาะชวา เกาะสุลาเวสี และเกาะบาหลี นอกจากนั้น ยังพบกระจายพันธุ์ในบริเวณบางส่วนทางตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย มณฑลยูนนานของจีน นิวกินี ทางตอนเหนือของออสเตรเลีย

จิ้งเหลนบ้าน
จิ้งเหลนบ้าน

4. จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ (spotted forest skink)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ S. maculatus มีความยาวประมาณ 6-7 เซนติเมตร ลำตัวผอมเรียว หัวกับลำตัวปรากฏต่างกันชัดเจน จมูกสั้น tympanum ปรากฏชัดเจน เกล็ดหลังเรียบไม่มีสัน รอบลำตัวมีแถวเกล็ดประมาณ 38-42 แถว เกล็ดลำตัวมีสีน้ำตาลหรือน้ำตาลอ่อน บนเกล็ดหลังลำตัวจะมีจุดสีดำ 2 แถว เรียงไม่เป็นระเบียบจากส่วนหน้าไปถึงส่วนท้ายลำตัว เกล็ดด้านสีข้างลำตัวมีสีดำทำให้มองเห็นลักษณะเป็นแถบสีดำทอดยาวจากส่วนหน้าไปถึงส่วนท้าย เกล็ดท้องมีสีครีม ในฤดูสืบพันธุ์เกล็ดท้องจะมีสีเข้มขึ้นเป็นสีเหลืองครีม กินแมลงขนาดเล็กเป็นอาหาร ออกลูกเป็นไข่ครั้งละ 4-5 ฟอง มีเขตแพร่กระจายพันธุ์ในประเทศเมียนมาร์ ไทย ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทางตะวันออกของอินเดีย และทางตอนใต้ของจีน

จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ
จิ้งเหลนภูเขาเกล็ดเรียบ

ที่มา : อิสสระ ปะทะวัง, 2555.(3)

เอกสารอ้างอิง
9