จระเข้ (Crocodile)

33123

จระเข้ (Crocodile) จัดเป็นสัตว์เศรษฐกิจครึ่งน้ำครึ่งบกชนิดหนึ่งที่มีมูลค่าต่อตัวสูง เนื่องจาก อวัยวะสามารถนำมาจำหน่าย และใช้ประโยชน์ได้ทุกส่วน โดยเฉพาะหนัง เนื้อ และเลือดที่มีราคาสูงมาก

ปัจจุบัน จระเข้ที่มีการเลี้ยงเพื่อการค้าในไทยส่วนมากจะเป็นจระเข้น้ำจืดเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากสามารถเพาะพันธุ์ง่าย และเลี้ยงง่ายในแหล่งน้ำจืดทั่วประเทศ มีความต้านทานโรคสูง และผลิตภัณฑ์มีคุณภาพ

อนุกรมวิธานจระเข้
1. Kingdom : Animalia
2. Subkingdom : Metazoa
3. Phylum : Chordata
4. Subphylum : Vertebrata
5. Class : Reptilia
6. Subclass : Archosauria
7. Family : Crocodylidae
8. Subfamily : Alligatorinae
– Genus : Alligator
– Genus : Caiman
– Genus : Melanosuchus
– Genus : Paleosuchus
8. Subfamily : Crocodylinae
– Genus : Crocodylus
– Genus : Osteolaemus
8. Subfamily : Tomistominae
– Genus : Tomistoma
8. Subfamily : Gavialinae
– Genus : Gavialis

สถานะ
จระเข้ เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายพระราชบัญญัติสงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535 ประกอบด้วยจระเข้น้ำจืดไทย จระเข้น้ำเค็ม และตะโขง ที่ห้ามล่า ห้ามครอบครอง ห้ามเพาะพันธุ์ ห้ามนำเข้า และส่งออก แต่เป็นสัตว์ในรายชื่อสัตว์ป่าที่สามารถเพาะเลี้ยงในเชิงพาณิชย์ได้ (เฉพาะจระเข้น้ำจืดไทย และจระเข้น้ำเค็ม) ตามมาตรา 17 และ18 ของกฎหมายดังกล่าว

ลักษณะทั่วไป
1. ผิวหนัง และลำตัว
จระเข้เป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังในกลุ่มสัตว์เลื้อยคลานเลือดเย็น ลำตัวมีขนาดปานกลางถึงขนาดใหญ่มาก นํ้าหนักประมาณ 60-90 กรัม ความยาวลำตัวประมาณ 25-30 เซนติเมตร มีผิวหนังที่แข็งแรงคล้ายเกราะหุ้ม ผิวหนังส่วนหัวเชื่อมติดกับกะโหลก ส่วนท้ายทอยมีปุ่มเกล็ดแข็งที่ใช้จำแนกชนิดจระเข้ได้ (จำนวน และการเรียงตัว) ผิวหนังส่วนหลังเป็นเกล็ดหนารูปสี่เหลี่ยม บางเกล็ดมีกระดูกแข็งใต้เกล็ด เกล็ดท้องมีขนาดเล็กกว่าเกล็ดหลัง และส่วนมากไม่มีกระดูกใ่ต้เกล็ด ส่วนหลังมีสันเกล็ด ยาวตลอดแนวลำตัวจนถึงเกล็ดที่ 10 ของเกล็ดหาง หลังจากนั้นจะเป็นเกล็ดเดี่ยวเรียงต่อกันจนถึงปลายหาง

crocodile0

2. ปาก และภายในปาก
ปากจระเข้มีลักษณะยาว ปลายปากเชิดงอนขึ้น สามารถอ้าปากได้กว้างมาก เนื่องจากมีพังผืดที่สามารถยืดหดได้กว้าง ขากรรไกรหรือกรามมีความแข็งแรง แรงในการงับประมาณ 545 กิโลกรัม (1,200 ปอนด์/1 ตารางนิ้ว)

ฟันมีลักษณะเป็นกรวยอยู่บนขากรรไกรบน และขากรรไกรล่าง แบ่งออกเป็น 2 ชุด คือ ชุดฟันขนาดใหญ่ และชุดฟันขนาดเล็ก แต่ฟันไม่สามารถเคี้ยวอาหารได้ ใช้เพียงงับอาหารเท่านั้น

ลิ้นจระเข้มีลักษณะหนา และกว้างมาก มีสีครีมอมชมพู อยู่บริเวณพื้นของขากรรไกรล่าง เคลื่อนขึ้นลงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อป้องกันนํ้าไหลเข้าสู่ลำคอในขณะอ้าปาก

3. จมูก
จมูกจระเข้มีลักษณะยาวตามความยาวของปาก ใช้สำหรับหายใจ และดมกลิ่น มีรูจมูก 2 รู ปิดเปิดได้ ป้องกันไม่ให้นํ้าเข้าจมูก ขณะลอยน้ำ รูจมูกจะโผล่พ้นน้ำ

4. ตา
ตาจระเข้อยู่ในตำแหน่งที่สูงกว่าหน้า แต่อยู่ในระดับเดียวกันกับจมูก เมื่อจระเข้ลอยน้ำ ส่วนจมูกและตาจะโผล่เหนือนํ้า ลูกตาในเวลากลางวันมีสีดำ จะเหลืองในเวลากลางคืน มีหนังตา และเยื่อบางคอยปิดเปิดลูกตา ทำให้สามารถลืมตาในนํ้าได้ดี

5. หู
หูจระเข้มี 2 ข้าง อยู่บริเวณส่วนหลังของตา แต่ละข้างจะมีเนื้อเยื่อบางๆ กั้นควบคุมการเปิดปิดรูหู

5. หาง
หางจระเข้มีลักษณะคล้ายใบพาย ยาว และแบนในแนวตั้ง มีเกล็ด 2 แถว เรียงจากลำตัวบริเวณขาหลังจนถึงกลางหาง จากนั้น จะเป็นเกล็ดแถวเดียวตลอดหาง ซึ่งหางจระเข้มีกล้ามเนื้อที่พลังมากใช้ในการว่ายนํ้าหรือโบกสะบัดไปมา ใช้กวาดใบไม้ใบหญ้ามาทำ รังวางไข่ และใช้เป็นอาวุธฟาดคู่ต่อสู้

6. ขา
ขาทั้ง 4 ข้าง ขนาดเล็ก ไม่สมดุลกับลำตัว ขามีเกล็ดขนาดเล็กๆ นิ้วมีพังผืด และมีเล็บยาวแข็งแรง ขาหน้ามีนิ้วเท้าข้างละ 5 นิ้ว ระหว่างนิ้วไม่มีพังผืดยึด ขาหลัง 2 ขา มีนิ้วเท้าข้างละ 4 นิ้ว ระหว่างนิ้วมีพังผืดยึด มีกำลังมากกว่าขาหน้า ใช้ยันตัว การเดินหรือการปีนป่ายที่สูง

7. อวัยวะภายใน และระบบย่อยอาหาร
จระเข้ เป็นสัตว์เลื้อยคลานที่มีหัวใจครบทั้ง 4 ห้อง และมีกระบังลมกั้นระหว่างทรวงอกกับท้องเหมือนกับสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ซึ่งแตกต่างจากสัตว์เลื้อยคลานพวกอื่นๆ ที่มีหัวใจเพียง 3 ห้อง  หัวใจจระเข้สามารถแยกเลือดดี และเลือดเสียออกจากกันได้ดี ไม่มีกระเพาะปัสสาวะ มีอาหารหลักคือเนื้อ การกินจะไม่เคี้ยว แต่จะกัดฉีกเหยื่อเป็นชิ้นๆ แล้วกลืนลงลำคอ มีระบบการย่อยอาหารที่สามารถย่อยกระดูกสัตว์ต่างๆได้

ที่มา : ผ่องพรรณ และแจ่มจันทร์, 2533.(1) , รณฤทธิ์, 2533.(2)

การดำรงชีพ และการสืบพันธุ์
รัง และการหาอาหาร
จระเข้จะทำรังในช่วงวางไข่เท่านั้น ตามบริเวณโพรงไม้หรือกอหญ้ารกข้างแม่น้ำหรือแหล่งน้ำ ด้วยการกวาดหรือพับต้นไม้มากองรวมกันเป็นกองสูง ส่วนในระยะที่ไม่มีการวางไข่ ทั้งตัวผู้ตัวเมียจะอาศัยอยู่ทั่วไปตามบริเวณที่มีต้นไม้หรือหญ้ารกสำหรับหลบซ่อนตัว

อาหารของจระเข้จะเป็นสัตว์ทุกชนิดที่หาได้ อาทิ ปลา นก หนู รวมถึงสัตว์ใหญ่ชนิดต่างๆ

การผสมพันธุ์ และออกลูก
ในฤดูผสมพันธุ์ จระเข้หลั่งสารที่ขับกลิ่นจากต่อมกลิ่นบริเวณโคนกรามล่าง และทวารหนัก กลิ่นนี้จะติดตามแหล่งที่อยู่ และบริเวณหาอาหารใกล้เคียงเพื่อเรียกคู่ของตนมาผสมพันธุ์กัน มีฤดูกาลผสมพันธุ์ในช่วงเดือนธันวาคม-พฤษภาคม โดยจระเข้น้ำจืดตัวเมียที่เข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้จะมีอายุประมาณตั้งแต่ 10 ปี ขึ้นไป ส่วนจระเข้น้ำเค็มตัวเมียจะมีอายุประมาณ 12-15 ปี ขึ้นไป และจะวางไข่ได้จนถึงอายุ 25 ปี ส่วนตัวผู้จะเริ่มเข้าสู่วัยผสมพันธุ์ได้ประมาณอายุ 12 ปี ขึ้นไป อัตราส่วนตัวผู้ต่อตัวเมีย 1:1 เมื่อผสมพันธุ์เสร็จจะเริ่มวางไข่หลังจากนั้นประมาณ 1 เดือน

ก่อนระยะวางไข่ 2-5 วัน แม่จระเข้จะหาแหล่งวางไข่ และสร้างรังสำหรับวางไข่ ซึ่งจะใช้ใบไม้หรือกอหญ้าปกทับไข่ไว้ ไข่มีสีครีม อัตราออกไข่ของจระเข้น้ำจืดเฉลี่ยที่ 20-40 ฟอง ขนาดไข่ประมาณ 73 x 48 มิลลิเมตร หนักประมาณ 110 กรัม ระยะไข่ฟักที่ 68-72 วันหลังวางไข่ ส่วนจระเข้น้ำเค็มเฉลี่ยที่ 30-50 ฟอง ขนาดไข่ประมาณ 79 x 50 มิลลิเมตร หนักประมาณ 120 กรัม ระยะไข่ฟักที่ 78-85 วันหลังวางไข่ เมื่อฝังออกจากไข่ ตัวอ่อนมีรูปร่างเหมือนตัวเต็มวัยทุกประการ แต่มีขนาดเล็กกว่า และสีคลํ้ากว่า สามารถเดิน และว่ายน้ำเองได้ทันทีหลังฟักออก (ผ่องพรรณ และแจ่มจันทร์, 2533)(1)

Mortlet's crocodiles hatch

จระเข้ที่พบในประเทศไทยมี 3 ชนิด
1. จระเข้น้ำจืดไทย (Freshwater หรือ Siamese Crocodile)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Crocodylus siamensis Schneider พบมากที่สุดในประเทศไทย

จระเข้น้ำจืด
จระเข้น้ำจืด

2. จระเข้น้ำเค็มหรือจระเข้ปากแม่น้ำ (Saltwater หรือ Estaurine Crocodile)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ ว่า Crocodylus porosus Schneider พบตามแหล่งน้ำเค็มและน้ำกร่อย

Saltwater
จระเข้น้ำเค็ม

Crocodile

3. ตะโขง, จระเข้ปากกระทุงเหว (False Ghavial หรือ Malayan Gharial)
มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Tomistoma schlegelii พบเฉพาะในจังหวัดภาคใต้

ประโยชน์จากจระเข้
1. หนัง
หนังจระเข้ที่มีการจำหน่ายจะประกอบด้วยหนังแผ่นหลัง และหนังแผ่นท้อง โดยหนังแผ่นท้องจะมีราคาแพงกว่าหนังส่วนหลัง เนื่องจากมีสีสันสวยงามมากกว่า

2. เนื้อ
เนื้อจระเข้ที่ซื้อขายประกอบด้วยเนื้อสด และเนื้อแห้ง นิยมนำมาปรกอบอาหารรับประทาน โดยเฉพาะชาวจีนที่มีความเชื่อว่า เนื้อจระัเข้มีสรรพคุณรักษาโรคได้หลายชนิด ส่วนในประเทศไทยนิยมเนื้อสดมากกว่าเนื้อแห้ง เนื่องจากสามารถนำมาประกอบอาหารเป็นเมนูต่างๆได้ดีกว่าเนื้อแห้ง เช่น ผัด ตุ๋น ทอด ซึ่งเนื้อจระเข้จะให้รสชาดคล้ายเนื้อหมู และเนื้อไก่ มีไขมันต่ำอีกด้วย ราคาเนื้อจระเข้จะมีราคาเกือบเท่าหนังจระเข้

3. กระดูก และฟัน
ส่วนที่เหลือจากการชำเหละ ได้แก่ ฟัน และกระดูก จะใช้เป็นส่วนผสมของยากวาดคอในเด็กอ่อน และใช้ทำเครื่องประดับ

4. นิ้วมือ และนิ้วเท้า
นิ้วมือ และนิ้วเท้าที่เหลือสามารถนำมาทำเป็นพวงกุญแจ หรือเครื่องประดับได้

5. ไขมัน
ส่วนของไขมันที่แยกออกจากเนื้อ สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน เช่น ใช้เป็นน้ำมันถูนวด ใช้แก้รอยฟกช้ำ ทารักษาแผลน้ำร้อนลวก ไฟลวก ใช้เป็นส่วนผสมของน้ำมัน ครีมบำรุงผิว และครีมกันแดด เป็นต้น

6. เครื่องใน
เครื่องในสามารถนำมาขาย ใช้เป็นส่วนผสมของยาแผนโบราณรักษาโรคต่างๆ

7. เลือด
เลือดจระเข้ ปัจจุบันถือเป็นที่ต้องการมาก เนื่องจากเชื่อว่ามีสรรพคุณทางยาที่มากกว่าส่วนอื่นๆที่ได้จากจระเข้ นิยมนำมาแปรรูปเป็นเลือดแห้ง ใช้ป็นส่วนผสมในตำรับยาสมุนไพร และผลิตภัณฑ์อาหารเสริม ทำให้เป็นที่ต้องการของตลาดมากในปัจจุบัน

สรรพคุณเลือดจระเข้ (จินดาวรรณ สิรันทวิเนติ, 2551.(3)
1. สามารถช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่ผู้ป่วยโรคเอดส์ได้
2. สามารถช่วยลดปริมาณน้าตาลในเลือดได้
3. ช่วยรักษาอาการแผลพุพองหรือแผลฉีกขาดได้ ช่วยให้แผลสมานได้เร็ว
4. ช่วยให้ระบบไหลเวียนโลหิตดีขึ้น
5. ช่วยควบคุมโรคมะเร็งไม่ให้ลุกลามได้ และอื่นๆอีกมากมาย

องค์ประกอบ ปริมาณในผงเลือดแห้ง ร่างกายต้องการในแต่ละวัน *
โปรตีน 83.1% 1 กรัม/น้ำหนักตัว 1กก.
เหล็ก 164 มิลลิกรัม/100กรัม ชาย 10.4 มิลลิกรัมหญิง 24.7 มิลลิกรัม
แคลเซียม 90 มิลลิกรัม/100กรัม ไม่เกิน 2,500 มิลลิกรัม
แมกนีเซียม 22.5 มิลลิกรัม/100กรัม 240-320 มิลลิกรัม
ฟอสฟอรัส 547 มิลลิกรัม/100กรัม 700 มิลลิกรัม
โซเดียม 1,458 มิลลิกรัม/100กรัม ชาย 500-1,475 มิลลิกรัมหญิง 400-1,200 มิลลิกรัม
วิตามิน เอ 10.61 ไมโครกรัม/100กรัม 700 ไมโครกรัม
วิตามิน บี 1 0.17 มิลลิกรัม/100กรัม 0.9 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 2 0.23 มิลลิกรัม/100กรัม 1.3 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 6 0.22 มิลลิกรัม/100กรัม 1.3 มิลลิกรัม
วิตามิน บี 12 0.20 มิลลิกรัม/100กรัม 2.4 ไมโครกรัม

ที่มา: กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข (2550)(4)

การเลี้ยงจระเข้ในไทย
การเพาะเลี้ยงจระเข้ในประเทศไทย เริ่มครั้งแรก เมื่อปี พ.ศ. 2489 โดย นายอุทัย ยังประภากร เจ้าของฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์สมุทรปราการ

ตัวอย่างฟาร์มจรเข้ในประเทศไทย
1. ฟาร์มจระเข้ และสวนสัตว์สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ
2. ฟาร์มจระเข้สวนสามพราน จังหวัดนครปฐม
3. ฟาร์มจระเข้วัดสิงห์ จังหวัดชัยนาท
4. ฟาร์มจระเข้ศรีราชา จังหวัดชลบุรี
5. ฟาร์มจระเข้และสวนสัตว์ชลบุรีรีสอร์ท จังหวัดชลบุรี
6. ฟาร์มจระเข้พัทยา จังหวัดชลบุรี
7. ฟาร์มจระเข้อาร์ฟาร์ม จังหวัดราชบุรี
8. ฟาร์มจระเข้กัมปนาท จังหวัดสมุทรสาคร
9. ฟาร์มจระเข้ประสิทธิ์ ฟาร์ม จังหวัดสระบุรี
10. ฟาร์มจระเข้อุทัยรัตน์ จังหวัดอุทัยธานี
11. ฟาร์มจระเข้วาบิน จังหวัดสมุทรปราการ
12. สวนเสือศรีราชา จังหวัดชลบุรี
13. ฟาร์มจระเข้อัมพร จังหวัดสระบุรี
14. ฟาร์มจระเข้ทองจังหวัดนครปฐม
15. อุทัยธานีฟาร์ม จังหวัดอุทัยธานี

เอกสารอ้างอิง
1. ผ่องพรรณ หลาวทอง และแจ่มจันทร์ พิริยะพงศ์. 2533. จระเข้.
2. รณฤทธิ์ ไชยณรงค์. 2533. จระเข้.
3. จินดาวรรณ สิรันทวิเนติ. 2551. แผนธุรกิจ. มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.
4. กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข. 2550. ปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจาวัน สาหรับคนไทย.