คางคก และพิษคางคก

32149

คางคก (Toad) เป็นสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ ที่พบได้ทั่วไปในทุกแห่ง ทั้งบริเวณชุมชน ตามป่า ตามไร่นา เป็นสัตว์ที่ไม่นิยมนำมารับประทาน เนื่องจากมีรูปร่างน่าเกลียดจากผิวหนังที่เป็นตะปุ่มตะป่ำ และยังมีพิษที่ทำให้เสียชีวิตได้

ลักษณะทั่วไป
คางคกที่เราพบเห็น เรียกว่า คางคกบ้าน (Common asian toad) ตัวผู้มีขนาดเล็กกว่าตัวเมียเกือบเท่าตัว ลักษณะทั่วไปจะมีส่วนหัวป้าน โครงหน้าเป็นเหลี่ยม มีปากกว้างครอบคลุมส่วนหัวเกือบทั้งหมด มีลิ้นเรียวสั้น สามารถยืดหด และยื่นยาวได้สำหรับใช้จับกินเหยื่อ มีตากลมใหญ่ หนังตามี 3 ชั้น คือ
– หนังตาบน มีลักษณะเป็นหนังหนา เคลื่อนที่ไหวไม่ได้
– หนังตาล่าง มีลักษณะเป็นหนังบางๆ ทำหน้าที่เปิดปิดตา
– หนังตาชั้นในสุด มีลักษณะเป็นเยื่อบางๆ ทำหน้าที่ปิดตาเวลาดำน้ำ และปิดตาเวลาหลับ

หนังลำตัวด้านบนมีสีน้ำตาลหรือสีเหลืองจนถึงดำ ด้านท้องมีสีขาวหรือสีเหลือง มีจุดสีดำประปราย หลังมีลักษณะแบน และเป็นเหลี่ยมหักลงด้านข้างลำตัว บริเวณไหล่ทั้ง 2 ข้าง ถัดจากหางตาเหนือขาหน้ามีลักษณะนูนขึ้นเล็กน้อย ซึ่งเป็นที่อยู่ของต่อมพิษ หรือ ต่อมพาโรติด (parotid gland) หนังบนหลัง และทุกส่วนมีลักษณะเป็นตุ่มเล็กๆขึ้นเต็มทั่วผิวหนัง ขามีสี 4 ขา มี 4 นิ้ว ปลายนิ้วมีเล็บ แต่ไม่แหลมคมเหมือนเล็บกบ

Toad

การดำรงชีพ
การจับคู่ และการวางไข่
การวางไข่จะมีฤดูวางไข่ในช่วงต้นฤดูฝนคล้ายกับสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำชนิดอื่น เช่น กบ เขียด เป็นต้น โดยจะออกมารวมตัวกันในวันฝนตกบริเวณแอ่งน้ำใหม่ และร้องหาคู่ผสมพันธุ์

เมื่อจับคู่ และผสมพันธุ์แล้ว แม่คางคกจะวางไข่ในน้ำ ไข่มีลักษณะเป็นฟองสีดำ ขนาดประมาณ 2 มิลลิเมตร บรรจุอยู่ในท่อเมือกใสที่ยึดติดเป็นเส้นยาวลอยเหนือน้ำ ยาวได้มากกว่า 2 เมตร ซึ่งแตกต่างจากไข่กบที่มีลักษณะเป็นแผ่นเมือกใสเกาะติดกันเป็นแผ่น เมือกใสของไข่คางคกนี้จะแตกออกทำให้ไข่จมลงสู่ก้นท้องน้ำ

Toad1

ไข่จะฟักออกมาเป็นตัวอ่อน มีลักษณะเหมือนลูกอ๊อดกบ แต่จะมีสีดำทั้งตัว ซึ่งต่างจากลูกอ๊อดกบที่มีท้องสีขาวลำตัวด้านบนสีเทาม่น และลูกอ๊อดเขียดที่มีน้ำตาล และมีลาย

toad2

อาหารคางคก
คางคกชอบหลบอาศัยในเวลากลางวัน บริเวณที่มืด และเย็น และจะออกหากินในเวลากลางคืน อาหารของคางคกที่สำคัญ ได้แก่
• แมง และแมลงมีปีก ได้แก่ แมลงเม่า ผีเสื้อ แมลงปอ จิ้งหรีด จิ้งโกร่ง จีซอน เป็นต้น
• แมง และแมลงไม่มีปีก ได้แก่ กิ้งกือ ตะขาบ เป็นต้น
• สัตว์เลื้อยคลานขนาดเล็ก ได้แก่ ลูกงู
• สัตว์ในดิน ได้แก่ ไส้เดือนฝอย ไส้เดือนดิน เป็นต้น

คางคกเป็นสัตว์ที่มองเห็นได้ดีในเวลากลางคืน และจะมองเห็นได้ไม่ไกลในเวลากลางวัน และมีแสงแดดจ้า

พิษจากคางคก
ต่อพิษหรือต่อมพาโรติด (parotid gland) เป็นต่อมที่สร้างสารพิษที่มีลักษณะเป็นน้ำสีขาว คล้ายน้ำนม มีสารพิษหลัก คือ Cardiac glycosides เมื่อคางคกถูกรบกวน ถูกจับ หรือถูกสัตว์อื่นคาบกัด คางคกจะปล่อยสารพิษออกจากต่อมพิษกระจายไปตามเส้นต่อมพิษออกสู่บริเวณผิวหนังด้านบน

พิษนี้มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท และระบบการหายใจ หากเข้าสู่ร่างกายด้วยการกลืนกินจะทำให้เสียชีวิตได้ หากสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้เกิดการระคายเคือง แสบร้อน หากสัมผัสกับตาอาจทำให้ตาปอดได้

คนไทยในบางท้องถิ่นมีการนำคางคกมาบริโภค หากไม่มีการนำต่อมพิษ และเนื้อเยื่อบริเวณด้านหลังออกแล้วจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับพิษ และเสียชีวตได้ง่าย

ประโยชน์จากคางคก
• เนื้อคางคกใช้ปรุงเป็นอาหารได้ แต่ต้องเอาต่อมพิษ และเส้นนำพิษออกก่อน
• ยางพิษจากต่อมพิษใช้ทารักษาแผลอักเสบ แผลเป็นหนอง แผลติดเชื้อ
• ยางพิษใช้เป็นยาชา ยาระงับอาการปวด
• ใช้รักษาโรคเกี่ยวกับระบบหัวใจล้มเหลว
• ใช้เป็นยาต้าน และรักษาเซลล์มะเร็ง
• บางตำราใช้เป็นยากระตุ้นสมรรถภาพทางเพศ
• หนังคางคกใช้ทำกระเป๋า และเครื่องหนังชนิดต่างๆ