ควายป่า

7125

ควายป่า หรือ มหิงสา (ฺีBubalus arnee) จัดเป็นสัตว์ป่าสงวนที่ใกล้สูญพันธุ์ชนิดหนึ่งของไทย ปัจจุบันพบเพียงแห่งเดียว คือ เขตอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้งเท่านั้น ลักษณะทั่วไปจะเหมือนควายบ้าน แตกต่างกันที่นิสัย และความดุร้ายเท่านั้น

ควายป่า มีชื่อวิทยาศาสตร์ Bubalus arnee หรือมักเรียกทั่วไปว่า Asian หรือ Asiatic Water Buffalo เพราะมีนิสัยที่ชอบน้ำมาก ลักษณะทั่วไปจะคล้ายควายบ้าน เพราะควายบ้าน (ฺีBubalus bubalis) หรือที่เรียกให้สุภาพว่า “กระบือ” ก็คือควายป่าที่ถูกนำมาเลี้ยงนั่นเอง ทำให้มีนิสัยที่เชื่องกว่าควายป่า ปัจจุบันชนิดควายป่าที่พบในโลกมี 3 ชนิด คือ
1. B. a. arnee พบในประเทศอินเดีย และเนปาล
2. B. a. fulvus พบในประเทศอินเดีย บริเวณรัฐอัสสัม
3. B. a. treerapati พบได้ในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศไทย

ส่วนควายที่อยู่ในป่า ที่เรียกว่า ควายปละหรือควายเพริด ไม่จัดเป็นควายป่า เนื่องจากเป็นควายที่หลุดจากควายบ้านเข้าป่าเป็นเวลานาน และเปลี่ยนร่างกายมีขนาดใหญ่ขึ้น นิสัยตื่นตัว ดุร้าย และปราดเปรียวขึ้น เหมือนควายป่า

สำหรับควายบ้าน เนื่องจากถูกนำมาเลี้ยงจากควายป่าตั้งแต่สมัยหลายพันปีแล้ว ทำให้รุ่นลูกหลานมีลักษณะนิสัยที่เชื่องมากเหมือนทุกวันนี้ แบ่งได้ 2 สายพันธุ์ คือ
1. ควายแม่น้ำ (Riverine Buffalo) หรือมักเรียกว่า ควายแขก พบเลี้ยงมากในประเทศอินเดีย ปากีสถาน และบังคลาเทศ มีลำตัวขนาดใหญ่ ชอบนอนแช่น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง นิยมเลี้ยงเพื่อให้เนื้อเป็นหลัก

2. ควายปัก (Swamp Buffalo) เป็นควายบ้านที่พบเลี้ยงในแถบประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศจีนตอนใต้ รวมถึงประเทศไทย มีลำตัวขนาดใหญ่ มีนิสัยชอบนอนแช่ปักโคลน ในอดีตนิยมเลี้ยงเพื่อใช้แรงงานไถไร่นา และให้เนื้อเป็นหลัก แต่ปัจจุบันมีจำนวนลดลงมากทำให้มีการเลี้ยงเพื่อการอนุรักษ์ และให้เนื้อในบางพื้นที่เท่านั้น

ลักษณะทั่วไป
ควายป่า เป็นสัตว์ที่มีเท้าเป็นกีบคู่ เหมือนกับกระทิง วัวแดง และโค เป็นสัตว์เคี้ยวเอื้องที่กินหญ้าเป็นอาหารหลัก มีขนตามลำตัวเป็นสีเทาหรือสีน้ำตาลดำ ฟันกรามบนเป็นฟันตัดสำหรับกัดกินพืช มีความสูงลำตัวประมาณ 1.5-2 เมตร ยาวประมาณ 2.5-3 เมตร มีน้ำหนักตัวได้ถึง 900-1200 กิโลกรัม

Bubalus arnee1

ตัวผู้ และตัวเมียมีเขาบนศรีษะ ด้านซ้าย-ขวา เขาตัวเมียใหญ่ยาวกว่าตัวผู้ ไม่แตกกิ่ง เขามีขนาดใหญ่ มีวงโค้งกว้างเป็นรูปพระจันทร์เสี้ยว ไม่มีการพลัดเขาใหม่เหมือนเขากวาง เขามีสีดำ ผิวเขาเป็นคลื่นตัดในแนวขวาง ปลายเขาเรียวแหลม เนื้อเขาแข็ง เชื่อมติดกับกะโหลกบนศรีษะด้านบน โคนเขากว้างประมาณ 20 ซม. ความยาวเขา 150-180 ซม.

ลักษณะชีวิต
1. แหล่งที่อยู่อาศัย
แหล่งอาศัยควายป่าที่พบในประเทศไทย ปัจจุบันพบเพียงแห่งเดียวเท่านั้น คือ บริเวณทางตอนใต้ของลำห้วยขาแข้ง ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง ตั้งแต่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าเขาบันไดจนถึงบริเวณสบห้วยไอเย๊าะ ซึ่งรายงานล่าสุดพบเพียง 40 ตัวเท่านั้น

ควายป่าไม่ชอบอยู่ป่าเขาสูง เนื่องจากเขาที่ยาวใหญ่ทำให้เกะกะเวลาเดินผ่านป่า จึงมักพบแหล่งอาศัย และหากินบริเวณป่าโปร่งที่ลุ่มใกล้กับแม่น้ำหรือลำห้วยที่มีลานหญ้าหรือเนินหญ้า รองลงมาจะเป็นป่าเบญจพรรณที่มีป่าไผ่ โดยจะออกกินหญ้าในเวลาเช้า-เย็น คล้ายกับควายบ้านทั่วไป และเข้านอนใต้ร่มไม้ในเวลากลางคืน

Wild water buffalo bull

อาหารหลักของควายป่าจะเป็นหญ้า ใบไม้ และหน่อไม้ รวมถึงผลไม้ป่าชนิดต่างๆ เมื่อกินอาหารอิ่มแล้วมักจะเข้านอนเคี้ยวเอื้องตามร่มไม้หรือพุ่มไม้สูง และบางครั้งจะพบนอนแช่ปักโคลนเพื่อให้โคลนติดลำตัวสำหรับป้องกันแสงแดด และให้ร่างกายมีความเย็น

2. การผสมพันธุ์
ควายป่าจะมีสายตาไม่ดีเหมือนกับควายบ้านทั่วไป แต่จะมีประสาทสัมผัสของจมูก และหูที่ไวกว่า มีนิสัยดุร้าย ไม่เกรงกลัวคน ชอบอยู่รวมกันเป็นฝูงใหญ่ ส่วนตัวผู้ที่โตเต็มวัยมักจะอยู่เพียงลำพัง แต่จะกลับเข้าฝูงเมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ในช่วงปลายฝนถึงฤดูหนาว (ตุลาคม-พฤศจิกายน)

การผสมพันธุ์จะเกิดการแย่งชิงกันของผู้นำ หากมีตัวผู้ที่มีขนาดใหญ่ตั้งแต่ 2 ตัวขึ้น ตัวที่ชนะจะเป็นผู้นำฝูง และเป็นตัวผสมพันธุ์ในฝูง ส่วนตัวที่แพ้จะหลบหนีห่างจากฝูงหรือไปหาฝูงตัวเมียใหม่

ตัวเมียที่ถึงวัยเจริญพันธุ์จะมีอายุประมาณ 16-18 เดือน ส่วนตัวผู้จะพร้อมผสมพันธุ์เมื่ออายุประมาณ 20-30 เดือน ตัวเมียที่ได้รับการผสมพันธุ์จะตั้งท้องประมาณ 10 เดือน และออกลูกครั้งละ 1 ตัว ในช่วงกลาง-ปลายฤดูฝนของปีถัดไป ตัวเมียที่คลอดลูกแล้วหลัง 40 วัน จึงจะสามารถผสมพันธุ์ใหม่ได้ อายุขัยความป่าประมาณ 20-25 ปี หรืออาจมากกว่าเล็กน้อย

สถานะภาพ
จัดเป็นสัตว์ป่าอนุรักษ์ที่ห้ามจับ ห้ามเลี้ยง ตาม พรบ. สงวน และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 และเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามอนุสัญญา CITES ในบัญชีืั้ที่ 3

ที่มา : สัตว์ป่าสงวนในประเทศไทย, 2552. กรมอุทยานสัตว์ป่าและพันธุ์พืช.