ครั่ง และการเลี้ยงครั่ง

16081

ครั่ง (Lac) เป็นยางที่ขับออกมาจากแมลงครั่งที่เกาะอาศัยตามกิ่งของต้นไม้บางชนิด โดยแมลงครั่งจะดูดน้ำเลี้ยงจากิ่งเป็นไม้เป็นอาหาร และปล่อยยางเหนียวสีแดงออกมาเกาะตัวแข็งหุ้มกิ่งไม้ไว้

คุณสมบัติของครั่ง
ครั่งเป็นสารชนิด complex resin หรือ thermoplastic resen ในอุณหภูมิห้อง มีลักษณะเป็นของแข็ง เปราะหักง่าย เมื่อได้รับความร้อนถึง 50 °C จะอ่อนตัว และเมื่อได้รับอุณหภูมิถึง 80 °C  และมากกว่าจะกลายเป็นของเหลว มีลักษณะเหนียวเหมือนตังเม

ครั่งมีคุณสมบัติไม่ละลายในน้ำหรือแอลกอฮอล์ แต่ละลายได้ในตัวทำละลายอีเทอร์หรือตัวทำละลายที่เป็นด่าง

แมลงครั่ง
แมลงครั่ง Laccifer lacca, Kerr. Syn. Tachardia lacca. Kerria lacca. อยู่ในวงศ์ Lacciferidae จัดเป็นแมลงเบียนของต้นไม้ที่ชอบอาศัยดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณเยื่อเปลือกเป็นอาหาร โดยใช้ปากดูดที่มีลักษณะเป็นงวงดูดกินน้ำเลี้ยง และขับยางเหนียวสีเหลืองทองออกมาเคลือบตามกิ่งไม้ และหุ้มตัวเองสำหรับป้องกันอันตรายจากแมลงศัตรูต่างๆ รวมถึงใช้รักษาอุณหภูมิ และป้องกันอันตรายจากแรงลม และแสงแดด ซึ่งยางนี้เมื่อสัมผัสกับอากาศจะแข็งจับตัวกันเป็นก้อน

lac2

ขอบคุณภาพจาก : www.kanchanapisek.or.th

รังของครั่งตัวผู้จะแตกต่างจากรังครั่งตัวเมียในระยะแรก คือ รังครั่งตัวผู้จะมีลักษณะทรงรี คล้ายซิก้าร์ ส่วนรังครั่งตัวเมียจะมีลักษณะไม่แน่นอน โดยลักษณะการขยายตัวของรังครั่งทั้ง 2 เพศ จะขยายตัวเพิ่มขึ้นจากด้านในออกมาด้านนอก

ครั่งที่มีขนาดพอเก็บแล้ว และครั่งที่เก็บได้ส่วนมากจะเป็นครั่งที่ได้จากการปล่อยครั่งจากแมลงครั่งตัวเมีย เนื่องจาก ครั่งตัวผู้จะปล่อยยางครั่งออกมาในช่วงระยะ 2 เดือนแรกเท่านั้น และจะตายไปเมื่อผสมพันธุ์กับครั่งตัวเมียแล้ว จึงทำให้ครั่งที่เหลือส่วนใหญ่จนถึงระยะเก็บเกี่ยวจะเป็นครั่งตัวเมียเป็นส่วนใหญ่

ครั่งดิบ (sticklac) เป็นครั่งหลังการเก็บจากกิ่งไม้ มีลักษณะเป็นแท่งทรงกลมยาวหรือปริแตก ภายนอกมีสีขาวเทา ภายในมีช่องว่างคล้ายรังผึ้งที่ประกอบด้วยน้ำยางสีแดงสด น้ำสีแดงนี้ละลายได้ดีในน้ำ และพบไข่ แมลงครั่ง ส่วนที่เป็นของแข็งจะเป็นยางครั่งที่แข็งตัวเกาะกันแน่นเป็นก้อนแข็ง ยางครั่งนี้ เป็นผลิตภัณฑ์สำคัญที่สุดสำหรับนำมาแปรรูปเพื่อใช้ประโยชน์ในรูปของเซลแลค โดยการทำให้ครั่งบริสุทธิ์มากที่สุด

Lac

ครั่งเม็ด (Seedlac) เป็นครั่งที่อยู่ในลักษณะเป็นเม็ด โดยการนำครั่งดิบมาทุบ และบดให้แตกเป็นเม็ดขนาดเล็ก แล้วแยกสิ่งเจือปนจำพวกกิ่งไม้ ดิน แมลงครั่ง ไขครั่ง และอื่นๆออกด้วยการร่อนผ่านตะแกรงขนาดเล็กให้เหลือเฉพาะเม็ดครั่ง หลังจากนั้นนำเม็ดครั่งที่แยกได้มาละลายน้ำเพื่อกำจัดน้ำสีแดงออก แล้วนำไปตากแดด และบรรจุรอจำหน่าย ซึ่งจะได้ครั่งเม็ดที่ยังเหลือสิ่งเจือปนประมาณ 3-8% ครั่งเม็ดนี้เป็นผลิตภัณฑ์ครั่งที่ส่งออกมากที่สุด รองมาจะเป็นครั่งดิบ เซลแลค และครั่งแผ่น

เซลแลค (Shellac) เป็นผลิตภัณฑ์ได้จาการนำครั่งเม็ดมาทำให้บริสุทธิ์มากขึ้น ด้วยการนำครั่งเม็ดใส่ในถุงผ้าเนื้อละเอียด มีลักษณะเป็นถุงยาวประมาณ 30 ฟุต เส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2 นิ้ว เรียงใส่จนเต็มถุง หลังจากนั้น ทำการพรมน้ำให้ชุ่ม และนำไปลนไฟจนครั่งละลาย แล้วปิดเป็นเกลียวให้น้ำครั่งไหลออกมารวมกันในภาชนะรองรับ ซึ่งจะน้ำครั่งในรูปของสารละลาย หรือเรียกว่า เซลแลค (Shellac) และเมื่อปล่อยให้เย็นในภาชนะ เซลแลคจะแข็งตัวเป็นแผ่นตามความหนาที่ต้องการตามขนาดภาชนะ ซึ่งจะได้เป็นครั่งแผ่น

ครั่งแผ่น (Button lac) เป็นผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการปล่อยให้เซลแลคเย็นตัวลงจนจับกันเป็นแผ่น

ที่มา : อาทร ตัณฑวุฑโฒ (2506)(1)

ประโยชน์จากครั่ง
ยางครั่งที่ผลิตจากแมลงครั่งถูกนำมาใช้ประโยชน์ตั้งแต่สมัยโบราณหลายพันปี แล้ว โดยมีประเทศจีน และอินเดียเป็นประเทศเริ่มแรกที่รู้จักนำครั่งมาใช้ประโยชน์ จนถึงปัจจุบันมีการนำครั่งมาใช้ประโยชน์ในหลายด้านด้วยกัน ซึ่งจะใช้ประโยชน์ได้ด้วยการทำให้เป็นของเหลวหรือแชลแลคเสียก่อน ได้แก่
• ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรค อาทิ ใช้รักษาโรคโลหิตจาง
• ใช้เป็นสารสีย้อมผ้า ย้อมเส้นใยไหม และย้อมหนังสัตว์
• ใช้เป็นสีทาตกแต่งเครื่องเรือน
• ใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาขัดพื้น
• ใช้เป็นส่วนผสมเครื่องสำอางเพื่อให้เกิดสีแดง
• ใช้ทำสีน้ำมัน
• ใช้ผลิตแผ่นเสียง
• ใช้ผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และฉนวนกันความร้อน
• ใช้เป็นส่วนผสมน้ำยาเคลือบกระจก
• ใช้เคลือบผิวขนมประเภทลูกอม ลูกวาด
• ใช้ในกระบวนการผลิตกระดาษอัดรูป
• ใช้ทำหมึกพิมพ์ หมึกประทับตรา
• ใช้ทำหินวิทยาศาสตร์
• ใช้ทำเครื่องประดับ

การเลี้ยงครั่ง
พันธุ์ไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่ง
ครั่งสามารถเจริญเติบโตได้ด้วยการอาศัย และดูดกินน้ำเลี้ยงจากกิ่งไม้ ซึ่งพบครั่งสามารถเติบโตได้ดีในชนิดไม้ที่มีทรงพุ่มโปร่ง มีลมผ่านได้สะดวก และมีแสงส่องรำไร โดยสำนักส่งเสริมการปลูกป่า กรมป่าไม้ ได้จำแนกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมในการเลี้ยงครั่งไว้ ดังนี้
1. ไม้ที่ใช้เลี้ยงได้ผลดี
• จามจุรี (ก้ามปู ฉำฉา สำสา สะแข)
• พุทธา (มะดัน มั่งถั่ง)
• สะแกนา (ขอนแข้ ซังแก จองแค)
• มะแฮะนก (ขมิ้นนา ขมิ้นลิง ขมิ้นพระ)
• สีเสียออสเตรเลีย

2. ไม้ที่ใช้เลี้ยงได้ผลปานกลาง
• ไฮมี่ (กร่างใบขน)
• มะเดื่ออุทมพร (มะเดื่อเกลี้ยง มะเดื่อน้ำ)

3. ไม้ที่ใช้เลี้ยงได้ผลพอใช้
• รัง (จักป้าว เรียง)
• เปล้า
• พะยอม (คะยอม ยาง ยางหยวก)
• กระถินณรงค์
• เลียงผึ้ง (สะเหลี่ยม แหลง)
• คาง (จามรีดง จามรีป่า)
• ถั่วแระ (มะแฮะ ถั่วแม่ตาย ถั่วแรด)

การตัดแต่งกิ่ง
โดยทั่วไปการตัดแต่งกิ่งจะตัดในช่วงฤดูแล้งจนถึงก่อนเข้าหน้าฝน ที่เป็นช่วงไม้ผลัดใบใหม่ เพื่อเตรียมเลี้ยงครั่งในช่วงเดียวกันกับเดือนที่ตัดเป็นต้นไป ซึ่งกิ่งควรมีอายุประมาณ 8 เดือน ถึง 2ปี ขึ้นกับการเติบโตของกิ่ง และขนาด
– กิ่งที่ตัดต้องเป็นกิ่งขนาดตั้งแต่ 0.5 นิ้ว ถึง 2 นิ้ว
– กิ่งขนาดตั้งแต่ 2 นิ้ว ขึ้นไป ไม่ควรตัด
– ตัดกิ่งไล่จากโคนกิ่งใหญ่จนถึงปลายกิ่ง
– กิ่งที่แก่มาก หรือมีลักษณะใกล้แห้งตายให้ตัดออกให้หมด
– การตัดต้องตัดให้ชิดโคนกิ่งใหญ่

การปล่อยครั่ง
ต้นไม้ที่ใช้เลี้ยงครั่งจะต้องมีกิ่งปานกลางถึงมาก ลักษณะกิ่งอวบใหญ่ ไม่มีอายุกิ่งมาก ควรเป็นกิ่งที่มีอายุประมาณ 8 เดือน ถึง 2 ปี หลังจากการแตกกิ่งใหม่ หากปล่อยบนกิ่งที่แก่มากจะทำให้ครั่งจับกับกิ่งได้ไม่ดี

การปล่อยครั่งจะปล่อยในช่วงต้นฤดูประมาณเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บครั่งในเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของปีถัดไป ซึ่งจะมีอายุประมาณ 1ปี ครึ่ง

ส่วนการปล่อยครั่งในช่วงฤดูแล้งสามารถทำได้เช่นกัน โดยจะปล่อยในช่วงเดือนพฤศจิกายนหลังการเก็บเกี่ยวข้าว และจะเก็บครั่งในช่วงเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม ของปีถัดไป ซึ่งจะมีอายุประมาณ 1 ปี

อุปกรณ์การปล่อย และวิธีการปล่อยครั่ง
– มัดฟางข้าว ที่ทำได้จากนำฟางข้าวมามัดรวมกันให้มีขนาดเท่าข้อมือหรือขนาดที่กำได้ โดยมัดด้วยตอกบริเวณปลายด้านปลายฟางก่อน หลังจากนั้น จับแยกออกเป็น 2 กำ และมัดด้วยตอกบริเวณปลายทั้ง 2 อัน
– นำครั่งมาตัดเป็นท่อนขนาดยาวประมาณ 5-7 นิ้ว แล้วนำไปยัดใส่ด้านในบริเวณตรงกลางของมัดฟางทั้ง 2 แท่ง
– ตรวจสอบการห่อหุ้มของฟางข้าว ระวังอย่าให้ฟางห่อท่อนครั่งหลอมจนอาจทำให้ท่อนครั่งหลุดร่วงออกมาด้านนอกได้ หรือระวังอย่างให้หุ้มรัดแน่นมาก
– นำไม้ไผ่ที่ตัดปลายปลายยอด และกิ่งที่เป็นแง่ง คล้องตรงกลางบริเวณมุมฟาง แล้วนำขึ้นวางห้อยบนกิ่งต้นไม้
– หากต้นไม้มีความสูงมากทำให้ไม้ไผ่สูงไม่พอก็จะใช้วิธีปีนขึ้นลำต้น แล้วนำมัดฟางวางเรียงบนกิ่ง และใช้ไม้ไสวางเรียงไปทีละมัด
– ระยะความยาวของครั่ง 30 ซม. หากเติบโตสมบูรณ์จะขยายได้เป็น 12-20 ฟุต ดังนั้น ระยะการวางตามความยาวของกิ่งควรอยู่ในช่วง 2.5-4 เมตร ต่อฟางข้าว 1 อัน (2 แง่ง) ก็น่าจะเหมาะสม ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับอายุที่ต้องการเก็บ
– ก้อนครั่งที่แตกเป็นเศษเล็กให้นำใส่ผ้าเขียวห่อเป็นมัดเล็กๆหรือนำใส่ตะกร้านำไปแขวน

การดูแล และข้อระวัง
หลังจากการปล่อยครั่งแล้ว 3-5 วัน จะสามารถพบเห็นแมลงครั่งบนกิ่งไ้ม้แล้ว และเมื่อถึง 2 สัปดาห์ ให้ตรวจดูว่ากิ่งที่ปล่อยมีครั่งมาเกาะมากแล้ว ก็สามารถย้ายมัดฟางครั่งไปแขวนอีกกิ่งที่ยังไม่ติดได้
– มัดฟางครั่งที่แขวนไว้นานมากกว่า 3 สัปดาห์ ให้เก็บลงได้ ซึ่งมัดฟางครั่งอาจยังมีครั่งบางส่วนเหลืออยู่สามารถนำไปขายได้ หรือเก็บสะสมไว้ขายเป็นครั่งรวมกับครั่งที่จะเก็บ
– ห้ามสุมไฟใต้ต้นไม้เลี้ยงครั่ง เพราะจะทำให้ครั่งตายจากความร้อน และควันไฟได้
– ห้ามฉีดพ่นสารกำจัดแมลงศัตรูพืชทุกชนิดบนต้นไม้เี้ลี้ยงครั่ง และบริเวณใกล้เคียงที่อยู่เหนือทิศทางลม

ที่มา : เพิ่มเติมจาก ศรนารายณ์, 2553(2)

Lac1

เอกสารอ้างอิง
1. อาทร ตัณฑวุฑโฒ, 2506. การเพาะเลี้ยงครั่ง. กรมป่าไม้.
2. ศรนารายณ์ วรพจน์, 2553. การวิเคราะห์ผลตอบแทนจากากรเพาะเลี้ยงครั่ง.