กุ้งมังกร และการเลี้ยงกุ้งมังกร

28106

กุ้งมังกร (Spiny Lobster) เป็นกุ้งทะเลขนาดใหญ่ที่นิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะเมนูอาหารในภัตตาคารต่างๆ ทำให้เป็นกุ้งที่มีราคาสูงมาก จนเป็นกุ้งชนิดหนึ่งที่ทำรายได้อย่างงามให้แก่ชาวประมงในภาคใต้

กุ้งมังกร เป็นกุ้งทะเลที่พบในแถบทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตก และฝั่งตะวันออก รวมถึงฝั่งทะเลในแถบภาคตะวันออก แต่จะพบมากในทะเลภาคใต้ฝั่งตะวันตกของทะเลอันดามัน ในแถบจังหวัดระนองจนถึงสตูล ซึ่งคนในบางพื้นที่จะเรียกว่า กุ้งหัวโขน เพราะส่วนหัวมีลวดลายสวยงาม

อนุกรมวิธาน
Phylum : Arthopoda
Class : Crustacea
Subclass : Malacostraca
Order : Decapoda
Infraorder : Palinura
Superfamily : Palinuroidea
Family : Palinuridae
Genus : Panulirus

ลักษณะทั่วไปของกุ้งมังกร
กุ้งมังกรมีลำตัวกลมค่อนข้างแบน ส่วนหัวไม่มีกรีหรือบางชนิดมีกรีลดรูปขนาดเล็ก มีคาราเปซเป็นรูปครึ่งทรงกระบอก มีขอบข้างลำตัวโค้งมนหรือเป็นเหลี่ยมตามความยาวของลำตัว คาราเปซมีหนามปกคลุม โดยด้านหน้าของคาราเปซบริเวณเหนือตาทั้งสองข้างมีหนามขนาดใหญ่ 1 คู่ หนวดมี 2 คู่ มีลักษณะคล้ายแส้ หนวดคู่ที่ 1 มีปลายหนวดแยกออกเป็น 2 แฉก ส่วนหนวดคู่ที่ 2 มีความยาวมากกว่าคู่แรก ใหญ่ และแข็งแรง ถูกใช้สำหรับป้องกันตัวเอง และต่อสู้กับศัตรู และมีอวัยวะที่ทำให้เกิดเสียงได้ อวัยวะนี้มีรูปร่างคล้ายคันชัก ทำหน้าที่สร้างเสียงเพื่อหลอกล่อ และขู่ศัตรู

กุ้งมังกร

ขอบคุณภาพจาก www.aqua.c1ub.net

ขาเดินของกุ้งมังกรมีทั้งหมด 5 คู่ ปลายขาเดินมีลักษณะเรียวแหลม มีขนปกคลุมที่ปลายขา ขาเดินทั้งหมด นอกจากจะทำหน้าที่เดินแล้วยังใช้สำหรับการต่อสู้ด้วย สำหรับกุ้งมังกรตัวเมียจะมีขาเดินคู่ที่ 5 จะพัฒนาเป็นขาหนีบเล็กๆ สำหรับคีบไข่ออกจากหน้าท้อง โดยกุ้งมังกรเพศผู้จะมีอวัยวะสืบพันธุ์บริเวณโคนขาเดินคู่ที่ 5 มีลักษณะเป็นปุ่ม และมีช่องเปิดสำหรับปล่อยน้ำเชื้อ ส่วนกุ้งมังกรตัวเมียจะมีช่องปล่อยไข่บริเวณโคนขาคู่ที่ 3 และตัวผู้มีรยางค์แบบแผ่นเดียว ส่วนตัวเมียมีระยางค์แยกเป็น 2 แผ่น โดยปล้องสุดท้ายของกุ้งมังกรจะเป็นแพนหาง

กุ้งมังกรที่มีจำหน่ายในแถบจังหวัดชายฝั่งของไทยมีประมาณ 6 ชนิด ได้แก่
1. กุ้งมังกรเจ็ดสี (P. ornatus)
2. กุ้งมังกรเลน (P. polyphagus)
3. กุ้งมังกรเขียว (P. versicolor)
4. กุ้งมังกรแดง (P. longipes)
5. กุ้งมังกรกาบ (P. homalus)
6. กุ้งมังกรคิงคอง (P. pincillatus)

ชีววิทยากุ้งมังกร
กุ้งมังกรเลน เป็นกุ้งมังกรชนิดที่ชอบอาศัยบริเวณโคลนใกล้ชายหาด และปากแม่น้ำ ส่วนกุ้งมังกรอีก 5 ชนิด ที่เหลือจะชอบอาศัยในระดับความลึกลงมา และชอบอาศัยตามแหล่งน้ำทะเลที่ค่อนข้างใส ตามซอกหิน ซอกปะการัง โดยกุ้งมังกรจะออกหาอาหารเฉพาะในเวลากลางคืน ส่วนเวลากลางวันจะกลับเข้าไปหลบตามซอกต่างๆ โดยใช้วิธีการถอยหลังเข้าโพรง และขณะหลบอาศัย กุ้งมังกรจะส่ายหนวดอยู่ตลอดเวลาเพื่อจับสัญญาณสำหรับการระวังภัย ส่วนการหาอาหารปกติจะใช้ขาเดินทั้ง 5 คู่ ช่วยในการเดิน แต่หากมีศัตรู และต้องการเคลื่อนที่แบบรวดเร็ว กุ้งมังกรจะว่ายน้ำไปทางด้านหลัง ด้วยการงอตัว และสะบัดหาง

การกินอาหารของกุ้งมังกรนั้น จะออกหาอาหารเฉพาะเวลากลางคืน ด้วยการใช้ขาเดินตามพื้นหน้าดินทราย และบริเวณรอบๆที่หลบอาศัย โดยมีอาหารที่สำคัญ ได้แก่ หอยขนาดเล็กต่างๆ แม่เพรียง เม่นทะเล และซากพืชซากสัตว์ เป็นต้น โดยการกินอาหารจะใช้ขาเดินเข้าช่วยหยิบจับ เมื่ออาหารเข้าสู่ปาก เดินทางสู่กระเพาะแล้ว อาหารจะถูกฟันบดที่อยู่ในกระเพาะช่วยบดตัดให้เล็กมากขึ้น เมื่อเติบโตจะมีการลอกคราบเป็นระยะๆ

การผสมพันธุ์ของกุ้งมังกรจะเริ่มจากตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกจากปุ่มบริเวณโคนขาคู่ที่ 5 เข้าไปเกาะที่หน้าท้องของตัวเมียในช่วงโคนขาคู่ที่ 3-5 แล้วน้ำเชื้อจะแข็งตัว หลังจากนั้น ตัวเมียจะค่อยๆปล่อยไข่ออกมาผสม พร้อมใช้ปลายขาคู่ที่ 5 เกลี่ยไข่ให้ผสมกับน้ำเชื้อ หลังจากนั้น ไข่ที่ผสมแล้วจะไปพักไว้ในระยางค์หน้าท้องเพื่อรอการฟัก โดยไข่จะฟักเป็นตัวอ่อนได้จะใช้เวลาประมาณ 20 วัน

กุ้งมังกร เป็นกุ้งที่เติบโตช้า โดยต้องใช้เวลากว่าจะโตเต็มวัยประมาณ 5-7 ปี แต่สามารถวางไข่ได้ตลอดทั้งปี ไข่มีลักษณะทรงกลม สีเหลือง ขนาดประมาณ 0.5 มม. ตัวเมียแต่ละตัวสามารถวางไข่ได้ 140,000-500,000 ฟอง/ตัว ขึ้นอยู่กับชนิด และขนาดลำตัว

ประโยชน์กุ้งมังกร
1. กุ้งมังกรเป็นกุ้งที่มีขนาดใหญ่ มีเนื้อมาก เนื้อเหนียว นุ่ม ให้รสหวานอร่อย จึงนิยมนำมาประกอบอาหาร โดยเฉพาะอาหารตามภัตตาคารต่างๆ
2. กุ้งมังกรบางชนิดมีลวดลายสวยงามจึงนิยมนำมาเลี้ยงในตู้ปลาเป็นกุ้งสวยงาม
3. เปลือกกุ้ง โดยเฉพาะส่วนหัว นิยมนำมาทำเป็นเครื่องประดับ เครื่องตกแต่ง
4. เปลือกกุ้ง นำมาผลิตเป็นไคติน และไคโตซานที่ถูกนำไปใช้ประโยชน์มากในอุตสาหกรรมอาหาร อุตสาหกรรมเกษตร และการบำบัดมลพิษน้ำเสีย

กุ้งมังกรเผา

ขอบคุณภาพจาก www.wongnai.com

การเลี้ยงกุ้งมังกร
กุ้งมังกร เป็นกุ้งที่เลี้ยงตั้งแต่วัยอ่อนได้ยาก เนื่องจากมีระยะตัวอ่อนที่เติบโตช้า ต้องใช้เวลานาน แต่ก็มีต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการเพาะเลี้ยงได้แล้ว เช่น ประเทศญี่ปุ่น และประเทศในแถบแอฟริกา ส่วนประเทศไทย ส่วนมากยังนิยมจับลูกกุ้งมังกรตามธรรมชาติมาเลี้ยงอนุบาลต่อ ทั้งการเพาะเลี้ยงกุ้งมังกรในกระชัง และในบ่อซีเมนต์ ซึ่งอาจเลี้ยงเดี่ยวหรือเลี้ยงคู่กับปลาหรือหอยชนิดอื่นๆ โดยกุ้งมังกรที่มีการเลี้ยงมาก คือ กุ้งมังกร 7 สี เนื่องจากสามารถหาลูกกุ้งมาได้ง่าย อัตราการรอดสูง และเติบโตเร็ว หลังการเลี้ยง มีราคาจำหน่ายที่มากกว่า 1,000 บาท/กิโลกรัม

กุ้งมังกรเจ็ดสี
กุ้งมังกรเจ็ดสี

การอนุบาลกุ้งมังกรจากธรรมชาตินั้น เกษตรกรจะนำลูกกุ้งมังกรมาพักอนุบาลในกระชังตาถี่ที่แขวนในทะเลก่อน โดยให้อาหารจำพวกเนื้อหอยสับ ให้วันละ 1 มื้อ โดยเลี้ยงอนุบาลประมาณ 2 เดือน ก่อนนำไปเลี้ยงในกระชังหรือบ่อซีเมนต์ต่อ

การเลี้ยงในกระชัง เกษตรกรจะเลี้ยงในระดับน้ำทะเลที่มีความเค็มประมาณ 30-35 ppm และไม่ควรมีค่าต่ำกว่า 25 ppm ขนาดกระชัง 2.5×2.5 เมตร ระดับน้ำลึก 2 เมตร ด้านบนปิดด้วยตาข่าย อัตราการปล่อยเลี้ยงในกระชังจะประมาณ 50 ตัว/กระชัง มีอาหารที่ใช้เลี้ยงเป็นปลาสับ เช่น ปลาเป็ด ซึ่งจะให้วันละ 2 ครั้ง เมื่อเลี้ยงผ่านไป 8-10 เดือน จะได้กุ้งมังกรขนาด 0.8-1 กิโลกรัม/ตัว

การเลี้ยงกุ้งมังกร

การเลี้ยงกุ้งมังกรในบ่อซีเมนต์ เกษตรกรจะใช้บ่อซีเมนต์กลมที่มีจำหน่ายตามร้านขายวัสดุก่อสร้าง ใส่น้ำทะเล และควบคุมความเค็ม 29-31 ppm อุณหภูมิในช่วง 29-34 องศา ให้ระดับน้ำสูงประมาณ 35-40 ซม. พร้อมใส่ท่อ PVC ขนาดประมาณ 2.5-4 นิ้ว สำหรับให้กุ้งหลบอาศัย พร้อมเติมอากาศ และต่อท่อให้น้ำทะเลหมุนเวียนได้ อัตราการปล่อย 4 ตัว/บ่อ ส่วนการให้อาหารจะให้เหมือนกับการเลี้ยงในกระชัง